‘เศรษฐา’ ต่อสายนายกฯอิสราเอล ‘เนทันยาฮู’ ขอให้รีบช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยโดยเร็ว เผยทางอิสราเอลหวังแรงงานเหล่านี้จะกลับไปถ้าสถานการณ์สงบ ด้านเลขาฯวันนอร์เผยคุยกลุ่มฮามาส-อิหร่าน-ปาเลสไตน์ มีตัวประกันชาวไทยอยู่ด้วย 22 คน ปัดทำข้ามหน้าใคร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เมื่อเวลา 17.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการพูดคุยทางโทรศัพท์กับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ว่า ได้นัดหมายกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอลเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 31 ต.ค. 66 ผ่านทางนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศมาว่า อยากจะขอโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยกัน ซึ่งเมื่อสักครูพึ่งได้พูดคุยกันเสร็จ
@นายกฯอิสราเอลรับปากจะช่วยตัวประกัน
โดยนายกฯ อิสราเอลบอกว่า เสียใจกับการที่มีคนไทยเสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย นายเบนจามินยืนยันว่า จะพยายามทำอย่างเต็มความสามารถที่จะช่วยเหลือตัวประกันของไทยให้ออกมาได้ด้วยความปลอดภัยและเร็วที่สุด และยังบอกอีกว่าหากมีอะไรให้ช่วยเหลือขอให้บอกได้อีก ซึ่งได้บอกไป 2-3 เรื่อง โดยเรื่องแรก คนไทยที่แจ้งเจตจำนงต้องการกลับเดินทางกลับใกล้จะหมดแล้ว แต่ถ้ามีคนไทยแสดงเจตจำนงจะเดินทางกลับมาอีกก็ขอให้ทางอิสราเอลอำนวยความสะดวกให้ เพราะหากจะเดินทางกลับมาอีกก็แสดงว่าสภาพสงครามมันต้องรุนแรงขึ้นอีก ตรงนี้อาจจะต้องมีการให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษในการที่จะนำคนไทยเข้ามาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
นายเศรษฐา กล่าวว่า และยังได้ถามไปในเรื่องของตัวประกันมีเดดไลน์หรือไม่ พอจะมีระยะเวลาหรือไม่ เมื่อไหร่ ซึ่งนายกฯอิสราเอลยืนยันว่าจะพยายามอย่างเต็มที่ ตอนนี้ยังไม่มี แต่ยังเจรจาอยู่ และเรื่องขอให้ดูแลคนไทยที่อิสราเอลให้ดีที่สุดที่ได้ฝากไปด้วย เพราะคนไทย 3 หมื่นกว่าคนไม่ได้ไปมีส่วนกับความขัดแย้ง แรงงานไทยไปช่วยพัฒนาประเทศ ช่วยทำเรื่องของการเกษตร ทางนายกฯอิสราเอลก็บอกว่าเข้าใจหมด ไม่ได้มีความสงสัยเลยว่าคนไทยไปทำเรื่องอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร และนายกฯอิสราเอลยังบอกมาว่าหากจะให้กลับมาที่ไทยก็จะอำนวยความสะดวกให้กลับมา และถ้ากลับมาแล้วก็หวังว่า แรงงานเหล่านี้อยากจะกลับไปอิสราเอลอีกเมื่อทุกอย่างมันเรียบร้อยลงตัว และช่วยอำนวยความสะดวกให้กลับมา ก็พูดกันแค่นี้
“หากมีข่าวความคืบหน้าท่านก็จะโทรศัพท์มาบอกโดยตรง และถ้ามีเรื่องของการต่อรองที่อาจจะต้องมีเรื่องการแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างท่านก็จะบอกมา ผมบอกเราเปิดหมดทุกอย่าง ยังไงก็ได้ ขอให้นำคนไทยกลับบ้านโดยเร็วที่สุด เดี๋ยวค่ำๆ วันเดียวกันนี้ ผมจะโทรศัพท์หานายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง โดยตอนนี้นายปานปรีย์อยู่ที่การ์ตาและอียิปต์ว่ามีความคืบหน้าอะไรหรือไม่”นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดคุยกันกรณีที่นายจ้างอิสราเอลจ่ายเงินเดือนล่าช้าให้กับแรงงานไทยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้ย้ำกับทางเอกอัครทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ซึ่งได้บริหารจัดการไปแล้ว และตนได้ขอบคุณไป
@ตัวประกันไทยอยู่กับฮามาส 22 คน
ด้านนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนเองในฐานะเป็นที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะ ได้เดินทางไปพบตัวแทนที่ประเทศอิหร่าน วันที่ 26 ตุลาคม 2566 โดยได้พบกับแกนนำของกลุ่มฮามาส และตัวแทนจากอิหร่าน แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ ซึ่งใช้เวลาพูดคุย 2 ชั่วโมง
