ผู้รายงานพิเศษ UN 6 คณะ ส่งหนังสือถึงรัฐไทย เรียกร้องให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีขาดความรับผิด-มาตรการคุ้มครองต่อการข่มขู่คุกคามทางออนไลน์ต่อ 2 นักสิทธิมนุษยนชนหญิง 'อังคณา-อัญชนา'
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2566 องค์กร Protection International (PI) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 คณะผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ 6 คณะ ได้ส่งหนังสือ (ลำดับที่ AL THA 3/2023 ลงวันที่ 18 ส.ค. 2566) ถึงรัฐบาลไทย เพื่อให้รัฐบาลไทยชี้แจงข้อเท็จจริงจากการขาดความรับผิดและมาตรการคุ้มครองต่อการข่มขู่ และการคุกคามทางออนไลน์ ต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสองท่าน ได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ
ทั้งนี้คณะผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ 6 คณะประกอบด้วย คณะทำงานว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ และผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง สาเหตุ และผลลัพธ์
ในบางช่วงของหนังสือระบุว่า แม้ว่าศาลแพ่งกรุงเทพฯ จะมีคำพิพากษาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีรายงานว่า ศาลตระหนักว่าบุคคลทั้งสองได้รับผลกระทบจากการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ จากการทำหน้าที่ในฐานะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งสมควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐ และเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รายงานเกี่ยวกับการข่มขู่และคุกคามทางอินเทอร์เน็ตต่อ นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ สมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Expert- WGEID) และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของตน
ผู้รายงานพิเศษทั้ง 6 ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ต่อนางอังคณา นีละไพจิตร ซึ่งได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติที่ฟาร์มไก่ของบริษัทไทยแห่งนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้รายงานพิเศษได้นำเสนอ ในจดหมายที่ส่งถึงรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 (เลขที่ AL THA 3/2020) ด้วย
คณะผู้รายงานสหประชาชาติ ได้ตั้งคำถามรัฐบาลไทยโดยให้รัฐบาลระบุถึงมาตรการ ภายหลังจดหมายก่อนหน้านี้ ซึ่งรัฐบาลของไทยนำมาใช้เพื่อประกันว่า ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเก็บและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะสามารถดำเนินงานอันชอบธรรมของตนต่อไปได้ ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน โดยไม่ต้องกลัวต่อการข่มขู่หรือความเสี่ยงที่จะถูกตอบโต้และคุกคาม ทั้งออฟไลน์และออนไลน์
ทั้งนี้คณะผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ ยังได้มีคำถาม 5 ข้อถึงรัฐบาลไทยในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ให้รัฐบาลไทยระบุถึงมาตรการที่ได้นำมาใช้ เพื่อประกันให้เกิดความรับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงความจริง ความยุติธรรม การเยียวยา และการประกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำต่อ อังคณา นีละไพจิตร และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ และขอให้รัฐบาลไทยระบุถึงมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมที่นำมาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการโจมตีทำร้ายด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงให้รัฐบาลไทย ระบุถึงมาตรการที่นำมาใช้เพื่อคุ้มครองบูรณภาพทางกายและใจของ อังคณา นีละไพจิตร และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ เมื่อคำนึงถึงการข่มขู่และคุกคามที่เกิดขึ้นกับพวกเธออย่างต่อเนื่อง
“แม้เราไม่ประสงค์จะตัดสินล่วงหน้าเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อกล่าวหาเหล่านี้ เราขอแสดงความกังวลต่อรายงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการข่มขู่และคุกคามทางอินเทอร์เน็ตด้วยเหตุผลด้านเพศสภาพ ต่อ อังคณา นีละไพจิตร และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ ซึ่งเป็นการขัดขวางความพยายามที่จะใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพด้านการชุมนุมอย่างสงบ การสมาคม การแสดงความเห็น และการแสดงออกของพวกเธอ รวมทั้งสิทธิที่จะปลอดจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ” คณะผู้รายงานกล่าว
ทั้งนี้ ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ได้มีหนังสือตอบกลับผู้รายงานพิเศษทั้ง 6 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ว่าได้รับหนังสือของคณะผู้รายงานพิเศษ สหประชาชาติแล้ว และจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยหนังสืบตอบกลับไม่ได้ตอบข้อคำถาม หรือชี้แจงข้อห่วงกังวลของคณะผู้รายงานพิเศษแต่อย่างใด
