กสม.เสนอแก้ไขปัญหาพระภิกษุไร้สถานะทางทะเบียน ส่งเสริมเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ขอบคุณ กทม.ทำตามข้อเสนอแนะ ช่วยแรงงานข้ามชาติเข้าถึงบัตรประกันสุขภาพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 45/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. เสนอแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล แนะสำรวจข้อมูลกลุ่มพระภิกษุและสามเณรที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาครัฐพยายามแก้ไขปัญหาโดยการพัฒนากฎหมายตลอดจนแนวทางปฏิบัติ แต่เนื่องจากข้อจำกัดที่สำคัญ เช่น นโยบายที่ไม่ครอบคลุมผู้มีปัญหาสถานะทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่ของรัฐขาดความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ จำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ ส่งผลให้บุคคลที่มีปัญหาสถานะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ เช่น การศึกษา การจ้างงาน สวัสดิการสังคม ที่อยู่อาศัย สุขภาพ สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และเสรีภาพในการเดินทาง เป็นต้น
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. จึงได้หยิบยกประเด็นปัญหาสถานะบุคคลขึ้นเพื่อหารือในงาน “สมัชชาสิทธิมนุษยชน : เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษ กสม.” โดยมีข้อมติที่เป็นข้อเสนอแนะในประเด็นดังกล่าว 2 ประการ ได้แก่
(1) การประสานพลังภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล และ
(2) การสร้างเสริมศักยภาพในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย เพื่อเร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาและขจัดความไร้รัฐให้หมดไป (Zero statelessness) ภายในปี พ.ศ. 2567 ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness)
กสม. ได้พิจารณาข้อมูล เอกสารที่เกี่ยวข้อง ความเห็นของนักวิชาการและผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งรายงานการลงพื้นที่ ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้การรับรองว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ให้การรับรองว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมาย โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ
กสม เห็นว่า ประเทศไทยมีความพยายามแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศเป็นนโยบาย พัฒนากฎหมาย ตลอดจนกำหนดแนวทางปฏิบัติผ่านมติคณะรัฐมนตรี รวมถึงยังได้ให้คำมั่นแก้ไขปัญหาต่อที่ประชุมระดับนานาชาติ
โดยกรมการปกครองในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่และภารกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคลได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐและมติคณะรัฐมนตรี เช่น ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล หลักเกณฑ์การกำหนดสถานะบุคคลกลุ่มเป้าหมายรองรับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล หลักเกณฑ์การกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่อพยพเข้ามาและอาศัยอยู่มานาน รวมทั้ง การออกระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2562 เป็นต้น
ที่ผ่านมา มีบุคคลที่ได้รับการแก้ไขสถานะทางทะเบียนจำนวนหนึ่ง แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทยเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน โดยข้อมูลสถิติของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่สำรวจและรวบรวมไว้เมื่อปี 2564 พบว่า มีคนไร้รัฐไร้สัญชาติ จำนวน 448,105 ราย เช่น ชนกลุ่มน้อยดั้งเดิมที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลานานแต่ตกหล่นจากการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ กลุ่มคนต่างด้าวที่ไร้รัฐไร้สัญชาติที่มีภูมิลำเนาอาศัยเป็นหลักแหล่งในประเทศไทยเป็นประจำและไม่มีเอกสารราชการของประเทศใดที่แสดงว่าเป็นคนชาติหรือราษฎรของประเทศนั้น ๆ กลุ่มที่ถูกจำหน่ายรายการทะเบียนราษฎร กลุ่มนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษาที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G ที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พระภิกษุและสามเณรเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ประสบกับความไร้รัฐไร้สัญชาติที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม จากการที่ กสม. ได้ประชุมรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็น และลงพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดกาญจนบุรี พบว่า พระภิกษุและสามเณรที่มีปัญหาสถานะอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
(1) พระภิกษุและสามเณรที่ยังไม่ได้รับการกำหนดสถานะทางทะเบียน และ
(2) พระภิกษุและสามเณรที่มีสถานะทางทะเบียน แต่อาจปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายด้านการเดินทางเข้าเมือง ส่งผลให้ประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ ถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุม และปัญหาด้านเสรีภาพในการถือศาสนาตามความเชื่อ ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2506) หากปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและไม่มีหลักฐานที่อยู่แน่ชัดย่อมไม่อาจบรรพชาหรืออุปสมบท หรือหากได้รับการบรรพชาหรืออุปสมบท พระอุปัชฌาย์ก็ไม่อาจรับรองสถานะ และไม่อาจได้รับสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ แม้จะมีคุณสมบัติทางพระธรรมวินัยที่เหมาะสมก็ตาม
นอกจากนี้ ข้อมูลนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G หรือเด็กนักเรียนในสถานศึกษาที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีการศึกษา 2565 ปรากฏว่า มีพระภิกษุและสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติที่ศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ สังกัดกองพุทธศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จำนวน 883 ราย ไม่รวมในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีและแผนกธรรมซึ่งจัดเก็บข้อมูลแยกส่วนกัน
รวมทั้งยังมีพระภิกษุและสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการกำหนดรหัส G และจัดเก็บข้อมูลในระบบ หรือฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และภารกิจโดยตรงในการจัดทำทะเบียนประวัติ
