ครม.อนุมัติงบไปพลางก่อนปี 66 อีก 750 ล้านบาท ใช้เยียวยาแรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 750 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ปีงบประมาณ 67 ต่อไป ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 และยังมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนไทยซึ่งพำนักในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอลได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และถูกจับเป็นตัวประกัน รวมทั้งยังมีความกังวลถึงค่าจ้างที่ยังไม่ได้รับและกังวลว่าจะไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานได้ภายหลังจากสถานการณ์สงบลง
โดย ครม. ได้มีมติ (24 ต.ค. 66) มอบหมายให้กระทรวงแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดสิทธิประโยชน์และเงินช่วยเหลือชดเชยให้แก่แรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอลให้เหมาะสมเป็นกรณีพิเศษ และต่อมา ครม. ได้มีมติ (7 พ.ย. 66) เร่งรัดการพิจารณากำหนดสิทธิประโยชน์และเงินช่วยเหลือชดเชยดังกล่าวให้แล้วเสร็จครบถ้วน รวมทั้งเร่งรัด กำกับ ติดตามการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยต่างๆ ให้ถึงมือแรงงานไทยถูกต้อง ทั่วถึงโดยด่วน
กระทรวงแรงงานจึงขอรับการจัดสรรงบฯ ปี 66 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 750 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ปีงบประมาณ 2567 สรุปได้ดังนี้
กรอบวงเงินโครงการ จำนวน 750 ล้านบาท (แรงงานไทยกลุ่มเป้าหมาย 15,000 คน) ได้รับเงินเยียวยา คนละ 50,000 บาท
กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 4 กลุ่ม
1.แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล และเดินทางกลับไทยหลังวันที่ 7 ต.ค. 66
จำนวน 9,475 คน วงเงิน 473.75 ล้านบาท
2.แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล จำนวน 39 คน วงเงิน 1.95 ล้านบาท
3.แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอลและเดินทางกลับไทยก่อนวันที่ 7 ต.ค. 66 โดยใช้ Re-entry Visa แต่ไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานที่อิสราเอลได้ เนื่องจากกรมการจัดหางานชะลอการเดินทางด้วยเหตุภัยสงครามในอิสราเอล จำนวน 960 คน วงเงิน 48.00 ล้านบาท และ
4.ประมาณการแรงงานไทยที่คาดว่าจะประสงค์เดินทางกลับไทย/เดินทางกลับไทยเพิ่มเติม รวมถึงแรงงานที่ถูกจับเป็นตัวประกัน จำนวน 4,526 คน วงเงิน 226.30 ล้านบาท
รวมทั้งสิ้น 15,000 คน วงเงิน 750.00 ล้านบาท
วิธีดำเนินการ
1.สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาครับคำร้องขอรับเงินเยียวยาเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล
2.ตรวจสอบเอกสารข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานกำหนด
3.ดำเนินการเบิกจ่ายเงินเยียวยาให้กับแรงงานไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วน โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของแรงงานไทย
4.ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน
ระยะเวลาดำเนินการเดือน ธ.ค. 66 – ก.ย. 67 หรือจนกว่าจะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแล้วเสร็จ
การติดตามผล
1. รายงานผลการเบิกจ่ายเงินเยียวยาฯ เป็นประจำทุกวัน
2. กระทรวงแรงงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี 2559 ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ได้เห็นชอบด้วยแล้ว
และควรกำกับดูแลค่าใช้จ่ายงบฯให้เป็นไปอย่างรัดกุม พร้อมทั้งควรเร่งดำเนินการสื่อสารให้แรงงานกลุ่มเป้าหมายทราบถึงสิทธิและช่องทางเยียวยาและการช่วยเหลือ ทั้งด้านการจัดหางาน และเพิ่มพูนทักษะที่ดำเนินอยู่ เพื่อให้แรงงานสามารถกลับเข้าสู่การจ้างงานและการประกอบอาชีพทั้งในและต่างประเทศ อันจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐในระยะยาว
ที่มาภาพปก: กระทรวงแรงงาน