น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กร Protection International กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีมากที่ผู้ถืออาณัติของวิธีพิจารณาวิสามัญคือผู้รายงานพิเศษ UN 6 คณะให้ความสนใจและมีคำถามมายังรัฐบาลไทย นั่นหมายถึงว่าต้องการให้มีการให้ความสนับสนุนให้เกิดการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯทั้งสองคน รวมถึงให้ระบุถึงมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมที่นำมาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการโจมตีทำร้ายด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนท่านอื่นๆด้วย
@ ไทยประกาศสมัครสมาชิก HRC ควรแสดงเจตจำนงในการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน
นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ สมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Expert- WGEID) กล่าวว่า นับเป็นเวลาหลายปีที่ต้องเผชิญกับการถูกคุกคามโดยรัฐไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการยุติการคุกคามในการทำงานในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ยืนเคียงข้างผู้เสียหายและไม่มีความรับผิดชอบใดๆต่อการละเมิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลอดหลายปีที่ผ่านมา หนังสือที่คณะผู้แทนพิเศษทั้ง 6 ส่งถึงรัฐบาลไทยถือว่ามีความสำคัญอย่างมากเพราะน่าจะเป็นครั้งแรก ๆ ที่ผู้รายงานพิเศษด้านต่างๆของสหประชาชาติพร้อมใจกันลงนามในหนังสือถึงรัฐบาลไทยเพื่อแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการคุกคาม การด้อยค่า การใส่ร้ายป้ายสี รวมถึงการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยทั้งออฟไลน์และออนไลน์
นางอังคณาระบุเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาได้เคยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหลายครั้งเพื่อให้หาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และยุติการคุกคามนี้ แต่หน่วยงานของรัฐกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด ทั้งที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้นำปัญหานี้มาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าหน่วยงานของรัฐอาจเป็นผู้สนับสนุนเว็บไซต์ pulony.blogspot.com ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ที่ใส่ร้ายป้ายสี ด้อยค่าและใช้เพศเป็นเครื่องมือในการลดทอนความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กรณีของตัวเองถือเป็นเสมือนยอดของภูเขาน้ำแข็ง เพราะมีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกมากมายที่เป็นเหยื่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดบางประการโดยเฉพาะความกังวลต่อผลกระทบต่อครอบครัวจึงทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงเหล่านี้ไม่กล้าแจ้งความหรือเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ ผลการถูกคุกคามยังส่งผลอย่างมากต่อสภาพจิตใจของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทำให้พวกเธอรู้สึกไร้อำนาจและไร้คุณค่า
“ในฐานะที่ประเทศไทยประกาศตัวเพื่อสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ (HRC) ในปี 2568 ประเทศไทยจึงควรแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังที่ได้ให้คำมั่นต่อประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน UPR ทั้งนี้ รัฐบาลไทยต้องไม่อดทนต่อการใส่ร้ายป้ายสี และการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และต้องมีมาตราเร่งด่วนที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการยุติการคุกคาม และมีการชดใช้การเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น” นางอังคณา กล่าว
@ คณะผู้แทนพิเศษทั้ง 6 ส่งหนังสือถึงรัฐไทยทำให้ศาลไทยเข้าใจถึงกลไกระหว่างประเทศ
น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ระบุเช่นกันว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีองค์กรระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหประชาชาติให้ความสำคัญกับการทำงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และได้เน้นย้ำในเรื่องของความยุติธรรมที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจะต้องได้รับทั้งในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยา ซึ่งในกระบวนการต่อสู้ที่ผ่านมาที่เรายังขาดอยู่มันสอดคล้องต่อการลุกขึ้นมาเรียกร้องของเราด้วย