อย่างไรก็ดี การไม่มีระบบฐานข้อมูลของพระภิกษุและสามเณรที่มีปัญหาสถานะเช่นนี้ย่อมทำให้การแก้ไขปัญหาล่าช้า เพราะจะต้องแก้ปัญหาเป็นรายกรณี โดยไม่ทราบกลุ่มและพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด ส่งผลให้การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของพระภิกษุและสามเณรต้องเนิ่นช้าตามไปด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 จึงมีมติให้กรมการปกครองร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ดำเนินการสำรวจข้อมูลกลุ่มพระภิกษุและสามเณรที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน รวมทั้งข้อมูลสามเณรที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G ตามระบบของกระทรวงศึกษาธิการ
เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ คัดกรองคุณสมบัติโดยจำแนกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แล้วพิจารณากำหนดสถานะบุคคลให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ซึ่งจะนำไปสู่การให้สิทธิขั้นพื้นฐาน และปรับปรุงระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มพระภิกษุและสามเณรให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ตลอดจนจัดเตรียมแผนรองรับกลุ่มพระภิกษุและสามเณรที่เข้ามาใหม่ในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ควรให้องค์กรภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมในการรวบรวมจัดเก็บข้อมูล เพื่อแก้ไขข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรที่มีไม่เพียงพอด้วย
นอกจากนี้ ให้กรมการปกครองและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎมหาเถรสมาคมตามหลักในพระธรรมวินัย แก่พระภิกษุและสามเณร รวมถึงบุคลากรของสำนักงานพระพุทธศาสนาในพื้นที่ เพื่อใช้ประกอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. กสม. ชื่นชม กทม. ดำเนินการตามข้อเสนอแนะ ส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพให้สามารถใช้บริการสาธารณสุขได้ในทุกโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัด กทม.
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ประชุมหารือร่วมกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ
ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 กสม.ได้เข้าพบและหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพให้แรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวในพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนสูงสุดของประเทศ
โดยในทางปฏิบัติพบปัญหาว่าแรงงานข้ามชาติหรือคนต่างด้าวที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพจากโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยมักจะไปใช้บริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. แต่ศูนย์บริการดังกล่าวไม่สามารถเบิกค่าบริการได้ แรงงานจึงต้องจ่ายค่าบริการเอง เนื่องจากยังไม่มีนโยบายของกรุงเทพมหานครในการเข้ารับบริการในศูนย์บริการสาธารณสุขดังกล่าว และ กสม. เสนอให้กรุงเทพมหานครพิจารณารับตรวจสุขภาพและรับทำประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ เพื่อนำงบประมาณที่ได้มาบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและการรักษาพยาบาลในคนกลุ่มนี้
นอกจากการหารือถึงปัญหาดังกล่าวร่วมกับ กทม.แล้ว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ได้มีข้อเสนอแนะเรื่องการตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพให้แรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวในพื้นที่ กทม. ให้เป็นไปในลักษณะการจัดบริการสุขภาพเชิงรุกโดยใช้โรงพยาบาล จำนวน 8 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 69 แห่งของ กทม. เป็นจุดบริการ เนื่องจากศูนย์บริการสาธารณสุขถือว่าเป็นหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ที่สามารถพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิได้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 สำนักการแพทย์ กทม. ได้ออกประกาศเรื่อง การรับบริการสุขภาพกรณีแรงงานต่างด้าวที่ซื้อประกันสุขภาพของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ โดยกำหนดแนวทางการรับบริการสุขภาพให้แก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม หรือสัญชาติอื่นตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดเพิ่มเติม ในเขตพื้นที่ กทม. ให้สามารถซื้อประกันสุขภาพและตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิริธร
ประกาศดังกล่าวยังกำหนดให้แรงงานต่างด้าวที่ซื้อประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลในสำนักการแพทย์ สามารถรับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับโรงพยาบาลในสำนักการแพทย์ได้ทุกแห่ง (รวม 11 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โรงพยาบาลคลองสามวา และโรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร เพิ่มมาอีก 3 แห่ง จาก 8 แห่งข้างต้น) รวมตลอดทั้งสามารถเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย อีก 69 แห่ง ของ กทม. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการตรวจและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งที่ 4204/2566 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการและจัดบริการสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเขตกรุงเทพมหานคร
โดยมีรองศาสตราจารย์ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่
ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาระบบบริหารจัดการ และจัดบริการด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประสานความร่วมมือและบูรณาการการจัดกิจกรรม แผนงาน โครงการ ร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอกสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานด้านสาธารณสุขสำหรับแรงงานข้ามชาติ ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกลไกที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและเป็นกลไกเชิงนโยบายที่สำคัญ
“กสม. ขอชื่นชม กทม. ที่เห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ และดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะของ กสม. ซึ่งเป็นผลให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงการรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพในประเด็นที่ว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวันที่ 27 ธันวาคม 2565” นางสาวสุภัทรา กล่าว