โดยกลุ่มฮามาส เข้าใจว่าการมาครั้งนี้มาในนาม ประธานรัฐสภาของประเทศไทย และความรู้สึกของมุสลิมด้วยกัน เพื่อขอให้ปล่อยตัวคนไทย เนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามครั้งนี้
นายอารีเพ็ญกล่าวว่า กลุ่มฮามาสได้บอกว่า ตัวประกันได้รับการดูแลเป็นอย่างดีไม่เดือดร้อน แต่ไม่สามารถกำหนดวัน-เวลาที่จะปล่อยตัวได้ เนื่องจากอาจเกิดเหตุอันตรายจากการโจมตีของอิสราเอลขึ้นได้ โดยกลุ่มฮามาสหวังอยากให้ตัวประกันเหล่านี้บอกกับสังคมโลกว่า อยู่กับฮามาสโหดร้ายจริงหรือไม่ จึงพยายามเพื่อให้คนไทยอยู่อย่างปลอดภัย และกลับไปอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข
ทั้งนี้ ได้มอบรายชื่อให้คนไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันไปแล้วทั้ง 22 คน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการยืนยันกับทางการอิหร่านว่ารายชื่อตรงกันหรือไม่
@อิหร่าน-ปาเลสไตน์ พร้อมช่วยเหลือ
จากนั้น เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2566 ได้เข้าพบกับ อยาตุเลาะ อัดตารี ที่ปรึกษาประธานาธิบดีและ ประธานสมัชชาองค์กรปาเลสไตน์ แห่งสำนักประธานาธิบดีอิหร่าน , ดร.ระมีฮียาน เลขาธิการใหญ่องค์การช่วยเหลือประชาชาติปาเลสไตน์แห่งชาติ , ดร.รูวัยรอน ประธานสมาพันธ์ พิทักษ์เยาวชนปาเลสไตน์ และต่อต้านอิสราเอลแห่งชาติ ใช้เวลาพูดคุย 3 ชั่วโมง ซึ่งได้มีการรับปากว่าจะให้ความช่วยเหลือ เพราะประเทศไทยมีคุณอนันต์ต่อมุสลิมทั่วโลกที่อยู่ประเทศไทย และประเทศอิหร่านก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย
นอกจากนี้ ทราบว่า มีการรายงานเรื่องดังกล่าวต่อประธานาธิบดีอิหร่าน จากนั้นได้มีหนังสือไปยังบุคคลสำคัญของอิหร่าน 4 คน พร้อมกับประสานไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านและได้เข้าพบกับหัวหน้าของกลุ่มฮามาส แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดของการพูดคุย
นายอารีเพ็ญ กล่าวด้วยว่า อยากให้คนไทยเข้าใจว่าปาเลสไตน์ ต่อสู้มายาวนาน และคนทั่วโลกไม่ให้ความสนใจ ทั้งนี้ ยอมรับว่าไม่ได้มีการพูดคุยกับคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน เนื่องจาก คลื่นโทรศัพท์หากมีการใช้ก็จะมีการยิงระเบิดเข้าทันที ซึ่งทางกลุ่มฮามาสได้เชิญให้เข้าไปพบตัวประกัน แต่ขอไม่เข้าไปเพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย
ส่วนกรอบเวลาที่จะปล่อยตัวคาดว่าจะเร็วที่สุด เพราะความปลอดภัยของภาวะสงคราม ถ้าบอกว่าจะปล่อยเมื่อไหร่ ระเบิดจะลงทันที และอาจทำให้สังคมโลกมองว่ากลุ่มฮามาสทำร้ายตัวประกัน แต่ตนคิดว่าการปล่อยตัวประกันคงไม่นานเกินรอ ซึ่งคณะประสานงานของประธานรัฐสภาก็ได้มีประจำการอยู่ที่ประเทศอิหร่านเพื่อคอยประสานงานหากมีการปล่อยตัวคนไทยออกมา ประธานรัฐสภาก็จะเดินทางมารับด้วยตนเอง ซึ่งถ้าหากปล่อยตัวที่ประเทศอิหร่านก็จะเป็นการสะดวก
พร้อมย้ำว่า การทำหน้าที่ในครั้งนี้ไม่ได้ข้ามหน้าข้ามตาใคร แต่เป็นการช่วยเหลือตามศักยภาพ ซึ่งการเดินทางไปประเทศอิหร่านนั้น เพราะประเทศอิหร่านเป็นผู้มีอิทธิพลต่อขบวนการฮามาส และเป็นแหล่งสำคัญที่สนับสนุนกลุ่มฮามาส เมื่อคนที่มีบุญคุณใหญ่หลวงขออะไรไป เขาก็น่าจะไม่ปฏิเสธ
"ผมมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขาพูดคือความจริง เราเป็นกลุ่มแรกที่ไปพูดคุยกับกลุ่มฮามาสอย่างเป็นทางการ ถ้าหากคนไทยได้ปล่อยตัวก็เป็นผลงานของคนไทยทั้งหมด ไม่ใช่ผลงานของคนใดคนหนึ่ง เราจะไม่ก้าวก่ายรัฐบาลในการทำหน้าที่ เราทำหน้าที่ในตัวแทนประธานรัฐสภาเท่านั้น ที่เข้าไปพูดคุยโดยตรง" นายอารีเพ็ญ กล่าว