‘รังสิมันต์ โรม’ ยกคณะกมธ.ความมั่นคงเข้าหารือ ‘สุทิน คลังแสง’ หลายประเด็น ปมเรือดำน้ำยังต้องคุยต่อหลัง ‘ทัพเรือ’ ยืนยันมีความจำเป็น ขอลดไอโอลง เน้นงานพีอาร์ได้ แต่อย่าด้อยค่าฝ่ายอื่น ขณะที่ปมชายแดนใต้ ‘กลาโหม’ ยันยังไม่เลิกกฎหมายพิเศษ แต่ กมธ.หวังในปี 70 จะไม่มีการบังคับใช้อีก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 ตุลาคม 2566 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนศรีสมาน นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคง แห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป สภาผู้แทนราษฎร และคณะแถลงข่าวร่วมกันภายหลังหารืองานด้านความมั่นคง
โดย นายสุทิน ระบุว่า เป็นโอกาสดี กมธ.ความมั่นคง สภาผู้แทนราษฎร ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล วันนี้มีผู้แทนของเหล่าทัพมาด้วย โดยการพูดคุยเป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดี ซึ่งทางคณะกรรมการได้มาสอบถามภารกิจในหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่มีผลกระทบกับประชาชน
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมได้ชี้แจงไปหลายประเด็นรวมถึงเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดย กมธ.ความมั่นคง ให้ข้อเสนอแนะว่ากระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพควรจะปรับอะไร ซึ่’ก็รับได้ และถือว่าเป็นประโยชน์ และจะหาแนวทางในการปฏิบัติต่อไป
ด้าน นายโรมกล่าวว่า ต้องขอบคุณ รมว.กลาโหม ซึ่งคณะกมธ.ได้ประโยชน์และมีหลายคำถามทั้งเรื่องที่ดินของกองทัพ และได้รับคำอธิบายที่ดี และ รมว.กลาโหม ก็ให้ทิศทางที่ชัดเจน สุดท้ายก็ต้องไปใช้วันแมพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อน ซึ่งชาวบ้านที่อยู่มาก่อน จะได้เอกสารสิทธิ์ ที่จะมีโอกาสดำเนินชีวิตต่อไป ส่วนใครที่ไม่ได้อยู่มาก่อน ได้สิทธิ์การเช่าที่เป็นช่องทางในการทำมาหากิน ก็เห็นทิศทางที่ดี
ส่วนปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีความคิดเห็นในเรื่องของการใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งทางกมธ.ก็เข้าใจมากขึ้น และกองทัพอาจจะมีความรู้สึกว่ายังจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษอยู่ แต่อย่างน้อยคำสัญญาในปี 2570 ในทุกๆ อำเภอต้องยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ ถือเป็นเรื่องที่รอคอย ส่วนปฏิบัติการไอโอนั้น ทางกองทัพก็ให้คำสัญญา โดยนายสุทิน ได้พูดเองว่า จะกวดขัน จะไม่ให้มีปฏิบัติการไอโอ คิดว่าเป็นสัญญาณเชิงบวก
@ไอโอพีอาร์ได้ แต่อย่าด้อยค่า
"ผมได้ฝากเรื่องไอโอ ไว้เป็นพิเศษ ที่ไม่อยากให้มีผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งทางคณะกรรมาธิการของเราหลายคน ที่มีประสบการณ์ของไอโอ เราก็พยายามที่จะอธิบายว่ามีผลกระทบอย่างไร ก็คงต้องติดตามกันต่อไป ว่าสุดท้ายการแก้ปัญหาจริงๆ แล้ว จะได้ประมาณไหน ทางคณะกรรมาธิการเราก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่ก็ให้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเราก็ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาโดยทันทีหรือไม่ด้วยบรรยากาศ คงไม่ขนาดนั้น แต่เมื่อผ่านไปซักระยะหนึ่ง เราก็คงไปติดตามในการทำงาน"
