กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีมติเอกฉันท์ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.สอบเจ้าหน้าที่รัฐ พัวพันคดีหมูเถื่อน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2566 เมื่อเวลา 10.00 น. นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการประชุม เร่งรัดติดตามความคืบหน้ากรณีการปราบปรามการนำเข้าและจำหน่ายหมูเถื่อนในประเทศไทย คดีหุ้น บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) และคดีหุ้น บมจ. มอร์ รีเทิร์น (MORE) โดยมี นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม ชั้น 11 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
นางพงษ์สวาท กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำการติดตามคดีหมูเถื่อน รวมไปถึงกรณีทุจริตหุ้น STARK และหุ้น MORE เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเร่งสอบสวนเพื่อขยายผลการจับกุมผู้กระทำผิดทั้ง 3 คดี ด้านผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษชี้แจงความก้าวหน้าของการสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยปลัดกระทรวงยุติธรรมกำชับถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ต้องเป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด ภายใต้มาตรฐานการสอบสวนคดีพิเศษ และขอให้บูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่ายทั้งการดำเนินการด้านคดีและด้านทรัพย์สินในคดี เพื่อมุ่งเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทุกรายโดยเร็ว รวมทั้งสั่งการเรื่องของประชาชนผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อน จะต้องได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ด้านผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษรับจะเร่งดำเนินการในทุกขั้นตอน และยืนยันความพร้อมเพื่อชี้แจงต่อสังคมให้ทราบภายในสัปดาห์นี้
ขณะเดียวกันที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 59/2566 ได้ประชุมร่วมกันและมีมติเอกฉันท์ ให้ส่งสำนวน ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเนื่องจาก สืบสวนสอบสวนพบเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร กระทำความผิดในคดีนำเข้าหมูเถื่อนสำแดงเท็จ นอกจากนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษยังแยกเลขคดีสืบสวนสอบสวนเอาผิดกับบริษัทที่นำเข้ามิชอบเป็นบริษัทละเลขคดีโดย เป็นเลขคดีที่ 101/2566 ถึงเลขคดีที่ 109/2566 จำนวน 9 เลขคดี
ด้านนายจิระศักดิ์ จั่นบำรุง ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการการท่าเทียบเรือสินค้าและคอนเทนเนอร์ หรือ TICTA กล่าวว่า ได้เข้าร่วมประชุมทุกครั้งที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติตนจะเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมได้พูดถึงการแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์บรรจุหมูเถื่อนเนื่องจากมีปัญหาการสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้าเพื่อควบคุมอุณหภูมิหมูเถื่อนและมีค่าฝากเก็บอีก ขณะนี้มีความค่าใช้จ่ายสูงถึง 30 ล้านแล้ว ซึ่งจะล่าสุดได้ประชุมกัน และมีความเห็นว่า ปัญหานี้จะมีจุดจบนำหมูเถื่อนออกจากท่าเรือเมื่อไร จึงเตรียมทำจดหมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และ นายกรัฐมนตรีตรีเพื่อให้เร่งรัดบริหารจัดการนำหมูเถื่อนออกจากท่าเรือเป็นการด่วน
“ผมทราบข้อมูลและตามเรื่องการนำหมูไปฝังกลบมาตลอดหลังจากที่มีปัญหาที่จังหวัดสระแก้วและ จังหวัดปราจีนแล้ว ผมทราบว่า ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร ซึ่งเป็นเลขาคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษคดีหมูเถื่อน กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้ความสามารถส่วนตัวประสานกับเครือข่ายได้ขอสถานที่แห่งหนึ่งและเป็นที่ตกลงแน่นชัดแล้วว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดี แต่เหตุอะไรไม่ทำไมกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวถึงไม่รีบดำเนินการ โดยส่วนตัว ผมมองว่าสังคมปัจจุบันมีการสื่อสารที่ไร้พรหมแดนสังคมรับรู้ว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยก็ถูกจับตามองจากสังคมอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าในการที่ ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ได้รับความร่วมมือในเรื่องที่ฝังกลบหมูเถื่อนเป็นต้นทุนทางสังคม ซึ่งเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม น่าจะส่งทีมประสาน คณะพนักงานสอบสวนเพื่อขอทราบการประสานงานในการหาทางฝังกลบหมูเถื่อนที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับส่วนรวมของประเทศ” นายจิระศักดิ์ กล่าว