Protection International เผยสถิติคดีฟ้องปิดปากปี 2557-2565 มีอย่างน้อย 570 คดี พร้อมจัดเสวนา ‘ข้อเสนอจากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถึงรัฐบาลใหม่ ทำอย่างไรจะยุติฟ้องปิดปากประชาชน’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2566 องค์กร Protection International (PI) จัดเสวนา ‘ข้อเสนอจากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถึงรัฐบาลใหม่ ทำอย่างไรจะยุติฟ้องปิดปากประชาชน’ ณ โรงแรม ไอบิส รัชดา
องค์กร Protection International เปิดเผยสถิติคดีฟ้องปิดปากและใช้กระบวนการยุติธรรมคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย หลังจากรัฐประหาร ปี 2557-2565 พบว่ามีผู้หญิงโดนคดีฟ้องปิดปากมีอย่างน้อย 570 คดี ทั้งนี้ยังมีคดีมากกว่านี้แต่ต้องใช้เวลาเพิ่มในการเก็บข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการฟ้องโดยบริษัทเหมืองแร่ ปาล์มน้ำมัน ภาคธุรกิจและหน่วยงานของรัฐ โดยฐานความผิดใน 570 คดีมีดังนี้
1. คดีละเมิด เรียกค่าเสียหาย ฟ้องขับไล่ 217 คดี
2. คดีบุกรุก ทวงคืนผืนป่า กฎหมายป่าไม้ 159 คดี
3. คดีพรก.ฉุกเฉิน 47 คดี
4. คดีหมิ่นประมาท พรบ.คอมพิวเตอร์ 41 คดี
5. คดีขัดคำสั่ง คสช. 3/58 33 คดี
6. คดีพรบ.ชุมนุม 33 คดี
7. คดีฐานความผิดข่มขืนใจ 16 คดี
8. คดีสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ 11 คดี
9. คดีฐานทำให้เสียทรัยพ์ 8 คดี
10. คดีพรบ.คนเข้าเมือง 3 คดี
11. คดีถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเนื่องจากคนในครอบครัวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนในครอบครัว 2 คดี
นางสาวปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กร Protection International กล่าวว่า ต้องการเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ให้มีสถานะเป็นกฎหมาย และมีตัวชี้วัดว่าใครเป็นผู้เข้าร่วม มีระดับในการตัดสินในโยบายอย่างไร ทำอย่างไรให้มีการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ์
@ อยากเห็นความจริงใจของรัฐบาลใหม่ในการยุติการฟ้องปิดปากประชาชน
นางอังคณา นีละไพจิตร
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีต กสม.และผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ สมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ กล่าวว่า คดีที่ตนเองถูกฟ้องถือเป็นคดีประวัติศาสตร์การฟ้องกลั่นแกล้งในประเทศไทย เป็นที่คดีธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเริ่มที่บริษัทอุตสาหกรรมฟาร์มไก่ฟ้องแรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้าง 14 คน ฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน นักวิชาการ รวมถึงอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 22 คน รวม 37 คดี ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมากในช่วงที่รัฐบาลไทยประกาศแผนปฏิบัติการชาติเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 2 (NAP 2) และประกาศให้ความสำคัญกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่กลับพบว่าการฟ้องคดีกลั่นแกล้ง หรือฟ้องปิดปากกลับมากขึ้น และไม่มีแนวโน้มลดลงการฟ้อง ในลักษณะดังกล่าวนี้ตนขอเรียกว่าเป็นการฟ้องทิพย์ คือการฟ้องที่ไม่ได้หวังผลเรื่องความยุติธรรม แต่เป็นการฟ้องเพื่อยับยั้งการทำงานและลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้ถูกฟ้อง อีกทั้งเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทำให้หวาดกลัว ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและด้านจิตใจด้วย ส่วนแผน NAP 2 ขอเรียกว่าเป็นแผนทิพย์ เพราะยังไม่มีกลไกในการคุ้มครองที่แท้จริง