ส่วนกรณีที่ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ได้มีหนังสือตอบกลับผู้รายงานพิเศษทั้ง 6 คณะโดยไม่ได้ตอบข้อคำถามหรือชี้แจงข้อห่วงกังวลของคณะผู้รายงานพิเศษแต่อย่างใดแต่ระบุเพียงว่าจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปนั้น น.ส.อัญชนากล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ตระหนักถึงคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับสหประชาชาติโดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ต่อการสื่อสารกับสหประชาชาติ กระทรวงยุติธรรมที่จะต้องดำเนินการเพื่อชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายต่างๆ มันแสดงให้เห็นถึงกลไกของระบบของความไม่รับผิดชอบและการไม่รับผิดใดๆ ของรัฐในประเทศไทยถึงแม้ ซึ่งเราจะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้รัฐปรับปรุงในสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสังคมที่ดี
น.ส.อัญชนา กล่าวย้ำว่า หนังสือที่คณะผู้แทนพิเศษทั้ง 6 ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยส่งผลดีในแง่ที่ทำให้ศาลไทยเข้าใจถึงกลไกระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เป็นการแทรกแซงระหว่างประเทศแต่ทำให้องคาพยพของรัฐในประเทศไทยเข้าใจกลไกระหว่างประเทศมากขึ้น และทำให้รัฐมีความเป็นสากลมากขึ้น อยากบอกให้ทุกคนที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือผู้ที่ถูกละเมิดโดยรัฐลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเองเพื่อที่จะทำให้ความรับผิดชอบของรัฐเกิดขึ้น ทำให้รัฐเปลี่ยนแปลงเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคมต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น
@ ที่มาการส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย
นางอังคณา นีละไพจิตร และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ได้ถูกข่มขู่คุกคามและใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์และออฟไลน์จากการปฎิบัติหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน โดยนางอังคณาถูกบริษัทธรรมเกษตร จำกัดฟ้องคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณากรณีที่ออกมาทวิตสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนให้กับแรงงานข้ามชาติในบริษัทฟาร์มไก่แห่งนี้ ซึ่งในคดีดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกฟ้องและยังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ในการต่อสู้คดี
จากการทำงานร่วมกับองค์กร Protection International และทีมทนายความ นางอังคณา และน.ส.อัญชนา ยังได้ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล กอ.รมน. และกองทัพบก เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กรณีสนับสนุนการทำไอโอเพื่อด้อยค่า เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทางโลกออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com
โดยคดีดังกล่าวนี้แม้ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ได้รับรองว่าทั้งสองเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและรับรองว่าการดำเนินการของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับความคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศ โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลการละเมิดหรือข้อความทั้ง 13 โพสต์ในเว็บไซต์พูโลนี (pulony.blogspot.com) ตามคำฟ้อง ศาลเห็นว่าเป็นถ้อยคำที่โพสต์โดยไม่สุจริต เป็นการใส่ความ ทำให้นางอังคณา และน.ส.อัญชนาได้รับความเสียหาย และรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเยียวยาความเสียหายเมื่อมีการละเมิดละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยคดีดังนี้อยู่ในชั้นการยื่นอุทธรณ์เช่นกัน
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้รับรายงานเกี่ยวกับคดีและการคุกคามต่างๆที่เกิดขึ้นกับสองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในวันที่ 24 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมาคณะผู้รายงานพิเศษของ UN ทั้ง 6 จึงส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงใน 5 ประเด็นสำคัญที่จะต้องแก้ไขปัญหาการคุกคาม 2 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้รัฐบาลไทยส่งคำตอบกลับไปยังผู้รายงานพิเศษภายในเวลา 60 วัน (นับแต่วันที่ออกหนังสือ โดยหลังจากนั้นหนังสือของคณะผู้รายงานพิเศษทั้ง 6 จะเผยแพร่สาธารณะ ผ่านเว็บไซต์ขององค์การสหประชาชาติ ข้อมูลดังกล่าวยังจะถูกรวมอยู่ในรายงานที่ผู้รายงานพิเศษยื่นต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต่อไปอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
PI เผยสถิติฟ้องปิดปากนักสิทธิฯหญิง ปี 57-65 มีอย่างน้อย 570 คดี พร้อมเสนอรบ.ใหม่ยุติ SLAPP