‘ธปท.’ เผยอยู่ระหว่างร่วมมือ ‘แบงก์พาณิชย์’ พัฒนา ‘transition plan’ สำหรับภาคธุรกิจ อย่างน้อย 1 sector ภายในสิ้นปี 67 ขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก
....................................
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Financial Dynamic for Sustainability ภายในงาน Sustainability Forum 2024 ว่า ตอนหนึ่งว่า ภาคเศรษฐกิจและสถาบันการเงินไทย มีความจำเป็นต้องปรับตัวทั้งเพื่อเปลี่ยนผ่าน (transition) ไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (environmental sustainability) ทั้งในแง่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ (mitigation) และปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ (adaptation)
ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในการขับเคลื่อนเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนตั้งแต่ COP26 ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ.2593 และตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2608 เพื่อกระตุ้นให้ประเทศขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
“ในการจะนำพาประเทศให้เติบโตโดยคำนึงถึงมิติสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศนี้ ภาคการเงินจะต้องมีบทบาทเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้สามารถปรับตัวได้ทันการณ์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับภาคการเงิน รวมทั้งยังมีความไม่แน่นอนในหลายด้าน ทำให้การสนับสนุนหรือการจัดสรรเงินทุนยังเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่และตรงจุด” นายรณดล กล่าว
นายรณดล กล่าวต่อว่า หลักการที่สำคัญในการปรับตัวบนบริบทของประเทศไทยคือ การคำนึงถึงจังหวะเวลา และความเร็ว ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งต้องสร้างสมดุลระหว่างการเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน และการป้องกันผลข้างเคียงเชิงลบ ที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่างๆ โดยการดำเนินการจะต้อง “ไม่ช้าเกินไป” จนเกิดผลกระทบจนไม่สามารถแก้ไขได้ และ “ไม่เร็วเกินไป” จนระบบเศรษฐกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ทั้งนี้ เพื่อให้การปรับตัวเป็นไปอย่างเหมาะสม ภาคสถาบันการเงินต้องสามารถประเมินปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งมิติความเสี่ยงและโอกาส และผนวกไว้ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยในปีนี้ ธปท. ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ช่วยยกระดับการคำนึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน แล้ว 2 เรื่อง
เรื่องที่ 1 คือ การจัดทำหลักปฏิบัติที่ดีหรือมาตรฐานการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน (Standard Practice) โดยออกแนวนโยบาย เรื่อง การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้สถาบันการเงิน ผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่
1) การกำหนดโครงสร้างความรับผิดชอบให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูง ดำเนินการผลักดันในองค์กร 2) การกำหนดกลยุทธ์ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาสด้านสิ่งแวดล้อม 3) การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม แบบต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตลอดจน 4) การเปิดเผยข้อมูล ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทยได้จัดทำคู่มือปฏิบัติ (Industry Handbook) ที่พัฒนามาช่วยให้ธนาคารพาณิชย์อ้างอิงตัวอย่างแนวทางที่สากลแนะนำและปฏิบัติใช้ รวมทั้งยังระบุกระบวนการที่สำคัญที่สถาบันการเงินควรรีบดำเนินการ โดย ธปท. จะสนับสนุนและติดตามให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานการดำเนินการที่เหมาะสมตามระดับความเสี่ยง
เรื่องที่ 2 คือการจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ Taxonomy ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการกำหนดนิยามความเป็นสีเขียวของทุกภาคส่วนให้เข้าใจและยอมรับตรงกัน เพื่อลดปัญหา Greenwashing โดย ธปท. ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy เพื่อผลักดันให้มีมาตรฐานกลางที่เหมาะสมกับบริบทของไทย และสอดคล้องกับหลักสากล และได้เผยแพร่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ครอบคลุมภาคพลังงานและภาคชนส่ง แล้วเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2566
โดยตัวชี้วัดของกิจกรรมกลุ่มสีเขียว สอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส (Paris Agreement) ให้เพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และตัวชี้วัดของกิจกรรมกลุ่มสีเหลืองสอดคล้องตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของไทย
สำหรับ Taxonomy ในระยะถัดไปนั้น ธปท. จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร และภาคการก่อสร้าง
นายรณดล ระบุว่า แผนงานที่ ธปท. กำลังให้ความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน คือ การช่วยให้สถาบันการเงินในไทยสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้สามารถปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านอย่างเห็นผลได้จริง โดยปัจจุบัน ธปท. ได้กำหนดความคาดหวังว่าต้องการเห็นธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เริ่มกำหนดแผนและเป้าหมายการช่วยภาคธุรกิจปรับตัวให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนัยสำคัญต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดหวังผลลัพธ์ 2 เรื่องในปี 2567
