ราชกิจจานุเบกษาแพร่ระเบียบหลักเกณฑ์-วิธีการเรื่องร้องเรียนตำรวจ พ.ศ. 2566
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาแพร่ระเบียบคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ พ.ศ.2566
เพื่อให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำหรือไม่กระทำการ
ของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือพบเห็นข้าราชการตำรวจประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจสามารถใช้สิทธิร้องเรียนเหตุดังกล่าวต่อ ก.ร.ตร. ได้โดยสะดวก ไม่เป็นการสร้างขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และมติ ก.ร.ตร. ในการประชุมครั้งที่
15/2566 เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 จึงออกระเบียบคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการร้องเรียน ต่อคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ พ.ศ. 2566 ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ ว่าด้วย
หลักเกณฑ์และวิธีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ พ.ศ. 2566"
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในระเบียบนี้
"ผู้ร้องเรียน" หมายความว่า ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือพบเห็นข้าราชการตำรวจประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ และหมายความรวมถึงผู้ได้รับมอบอำนาจให้ร้องเรียนแทนด้วย
"เรื่องร้องเรียน" หมายความว่า เรื่องที่ผู้ร้องเรียน ร้องเรียนว่าข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำ
หรือไม่กระทำการอันมิชอบ หรือมีความประพฤติหรือปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ
หมวด 1 การยื่นเรื่องร้องเรียน
ข้อ 4 ผู้ร้องเรียนสามารถใช้สิทธิยื่นเรื่องร้องเรียนโดยทำเป็นหนังสือ ระบุถึง ประธาน ก.ร.ตร.
หรือกรรมการ ก.ร.ตร. โดยอย่างน้อยต้องมีรายการและลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อ ที่อยู่ หรือช่องทางติดต่อของผู้ร้องเรียน
(2) ชื่อ หรือตำแหน่งของผู้ถูกร้องเรียน
(3) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ถูกร้องเรียนได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียด
ที่เกี่ยวกับวัน เวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้เข้าใจเรื่องร้องเรียนได้ดี
(4) ใช้ถ้อยคำสุภาพ
(5) ลงลายมือชื่อผู้ร้องเรียน กรณีมอบอำนาจต้องทำเป็นหนังสือ
หนังสือร้องเรียนที่ไม่ปรากฎชื่อ ที่อยู่หรือช่องทางติดต่อของผู้ร้องเรียน และหรือไม่ลงลายมือชื่อ
ของผู้ร้องเรียน ถ้ามีข้อเท็จจริง พยานหลักฐานชัดแจ้งเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไปได้ ก็ให้รับเรื่องร้องเรียนไว้
ข้อ 5 การเสนอเรื่องร้องเรียนต่อ ก.ร.ตร. ให้กระทำได้ดังต่อไปนี้
(1) ยื่นโดยตรงต่อสำนักงาน ก.ร.ตร.
(2) ส่งจดหมายทางไปรษณีย์มายัง ก.ร.ตร.
(3) ร้องเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามที่ ก.ร.ตร. กำหนด
ข้อ 6 กรณีผู้ร้องเรียนมาร้องเรียนด้วยวาจาต่อ ก.ร.ตร. ให้เจ้าหน้าที่บันทึกเรื่องร้องเรียน
และให้ผู้ร้องเรียน ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน หากผู้ร้องเรียนยื่นสำเนาเอกสารประกอบเรื่องร้องเรียนให้ผู้ร้องเรียนรับรองสำเนาเอกสารนั้นด้วย
ข้อ 7 ให้ ก.ร.ตร. มอบหมายข้าราชการตำรวจในสังกัดสำนักงานจเรตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่
รับเรื่องร้องเรียน และตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเบื้องต้นให้ครบถ้วนตามข้อ 4
ข้อ 8 ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องร้องเรียนออกใบรับเรื่องให้ผู้ร้องเรียนไว้เป็นหลักฐาน โดยจะต้อง
มีข้อความแสดงถึงวัน เดือน ปีที่รับเรื่อง พร้อมช่องทางติดต่อหรือตรวจสอบผลการดำเนินการ