“เวลาเปลี่ยนรัฐมนตรี เราก็มักจะมีความหวัง ตอนมีแผนปฏิบัติการชาติก็ดีใจ แต่สุดท้ายก็ผิดหวัง ก็คงต้องดูต่อไป การให้ความสำคัญกับเรื่อง ธุรกิจกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่การจัดงานอีเว้นท์ใหญ่ ๆ อย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐชอบทำ หรือแค่การประกาศเจตนา แต่ต้องลงมือทำจริง ก็อยากฝากถึงรัฐมนตรียุติธรรมคนใหม่ให้เข้ามาดูแลงานของกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างจริงจัง ในด้านของแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนด้วย อยากเห็นความจริงใจของรัฐบาลใหม่ในการยุติการฟ้องปิดปากประชาชน อยากเห็นการแก้ปัญหาโดยประชาชนมีส่วนร่วม ที่สำคัญ รัฐไม่ควรมองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นศัตรู หรือเป็นพวกที่คอยต่อต้าน ถ้าประชาชนไม่เดือดร้อน คงไม่มีใครมาเรียกร้องอะไร” นางอังคณา กล่าว
นางอังคณา กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นกระทรวงยุติธรรมควรหารือประธานศาลฎีกา ในการให้มีกฎหมายเพื่อยุติหรือยับยั้งการฟ้องที่ไม่สุจริต หรือฟ้องเพื่อต้องการกลั่นแกล้ง นอกจากนี้ขอฝากไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรมีบทบาทในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เช่น ควรร่วมสังเกตการณ์คดี หรือขอพบประธานศาลฎีกาเพื่อหารือเรื่องการฟ้องคดีเพื่อกลั่นแกล้งหรือเพื่อปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่แค่การทำรายงานข้อเสนอแนะ หรือแค่เพียงการทำงานร่วมกับเครือข่ายบางกลุ่ม แต่ไม่ได้เป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักการปารีส ที่เป็นหลักการสำคัญที่สถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติต้องยึดถือ
@ รัฐต้องป้องกันไม่ให้มีการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
นางสาวภรณ์ทิพย์ สยมชัย
นางสาวภรณ์ทิพย์ สยมชัย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย กล่าวว่า ในหมู่บ้านมีชาวบ้านถูกฟ้องร้องกว่า 30 คน 30 คดี ส่วนตนเองก็ถูกฟ้องปิดปากไป 6 คดี ซึ่งการฟ้องคดีปิดปากมีจุดมุ่งหวังแบบเดียวกันคือยุติและยับยั้งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ และกระบวนการฟ้องร้องก็ทำกันเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องจากนายทุนหรือรัฐ ตอนนี้จึงเท่ากับว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิต้องต่อสู้ทั้งกับทุนและรัฐด้วย นอกจากนี้ในส่วนของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในการต่อสู้คดี ยังมีปัญหาอีกมาก เวลาชาวบ้านจะไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก โดยเฉพาะในส่วนของการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรม ที่จะใช้ในการต่อสู้คดีเป็นเรื่องที่ยากลำบาก จากทั้งหมด 30 คดี ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมแค่เพียงคดีเดียว และมีการตั้งธงว่าชาวบ้านเป็นคนผิดในขณะที่ศาลยังไม่ได้ไต่สวนพิจารณาคดีเลย
“วันนี้เราจึงมีข้อเรียกร้องที่จะส่งไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ โดยรัฐจะต้องป้องกันไม่ให้มีการคุกคามข่มขู่และล่วงละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ที่รับผิดชอบในการคุกคามและละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการใช้กระบวนการทางกฎหมายและยุติธรรมในการกลั่นแกล้งและปิดปาก จะต้องรับผิดชอบและหากเจ้าหน้าที่รัฐล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องมีความรับผิดทางละเมิด ทั้งในทางการเงินทางกระบวนการยุติธรรมและทางการเมือง นอกจากนี้เรายังขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่มีข้อเสนอให้กระทรวงยุติธรรมแก้ระเบียบที่มีความยุ่งยากในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมด้วย” นางสาวภรณ์ทิพย์ กล่าว
@ 10 ข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่
นางสรารัตน์ เรืองศรี