ผลลัพธ์ที่ 1 คือการที่สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงความต้องการและเพียงพอสำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการปรับตัว (Transition finance product)
สำหรับนิยามของ Transition Finance Product ว่า คืออะไรนั้น ในแวดวงสากล มักจะหมายถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินซึ่งช่วยสนับสนุนธุรกิจในการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
โดยมีตัวชี้วัด และมีการติดตามที่ชัดเจน เช่น สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-linked loan) หรือสินเชื่อสีเขียว (Green loan) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคาดหวังว่าสถาบันการเงินจะออกผลิตภัณฑ์สนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวอย่างจับต้องได้ โดยเริ่มจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
ผลลัพธ์ที่ 2 คือ การที่สถาบันการเงินเริ่มมีแผนการปรับตัว (Transition plan) ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และนำไปปฏิบัติได้จริง
ทั้งนี้ Transition Plan เป็นกลไกสำคัญสำหรับทั้งภาคธุรกิจและภาคการเงิน แม้ปัจจุบันจะยังมีคำนิยามที่หลากหลาย แต่มักจะหมายถึงแผนของภาคธุรกิจที่ระบุเป้าหมาย แนวทางดำเนินการ และกรอบเวลา ในการปรับธุรกิจของตนเอง เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก
สำหรับภาคการเงิน การกำหนด Transition plan ของสถาบันการเงินในระดับสากล ส่วนใหญ่แล้วหมายถึงแผนการลดก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากธุรกิจการเงินของตนเอง หรือก็คือ Scope 3 emission โดย ธปท. อยู่ระหว่างร่วมกันกับธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อให้ธนาคารแต่ละแห่งพัฒนา transition plan สำหรับภาคธุรกิจที่เป็น priority sector ของตนเองอย่างน้อย 1 sector ภายในสิ้นปี 2567
อย่างไรก็ตาม การกำหนด Transition Plan ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งการร่วมกันพัฒนา Industry Handbook และการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้จากต่างประเทศ ช่วยให้ธนาคารมีแนวปฏิบัติและแหล่งข้อมูลสำหรับอ้างอิง ในการพัฒนา transition plan ของตนเองได้ต่อไป
นายรณดล กล่าวว่า อาจมีคำถามว่า ทิศทางแห่งการปรับตัวของทั้งภาคการเงิน และภาคเศรษฐกิจจริงนี้ ความท้าทายที่สำคัญคือ ประเด็นด้าน “ข้อมูล” และ “ความร่วมมือระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง”
สำหรับประเด็นเรื่องข้อมูล การมีข้อมูลที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้บริโภค และลดความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่อาจเกิดจาก Greenwashing อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับกลุ่มสถาบันการเงินในประเทศไทยยังทำได้ยาก เนื่องจากยังมีความกระจัดกระจายและมีต้นทุนการเก็บข้อมูลสูง ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญในการพัฒนา Transition plan และผลิตภัณฑ์
ปัจจุบัน ธปท. กำลังประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาแนวทางสนับสนุนให้ภาคการเงินสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจและ SMEs ที่เป็นระบบและน่าเชื่อถือ
“สิ่งที่ผมอยากเน้นย้ำก็คือ เราไม่จำเป็นต้องรอให้มีข้อมูลที่แม่นยำ 100% ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ สถาบันการเงินสามารถเริ่มสื่อสารกับลูกค้า เพื่อออกผลิตภัณฑ์สนับสนุนกลุ่มลูกค้าที่ต้องการปรับตัวชัดเจน ซึ่งจะเป็นกรณีตัวอย่าง ช่วยให้เกิด momentum ที่สามารถขยายผลให้เกิด impact ได้จริง
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าภาคการเงินไม่สามารถเดินทางตาม Journey นี้ได้ด้วยตัวเอง แม้สถาบันการเงินจะมีข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล หรือสามารถพัฒนา Transition plan และ product ได้ แต่ไม่อาจก่อให้เกิดการปรับตัว หากไม่มี demand จากภาคธุรกิจ ที่จะเดินไปด้วยกัน
ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงควรร่วมมือกับสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งผ่านข้อมูลการดำเนินงานของธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ รวมถึงช่วยบริษัทในกลุ่ม SMEs ที่อยู่ใน supply chain ให้มีความพร้อมปรับตัว ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินสามารถช่วยลูกค้าวางแผนการปรับตัว และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจได้อย่างเหมาะสม
สุดท้ายนี้ แผนงานและหมุดหมายของ ธปท. และภาคสถาบันการเงินที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายในการนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรของประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลักดันและพัฒนาประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะข้างหน้า จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับมิติอื่นๆ ควบคู่ด้วย โดยเฉพาะมิติด้านการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
เช่น การระดมทุนของกองทุนการสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Fund) เพื่อรับมือกับ Loss and Damage ที่เกิดขึ้น จากการประชุม COP28 ครั้งล่าสุด จะเห็นได้ว่าประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังนั้น วาระสำคัญต่อบริบทด้านสิ่งแวดล้อมของไทยในระยะต่อไป
คือ กรอบและเป้าของประเทศในเรื่องการปรับตัวจะมีทิศทางและแผนการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างไร และภาคการเงินจะมีบทบาทสนับสนุนได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นงานที่สำคัญที่เป็นความท้าทายในระยะข้างหน้าที่จะมาถึง และต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนต่อไป” นายรณดล กล่าว