‘กรมราง’ เผยผลวิเคราะห์การปรับค่าแรกเข้าและอัตราค่าโดยสาร พบรถไฟฟ้า ค่าแรกเข้าที่เหมาะสมคือ 14 บาท และค่าโดยสารตามระยะทาง 2 บาท/กม. ส่วนไฮสปีดเทรนแรกเข้า 95 บาท ค่าโดยสารตามระยะทาง 1.73 บ./กม. ชี้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท รูปแบบรัฐลงทุนทั้งหมดจะทำให้บริหารได้ง่ายกว่า เล็งศึกษาทำอัตราค่าโดยสารแบบแบ่งโซน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า การประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง เบื้องต้นหลักเกณฑ์จะพิจารณาจากโครงการ อัตราค่าโดยสารขั้นสูง ราคาค่าโดยสารที่ผู้โดยสารสามารถจ่ายได้ และการลงทุนของเอกชน เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ กำหนดราคาค่าโดยสารต่อเอกชนในอนาคต
ขณะที่จากการวิเคราะห์การปรับค่าแรกเข้าและอัตราค่าโดยสาร เบื้องต้นมองว่ารูปแบบที่เหมาะสมในการกำหนดอัตราค่าโดยสารควรให้ภาครัฐลงทุน และให้เอกชนรับจ้างเดินรถแบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง ทำให้รัฐกำหนดค่าโดยสารได้ และมองว่าสำหรับรถไฟฟ้าในเมือง ค่าแรกเข้าอยู่ที่ 14 บาท และคิดอัตราค่าโดยสาร 2 บาทต่อกิโลเมตร ส่วนรถไฟความเร็วสูง ค่าแรกเข้าจะอยู่ที่ 95 บาท และอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 1.73 บาทต่อกิโลเมตร
"ยอมรับว่านโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการปรับลดอัตราค่าโดยสาร โดยปรับอัตราค่าโดยสารตามระยะทางอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ในรถไฟฟ้า 2 สายได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ทำให้ยอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสายสีแดง วันเสาร์-อาทิตย์ ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 25% ขณะที่ วันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้น 15% ส่วนสายสีม่วงหากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5% ขณะที่ วันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้น 15% ซึ่งในอนาคตหลังจากนี้มองว่ารูปแบบที่เหมาะสม ยังเป็นการให้ภาครัฐเป็นเจ้าของสัมปทานและจ้างเอกชนในการเดินรถ" นายอธิภู กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดอัตราค่าโดยสารตามพื้นที่ (Zone fare) โดยหากอยู่ในโซนแรกจะคิดอัตราค่าโดยสาร 20 บาท อาทิ โซนของสายสีน้ำเงินในปัจจุบันที่มีคนเดินทาง 70% ของคนกรุงเทพฯ โซนที่ 2 คิดอัตราค่าโดยสาร 25 บาท และโซนที่ 3 คิดอัตราค่าโดยสาร 30 บาท โดยคาดว่าจะสามารถจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอรัฐบาลคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แต่ปัจจุบันยอมรับว่ายังไม่มีการตั้งคณะกรรมการกรมการขนส่งทางราง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในหมวดของร่างพระราชบัญญัติขนส่งทางรางพ.ศ. … ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้ยังไม่สามารถที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้
ขณะที่ภาพรวมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ที่เพิ่งเปิดให้บริการไป เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 40,000 คน โดยสายสีชมพูสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีเขียว เชื่อว่าในอนาคตการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีม่วงและสายสีแดงจะไม่มีปัญหาค่าแรกเข้า เหมือนกับสายสีเหลืองกับสายสีน้ำเงิน ซึ่งต้องรอหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม รฟม. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจรจากับเอกชนต่อไป
ที่มาภาพ: กรมการขนส่งทางราง