นางสรารัตน์ เรืองศรี ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสหพันธ์เกษตรภาคใต้ กล่าวว่า สหพันธ์เกษตรภาคใต้ต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และความมั่นคงทางอาหาร ที่ผ่านมาสหพันธ์ฯ ถูกเอกชนใช้กระบวนการยุติธรรมในการฟ้องปิดปากกว่า 12 คดี โดยมีการคุกคามข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่โดยใช้กฎหมายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ถึงแม้ว่าสหพันธ์ฯ จะถูกคุมคามและเกิดความกลัว แต่ก็อดทน ไม่ถอยจะยืนหยัดต่อสู้ให้เกิดสิทธิ์ให้เข้าถึงที่ดิน และผลักดันให้รัฐดำเนินนโยบายโฉนดชุมชนต่อไป ทั้งนี้ขอให้รับบาลใหม่มีความจริงใจและจริงใจในแก้ไขปัญหาฟ้องปิดปาก โดยตระหนักถึงสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ดังนี้
1. รัฐบาลไทยต้องยุติใช้ความรุนแรง การข่มขู่การคุกคามและจับกุมผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในชุมชนโดยทันที รัฐต้องสนับสนุนสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินของตนเอง
2. ให้รัฐบาลไทยรายงานความคืบหน้าแผนปฏิบัติการตามที่ยูเอ็นชี้แนะ เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้ตอบคำถามตามแผนที่ยูเอ็นชี้แนะไว้
3. เสนอให้ศาลต้องพิจารณาคดีที่เสนอไปแล้ว ทั้งคดีที่ไม่มีความผิดตั้งพิจารณาใหม่อย่างเร่งด่วนและให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ
4. เสนอให้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีสถานะแค่กฎ เปลี่ยนเป็นกฎหมาย
5. มาตรา 161/1 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ศาลพิจารณาได้ว่าที่ผ่านมา มีการกลั่นแกล้ง ฟ้องเพื่อปิดปาก หรือหากฟ้องโดยไม่สุจริตใจ ให้ศาลสามารถไม่รับฟ้องได้ และอยากทราบคำนิยามของคำว่า 'ไม่สุจริตใจ'
6. มาตรา 21 ของระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ เปิดช่องให้อัยการสูงสุดสามารถใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีนั้น เป็นประโยชน์หรือเป็นการกลั่นแกล้ง ศาลสามารถไม่รับฟ้องได้เช่นกัน
7. หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานธุรกิจสามารถใช้การฟ้องคดีปิดปากมากลั่นแกล้งนักสิทธิมนุษยชนได้ พอศาลตัดสินว่าไม่ผิด คนฟ้องไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องกฎหมายการเอาผิดหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มีการฟ้องกลั่นแกล้ง จะต้องรับผิดชอบด้านการเงิน ด้านการเมืองและด้านกระบวนการยุติธรรม
8. ขอให้คดีหมิ่นประมาทไม่ควรเป็นคดีอาญา แต่เป็นแค่คดีแพ่ง
9. ขอให้ผู้มีส่วนได้เสียที่ทำงานธุรกิจและสิทธิมนุษยชนต้องกดดันรัฐบาลไทยและหน่วยงานธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ยุติการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
10. ขอให้คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ควรจะประเมินจุดอ่อนจุดแข็งเรื่องแผนปฏิบัติการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก่อนว่า มีประโยชน์หรือปกป้องคุ้มครองได้จริงหรือไม่ เพราะเรื่องนี้มีการประกาศแผนฉบับที่ 2 ออกมาแล้ว แต่ฉบับแรกมีประโยชน์หรือปกป้องคุ้มครองได้มากแค่ไหนนั้นยังไม่ได้มีการประเมิน
@ สส.เพื่อไทยรับปากนำเรื่องเข้าสภา ชี้ต้องเริ่มจากรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การออกมาเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเป็นเรื่องที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีการฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท ดังนั้นถ้ามีกฎหมายที่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้ ก็จะทำให้สามารถดำเนินการในสิ่งที่อยากบอกกับสังคมได้อย่างสบายใจมากขึ้น จะนำปัญหาเหล่านี้เข้าสู่สภาต่อไปทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเสนอกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผลักดันกองทุนยุติธรรมให้เกิดผลจริงๆ ซึ่งจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้เห็นด้วยว่าต้องเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยที่เห็นพ้องว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาต้องแก้ไข และต้องมี ส.