ประชาชนแห่นั่งรถไฟฟ้าสายสีชมพูพุ่ง 9.8 หมื่นคนเที่ยว/วัน หลัง ‘เศรษฐา’ ประเดิมเปิดเมื่อ 22 พ.ย. 66 ‘กรมราง’ เก็บสถิติพบคนใช้บริการสถานีวัดพระศรีฯมากสุด เพราะเชื่อมสายสีเขียว ขณะที่จำนวนคนใช้รถไฟฟ้า พบสายสีเขียวยังมาอันดับ 1 ที่ 8.9 แสนคนเที่ยว/วัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (24 พฤศจิกายน 2566) เป็นวันศุกร์แรกหลังจากเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึงสถานีมีนบุรี (PK30) ฟรีตลอดเส้นทาง รวม 30 สถานี ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึงเวลา 20.00 น. (รวม 14 ชั่วโมง) รวมทั้งให้บริการที่จอดรถฟรีที่อาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) บริเวณสถานีมีนบุรี (PK30) มีผู้มาใช้บริการรวมจำนวน 98,828 คน-เที่ยว สูงสุดตั้งแต่เปิดทดลองให้บริการเมื่อวันที่ 21พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา (สายสีชมพู 21-24 พ.ย.66 สะสมสี่วันมีผู้ใช้บริการรวม 342,086 คน-เที่ยว)
โดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู จัดขบวนรถให้บริการสูงสุด 14 ขบวน ให้บริการทุก 10 นาที ตั้งแต่เวลา 06.00 - 20.00 น. รวม 182 เที่ยว (รวมขบวนรถเสริม 11 เที่ยว)
ทั้งนี้ พบว่าที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) มีผู้ใช้บริการมากที่สุดกว่า 17,000 คน-เที่ยว/วัน ซึ่งในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนได้มีการบริหารจัดการผู้โดยสารที่สถานี (Crowd Control) เพื่อลดความหนาแน่นที่ชั้นชานชาลาและในขบวนรถ เนื่องจากเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเชียวสายสุขุมวิท โดยในช่วงทดลองให้บริการผู้โดยสารสายสีชมพูยังคงต้องใช้ทางเข้า-ออก เพื่อออกจากระบบแล้วเดินไปยังทางเข้า-ออกของรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ส่วนสถานีที่มีผู้ใช้บริการรองลงมาได้แก่ สถานีวงแหวนรามอินทรา (PK25) สถานีตลาดมีนบุรี (PK29) สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 (PK08) สถานีหลักสี่ (PK14) และสถานีมีนบุรี (PK30) ตามลำดับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 – 20.00 น. ให้บริการทุก 10 นาที ก่อนขยายเวลาให้บริการต่อไป โดยยังให้ให้บริการฟรีถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางรางได้ประสานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้ให้บริการรถไฟฟ้สายสีชมพู (NBM) เร่งดำเนินการก่อสร้างทางขึ้น-ลงทุกสถานีรถไฟฟ้า รวมถึงทางเดินเชื่อมต่อให้แล้วเสร็จก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 3 มกราคม 2567
สำหรับภาพรวมจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบราง ประจำวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2566 พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,789,962 คน-เที่ยว (นิวไฮ) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์ covid-19 ประกอบด้วย
1.รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 79,405 คน-เที่ยว ประกอบด้วย
1.1 ขบวนรถโดยสารเชิงพาณิชย์ จำนวน 28,368 คน-เที่ยว
1.2 ขบวนรถโดยสารเชิงสังคม จำนวน 51,037 คน-เที่ยว
@สายสีเขียวแชมป์คนนั่งเยอะสุด 8.9 แสนคนเที่ยว/วัน
2. รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง) จำนวน 1,710,557 คน-เที่ยว (นิวไฮ) โดยมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) 78,769 คน-เที่ยว สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์ Covid-19 (ครั้งล่าสุดเมื่อ 22 พ.ย.66 จำนวน 78,355 คน-เที่ยว) เนื่องจากที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เป็นสถานีที่มีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (PK01)และโครงการรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม ((สายสีม่วง) (PP11)) ประกอบด้วย
2.1 รถไฟฟ้า Airport Rail Link จำนวน 73,124 คน-เที่ยว
2.2 รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง จำนวน 31,910 คน-เที่ยว (รวมรถไฟทางไกลเชื่อมต่อสายสีแดงฟรี จำนวน 135 คน-เที่ยว)
2.3 รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) จำนวน 490,340 คน-เที่ยว
2.4 รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) จำนวน 78,769 คน-เที่ยว (นิวไฮ)
2.5 รถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 892,348 คน-เที่ยว
2.6 รถไฟฟ้า สายสีทอง จำนวน 7,628 คน-เที่ยว
2.7 รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง จำนวน 37,590 คน-เที่ยว
2.8 รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จำนวน 98,828 คน-เที่ยว
เมื่อเทียบกับวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพิ่มขึ้นจำนวน 164,107 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61 (17 พ.ย.66 จำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าฯ รวม 1,546,450 คน-เที่ยว) โดยมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71 และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.33 สีเขียว เพิ่มร้อยละ 6.19 สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) เพิ่มร้อยละ 1.68 Airport Rail Link เพิ่มร้อยละ 1.46 และสายสีทองเพิ่มร้อยละ 1.09 ตามลำดับ
@สายสีชมพู นั่งฟรีถึง 2 ม.ค. 67
ทั้งนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งกำกับดูแลการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการเจรจาร่วมกับ และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ซึ่งบรรลุข้อตกลงร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะขยายระยะที่เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) ฟรี! ตลอดสาย ครบทั้ง 30 สถานี รวมถึงเปิดให้บริการจอดรถ ฟรี! บริเวณชั้น 1 ของอาคารจอดแล้วจรที่สถานีมีนบุรี ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 เพื่อเป็นการส่งมอบความสุขส่งท้ายปีให้แก่ประชาชน และจากนั้นจึงจะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2567 เป็นต้นไป