และลายมือชื่อผู้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีรับเรื่องร้องเรียนที่ส่งมาทางไปรษณีย์หรือวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีหนังสือหรือแจ้งทางโทรศัพท์หรือวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตอบยืนยันการรับเรื่องร้องเรียนให้ผู้ร้องเรียนทราบโดยเร็ว นับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน
หมวด 2 การตรวจและพิจารณาเรื่องร้องเรียน
ข้อ 9 เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนรับเรื่องร้องเรียนและบันทึกข้อมูล
ในสารบบรับเรื่องร้องเรียนแล้วให้ตรวจสอบจากสารบบว่าเป็นเรื่องที่เคยร้องเรียนมาก่อนและอยู่ในสารบบเรื่องร้องเรียนหรือไม่ หากเป็นเรื่องร้องเรียนซ้ำ ส่งเอกสารเพิ่มเติม ขอถอนเรื่อง หรือติดตามเรื่องในเรื่องที่เคยร้องเรียนมาก่อน ให้รวมกับเรื่องเดิมแล้วเสนอ ก.ร.ตร. เพื่อพิจารณาในการเสนอ ก.ร.ตร. พิจารณา ให้สรุปรายละเอียดให้ชัดเจนเพียงพอต่อการมีมติหรือคำสั่ง ว่าจะรับหรือไม่รับเรื่องร้องเรียน หาก ก.ร.ตร. พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อมูลรายละเอียดยังไม่ครบถ้วนตามข้อ 4 หรือไม่มีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอ ให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อ 10 เมื่อ ก.ร.ตร. พิจารณารับเรื่องร้องเรียนแล้ว ให้ดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์และ
วิธีการไต่สวนและพิจารณาตามที่ ก.ร.ตร. กำหนด
ข้อ 11 ในกรณีที่ ก.ร.ตร. พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยตรง จะส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยแล้วรายงานผลให้ ก.ร.ตร. ทราบก็ได้
ให้ผู้บังคับบัญชาที่ได้รับเรื่องไปดำเนินการทางวินัยตามหน้าที่และอำนาจ แจ้งการรับเรื่องให้
ก.ร.ตร. ทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน และเมื่อได้ดำเนินการทางวินัยเสร็จแล้ว
ให้แจ้งผลให้ผู้ร้องเรียนทราบ แล้วรายงานผลการดำเนินการทางวินัยให้ ก.ร.ตร. ทราบภายในสิบวัน
นับแต่วันที่มีคำสั่งลงโทษหรือคำสั่งยุติเรื่องรวมทั้งหนังสือว่ากล่าวตักเตือน
ข้อ 12 กรณีไม่รับเรื่องร้องเรียนไว้ดำเนินการ ให้เลขานุการ ก.ร.ตร. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
แจ้งผู้ร้องเรียนทราบ
หมวด 3 การจัดทำสารบบเรื่องร้องเรียนและสถิติ
ข้อ 13 เพื่อให้การบริหารงานเรื่องร้องเรียนเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเกิดผลสัมฤทธิ์
ให้สำนักงานจเรตำรวจโดยความเห็นชอบของ ก.ร.ตร. ดำเนินการดังนี้
(1) กำหนดแบบหนังสือหรือคำสั่ง
(2) กำหนดเลขเรื่องและสารบบเรื่องร้องเรียน โดยให้แยกสารบบเรื่องร้องเรียนออกจากสารบบ
งานสารบรรณทั่วไป
(3) กำหนดแนวทาง รูปแบบการจัดทำสถิติเรื่องร้องเรียน
(4) กำหนดหลักกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจัดทำข้อมูลหรือทะเบียนประวัติของผู้ถูกร้องเรียน
(5) กำหนดวิธีการ แนวทาง ขั้นตอน รวมทั้งจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
(6) ดำเนินการอื่นตามที่ ก.ร.ตร. มอบหมาย
ข้อ 14 ให้เลขานุการ ก.ร.ตร. กำหนดแนวทางและสถานที่ที่มีความปลอดภัยในการจัดเก็บสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง รวมทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
ข้อ 15 กรณีใด ๆ ที่ระเบียบฉบับนี้ยังไม่ครอบคลุมถึง ให้นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม
ก.ร.ตร. และเมื่อที่ประชุมมีมติเป็นประการใด ก็ให้นำไปใช้บังคับ
ข้อ 16 ให้ประธาน ก.ร.ตร. รักษาการตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2566
พลตำรวจโท สรศักดิ์ เย็นเปรม
ประธานกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ
สถานที่ตั้งของ ก.ร.ตร.
เลขที่ 701/701 ถนนรามอินทรา แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 11220