ส.ร.จากประชาชนมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้ เชื่อว่าในอนาคตน่าจะแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา เพราะการลิดรอนสิทธิเกิดขึ้นในช่วงรัฐประหาร แต่ขณะนี้มีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นแล้ว จึงมั่นใจว่าเสียงประชาชนจะถูกรับฟังมากกว่าในอดีต
@ สส.ก้าวไกลชี้ต้องจริงจังกับการตรวจสอบผู้พิพากษา
นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว
นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกลว่า ก่อนมาเป็นสส. เคยเป็นนักป้องป้องสิทธิพลเมืองถูกดำเนินคดีมากกว่า 28 คดี บางคดีก็มีการยกฟ้องไปแล้ว อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่าบางคดีเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ผ่านมานาน ก็กลับมายกฟ้องไม่กี่เดือนมานี้ เห็นได้ชัดว่ามุ่งจะทำให้คนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เกิดความเหนื่อยล้าในการต่อสู้คดี อีกทั้งยังสร้างผลกระทบอย่างมากด้านจิตใจ นักต่อสู้หลายคนเกิดความเครียด กดดัน บางรายถูกตีตราจากสังคมไปแล้วว่า เป็นคนผิด
“มีความจำเป็นต้องจริงจังกับกลไกการตรวจสอบผู้พิพากษาในปัจจุบัน กรณีมีการเคลือบแคลบสงสัยในการทำหน้าที่ จำเลยสามารถร้องโดยผ่านกลไกลคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ กต. อย่างกรณีที่เราถูกคดีม.112 มีการเร่งรีบทำคดี เมื่อมีการร้องไป เมื่อท้วงถามความคืบหน้า กลับไม่มีการรายงานความคืบหน้ามา และเงียบหายไป ไม่เฉพาะคดีตนเท่านั้น อีกในหลายคดีก็เงียบกริบ จึงถึงเวลาแล้ว ที่กต.ต้องมาจากภาคประชาชน ไม่ใช่การคัดเลือกมาจากผู้พิพากษาแบบเดิม ” นางสาวชลธิชา กล่าว
นางสาวชลธิชา กล่าวต่อว่า เรื่องกฎมายปิดปากในกลไกของรัฐสภา เมื่อครั้งรัฐบาลชุดเดิมทางพรรคก้าวไกลมีการยื่นกฎหมายแก้ไขเข้าสู่รัฐสภา แต่สุดท้ายก็ถูกตีตกไป ยืนยันว่าจะเดินหน้ายื่นต่อรัฐสภาเพื่อแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีการทางแพ่งและอาญา กฎหมายอาญามาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 116 กรณียุยงปลุกปั่นที่ควรยกเลิกโทษหนักจากจำคุก 7 ปี เหลือ 3 ปี นอกจากนี้พรรคก้าวไกล มีแนวคิดที่จะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม เบื้องต้นเน้นไปที่ประชาชนนักต่อสู้ที่ถูกดำเนินคดีเป็นสำคัญ ไม่รวมกับเจ้าพนักงานที่กระทำความผิด ยืนยันว่าการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ไม่ใช่การเหมาเข่งเหมือนครั้งที่ผ่านมา ซึ่งตรงนี้ทางพรรคจะมีการพูดคุยอีกครั้งก่อนเสนอเป็นร่างกฎหมายต่อไป
@ รมว.ยุติธรรมร่วมฟังเสวนา พร้อมรับปากกลับไปติดตาม 570 คดี
พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง
พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า วันนี้มาในฐานะผู้รับฟัง ซึ่งปัจจุบันยังขาดกลไกเรื่องการคุ้มครองและช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามในส่วนของ 570 คดี ก็จะไปติดตามให้โดยให้ความยุติธรรม วันนี้คงไม่ได้มาแสดงนโยบายอะไร เพราะต้องรอการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11-12 ก.ย.นี้ก่อน ทั้งนี้เรื่องท้าทายของรัฐบาลคือการฟื้นฟูหลักนิติธรรมให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส เพราะหลักนิติธรรมคือการจำกัดอำนาจของรัฐบาล รวมทั้งการปราศจากคอร์รัปชั่นก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย กระทรวงยุติธรรมพร้อมรับฟังนักปกป้องสิทธิ์ทั้งหมด และมีแผนปฏิบัติการต่อไปโดยให้มีประชาชนมีส่วนร่วม