‘ภูมิธรรม’ เผยรับฟังความเห็นทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญนัดแรก มีความเห็นหลากหลายทั้งจากพีมูฟ - ไอลอว์ - สมัชชาคนจน - กลุ่มหลากหลายทางเพศ เผยบางส่วนยังอยากแก้ทั้งฉบับไม่เว้นหมวด 1-2 , คัดสรรตัวแทน สสร. อาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก่อนเปิดกำหนดการรับฟังความเห็นทั่วประเทศจบใน 3 ธ.ค. 2566 นี้ ก่อนเสนอ ครม. พิจารณาทุกความเห็น ม.ค. 2567
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 กล่าวภายหลังรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน ว่า การรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในวันที่ 20 พ.ย.2566 จะเดินทางไปรับฟังความเห็นในพื้นที่ภาคอีสาน ส่วนวันที่ 23 พ.ย. 2566 จะรับฟังในพื้นที่ภาคตะวันออก และวันที่ 28 พ.ย. 2566 จะเดินทางไปรับฟังในพื้นที่จ.เชียงใหม่ และวันที่ 7 ธ.ค.2566 จะเดินทางไปรับฟังในพื้นที่ จ.สงขลา
นายภูมิธรรม กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นในวันนี้มีกลุ่มตัวแทนสลัมสี่ภาค กลุ่มพีมูฟ กลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มสมัชชาคนจน และกลุ่มไอลอว์ เป็นต้น ซึ่งได้ยืนยันหลักการว่ารัฐบาลแน่วแน่ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายลูกให้เสร็จสิ้นภายใน 4 ปีตามอายุรัฐบาล และเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เข้าร่วมถือเป็นสิทธิ แต่รัฐบาลอยากให้การพิจารณาครบถ้วนแม้ไม่เข้าร่วมแต่ก็มีกระบวนการเข้าไปหารือ และคณะอนุกรรมการฯ ได้ไปรับฟังความเห็นของพรรคก้าวไกลมาแล้ว และได้เจอนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาฯ และได้ทำแบบสอบถามของสส.และสว. โดยจะมีความชัดเจนเมื่อเปิดสภาฯ เพื่อนำข้อเสนอกลับมาพิจารณาในคณะกรรมการฯ
@บางส่วนต้องการแก้หมวด 1-2 ด้วย
นายภูมิธรรม กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นวันนี้เท่าที่ได้คุยยังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่การแลกเปลี่ยนบรรยากาศเป็นไปด้วยดี ซึ่งคณะกรรมการฯ เปิดให้เสนอเต็มที่ความเห็นหลักที่มีการเสนอ คือ แก้ทั้งฉบับไม่มีข้อจำกัด โดยเฉพาะหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งตนได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงและอธิบายเพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเมือง เพราะเรื่องนี้กระเทือนพระราชอำนาจและไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ต้องนำมาพูด เพราะจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งไม่จบสิ้น และจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ยาก ถือเป็นประเด็นที่เห็นต่างกันอย่างชัดเจน
"ขณะนี้ต้องยืนยันหลักการของรัฐบาลที่เสนอต่อรัฐสภา คือไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 และไม่กระทบกับพระราชอำนาจแต่ต้องไปดูว่า มีเงื่อนไขทางออกอย่างไร แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นตรงกันคือรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน และการรักษาสิทธิ์ของประชาชน" รองนายกรัฐมนตรีระบุ
@สสร.อาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด/ ม.ค.67 รับฟังความเห็นจบ
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ยังมีการเสนอให้เลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทั้งหมดแต่ก็มีหลายส่วน เช่น กลุ่มหลากหลายทางเพศสภาพทั้งหมด กลุ่มผู้หญิง กลุ่มชาติพันธ์และกลุ่มคนพิการ บอกว่าถ้าเลือกตั้งทั้งหมก กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่มีโอกาส หลากหลายกลุ่มอยากเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งอาจจะมีการเลือกตั้งบางส่วนก็ได้แต่ต้องมีอีกระบบหนึ่งเพื่อให้บุคคลเหล่านี้เข้าไปร่วมร่ารัฐธรรมนูญได้ ถือเป็นข้อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาว่าจะเลือกตั้งทั้งหมดหรือบางส่วน
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า หลังได้รับฟังการรายงานจากประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความคืบหน้าเป็นไปด้วยดี และคาดว่าภายในเดือนธันวาคม กระบวนการรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอเกี่ยวกับการศึกษาต่างๆ จะได้ข้อยุติ นอกจากนี้ในต้นเดือนมกราคม ปี2567 จะเสนอเข้า ครม.พิจารณา
นายภูมิธรรม กล่าวว่า สำหรับการลงประชามติจะกี่ครั้งนั้น ยังเป็นประเด็นอยู่ ซึ่งหลังจากเชิญ กกต.มาก็ ยังต้องคำนึงถึงข้อกฎหมาย และเราก็กังวลใจถ้าใช้ข้อกฎหมายที่ทำประชามติหลายครั้งและการใช้เงินครั้งหนึ่งประมาณ 3-4 พันล้านบาท เราไม่อยากเสียหายตรงนี้ไปเยอะ ซึ่งเราจะต้องหารือเพื่อให้เซฟเงินของประชาชนให้ได้