ป.ป.ช.เผยปัญหาทุจริตปัจจุบันมีรูปแบบซับซ้อนมากขึ้น ยอมรับนโยบายกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมเหมือนดาบสองคน เพราะเอื้อทุจริตเชิงนโยบาย แจงปี 65-66 ข้อมูลเบาะแสทุจริตถึง 1,360 เรื่อง ประกาศใช้ศูนย์ CDC แก้ปัญหาหวังยกระดับคะแนน CPI
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่าเมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้เปิดเผยถึงการสำรวจ ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ในประเทศไทยว่า แม้ทุกรัฐบาลจะมี “นโยบายปราบโกง” แต่การทุจริตก็มีการปรับรูปแบบที่แยบยลซับซ้อนมากขึ้น การตรวจสอบต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะยิ่งขึ้น
อีกทั้งการกระจายอำนาจการปกครองลงไปในหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็เสมือนดาบสองคมเพราะหลายแห่งกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริตเชิงนโยบายในระดับท้องที่ บ้านใหญ่ในหลายชุมชนเข้ามาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นเหล่านี้จึงกลายเป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับทุกหน่วยงานต่อต้านการทุจริต ที่จะต้องเร่งเดินหน้าปฏิบัติการ “ปราบโกง-ปรามทุจริต-ป้องกันการคอร์รัปชัน” อย่างจริงจัง
ส่วนต่างของเงินที่เกิดจากปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ยังคงเป็นจำนวนเงินที่รวมกันแล้วเกือบเทียบเท่ากับงบประมาณของหลาย ๆ กรม ที่ใช้เพื่อพัฒนาประเทศรวมกันเลยด้วยซ้ำ โดย สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รวบรวมสถิติในปี พ.ศ. 2565 ถึง ปี พ.ศ.2566 พบข้อมูลเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต รายงานเข้ามายังศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ช. (CDC) จำนวนทั้งสิ้น 1,360 เรื่อง แบ่งเป็น ปี พ.ศ. 2565 จำนวน 541 เรื่อง และปี พ.ศ.2566 อีกจำนวน 819 เรื่อง
เลขาธิการฯ ป.ป.ช. ได้ให้ข้อมูลต่อไปว่า จากการที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดตั้ง ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center: CDC) ขึ้นมา ก็เพื่อเป็นการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันมิติใหม่ ด้วยงานบูรณาการที่ใช้ช่องทางเฝ้าระวังจากเสียงของผู้คนบนโลกออนไลน์ เพื่อให้มั่นใจว่าเสียงสะท้อนบนสื่อโซเชียลจะไปถึงสำนักงาน ป.ป.ช. และจะนำทุกข้อมูลที่ได้มาประมวลผลและวางแผนการจัดการแก้ปัญหาทุจริตเชิงรุกอย่างเป็นระบบ ภายใต้แนวทาง “ร้องเรียนวันนี้ พรุ่งนี้ตรวจสอบทันที” เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตของไทยอย่างยั่งยืนต่อไป