ทั้งนี้ ตนไม่อยากจะพูดว่าการทำไอโอหนักขึ้นหรือเบาลง เพียงแต่ว่า จะเห็นการหยิบยกการพรีเซนต์ของผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งก็ได้รับคำชี้แจงมาว่าไม่ได้ด้อยค่าใคร ซึ่งก็คาดหวังว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น ถ้าจะเป็นในลักษณะการประชาสัมพันธ์ กมธ.เข้าใจ แต่ถ้าเป็นในลักษณะที่เป็นไอโอดำหรือไอโอเทา คือเป็นการด้อยค่าสร้างมลทินให้กับศัตรูทางการเมือง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ เลยฝากกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยท่านก็รับปากว่าจะคุยกันในเรื่องนี้
@เรือดำน้ำ ยังต้องคุย
ส่วนปัญหาเรือดำน้ำยังอยู่ในกระบวนการและมีข้อแลกเปลี่ยนและเข้าใจว่าทางกองทัพ เข้าใจความกังวลใจของสังคมต่อเรื่องนี้และวันนี้เราเห็นทิศทาง ที่ยังอยู่ในกระบวนการเจรจา ซึ่งในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคง ได้เสนอว่า ภาคส่วนสังคมเข้าใจสุดท้ายในเรื่องของเรือดำน้ำ หากไม่ได้เครื่องยนต์ของเยอรมัน ก็อาจจะใช้รูปแบบ หาอาวุธประเภทอื่นที่ไม่เกินกรอบวงเงินทดแทน
นายโรม ยังระบุอีกว่า ทางกระทรวงกลาโหมยังยืนยันถึงความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญและมีความจำเป็นที่จะต้องมีในอนาคต ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้เพื่อ กมธ.ความมั่นคง ได้เข้าใจมากขึ้น ยอมรับอีกว่า เรื่องเรือดำน้ำที่ได้มาพูดคุยดังกล่าวนี้ เข้าใจว่าเป็นเรื่องยาก ซึ่งอาจจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เข้ามา แต่ก็ได้เสนอแนะไปแล้ว โดยทาง นายสุทิน กล่าวว่า จะให้มีผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นยังอยู่ในกระบวนการเจรจา
สำหรับการเกณฑ์ทหาร ได้เห็นทิศทางเชิงบวกว่ากองทัพต้องการที่จะลดจำนวนทหารเกณฑ์ ซึ่งในอนาคตเราคาดหวัง จะไม่มีการเกณฑ์ทหารอีกต่อไป แต่ความท้าทายสำคัญก็คือเรื่องความยั่งยืน ซึ่งต้องฝาก รมว.กลาโหม
"ผมเชื่อว่าพี่สุทินทำได้แน่นอน ซึ่งเราน่าจะมีความใกล้ชิดกันในเรื่องของทิศทางความมั่นคง ส่วนปัญหาอื่นๆ เช่น ป่า ปัญหาเสียงดังของการซ้อมยิงของทหารเรือ ก็ฝากไว้กับพี่สุทิน และกองทัพ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป โดยภาพรวมทั้งหมด เราได้รับเกียรติจากกระทรวงกลาโหม โดยทางพี่สุทินเชิญผู้บริหารของเหล่าทัพต่างๆ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราได้มีการพูดคุยกันต่อไป และในอนาคตข้างหน้าปัญหาชายแดน การค้ามนุษย์ต่างๆ ต้องหวังว่าวันนี้เป็นการเริ่มต้นจะนำไปสู่การสร้างช่องทางการสื่อสารรวดเร็ว เพื่อที่จะแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นให้ประชาชน ผมต้องขออนุญาตใช้บริการกองทัพโทรหารวดเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนต่อไป ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อไปแน่นอน เพราะผมมีเบอร์โทรส่วนตัวของพี่สุทินอยู่แล้ว" นายรังสิมันต์กล่าว
ในขณะที่ นายสุทิน ย้ำว่า ได้สั่งให้รวบรวมเบอร์ของผู้แทนเหล่าทัพเกี่ยวข้องกับงานด้านต่างๆ ให้กับ กมธ.ความมั่นคง เพื่อใช้เป็นอีกช่องทางในการประสานงาน
ที่มาข่าว: แนวหน้าออนไลน์
ภาพ: Wassana Nanuam