นายกฯแจง ครม.ไม่ได้หารือปมแต่งตั้ง ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ เป็น ‘ผู้ว่าฯ กฟผ.’ ขณะที่ ‘พีระพันธุ์’ เผยส่งเรื่องการแต่งตั้ง ‘ผู้ว่าฯคนใหม่’ ให้ 'กฟผ.' ยืนยันแล้ว ก่อนเสนอ ครม. อนุมัติตามขั้นตอน
....................................
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีการเสนอชื่อให้ที่ประชุม ครม. แต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ ว่า ในวันนี้ (16 ต.ค.) ครม. ยังไม่มีการหารือในประเด็นนี้
ด้าน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน กล่าวว่า เพิ่งได้รับเอกสารเกี่ยวกับข้อเสนอการแต่งตั้ง ผู้ว่าฯ กฟผ. เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา และเมื่อได้หารือกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ก็มีความเห็นว่าให้ส่งเรื่องการเสนอแต่งตั้ง ผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่ กลับไปให้ กฟผ.พิจารณายืนยันกลับมาอีกครั้ง และหากยืนยันกลับมาแล้ว ตนมีหน้าที่เสนอเรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ. ให้ ครม.เห็นชอบต่อไป
“ตอนได้ผมรับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น รมว.พลังงาน แล้ว ปรากฏว่าเอกสารที่เขาส่งกันไปกันมา เพื่อรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพิ่งมาถึงผมเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่วนเอกสารจะเดินไปมาอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่เพิ่งมาถึงผมอย่างเป็นทางการเมื่อ 27 ก.ย.2566 เอง และเมื่อมาถึง ผมก็เริ่มตรวจสอบ โดยเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2566 ผมได้เชิญท่านปลัดกระทรวงพลังงานและผู้เกี่ยวข้องชี้แจงเรื่องนี้
และต่อมาก็ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ว่า เรื่องนี้ (การแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ.) ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยรับเรื่องไปพิจารณาแล้วในช่วงเลือกตั้ง แล้วตอนนี้เขา (กกต.) ส่งเรื่องกลับคืน เพราะมีรัฐบาลใหม่ ผมจึงถามผู้เกี่ยวข้องว่า ต้องทำอย่างไร โดยได้รับคำตอบว่า รมว.พลังงาน มีหน้าที่แค่เพียงเอาเรื่องเข้า ครม. ไม่มีอำนาจหน้าที่จะตัดสินว่า จะเอาใครหรือไม่เอาใคร
ประเด็นต่อไป คือ เมื่อเรื่องนี้เคยเข้า ครม.มาแล้ว เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา เราก็ต้องไปดูว่า มติ ครม. ในวันนั้นว่าอย่างไร ถ้ามติ ครม. วันนั้น ยุติแล้ว ผมที่มาเป็น รมว.ในวันนี้ มีหน้าที่เอากลับเข้า ครม. แต่ปรากฏว่าเมื่อไปตรวจสอบ มติ ครม. เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2566 มติดังกล่าว บอกแต่เพียงว่า ครม.เห็นชอบ แต่ให้ส่งเรื่องไปให้ กกต. ให้ความเห็นชอบก่อน ก็แปลว่า มติ ครม. วันที่ 2 พ.ค.2566 เป็นมติที่มีเงื่อนไข ไม่ได้เห็นชอบ 100%
ผมจึงไปถามเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรณีอย่างนี้จะต้องทำอย่างไร ผู้แทนสำนักงานกฤษฎีกากฤษฎีกา รวมถึงเลขาธิการกฤษฎีกาที่ผมพบตอนประชุม ครม. บอกว่า เรื่องนี้ต้องส่งเรื่องกลับคืนไปที่ กฟผ. เพื่อให้ทางเขา (กฟผ.) ยืนยันกลับมาให้รัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเป็นรัฐบาลใหม่ว่า จะดำเนินการต่ออย่างไร หาก กฟผ. ยืนยันกลับมา เราก็เอาเข้า ครม. ซึ่งตอนนี้ผมส่งเรื่องกลับไปให้ กฟผ. หมดเรียบร้อยแล้ว และรอให้เขาไปพิจารณายืนยันมา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการตามขั้นตอน”นายพีระพันธุ์ กล่าว
เมื่อถามว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ว่าฯ กฟผ. หรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “ต้องไปถาม กฟผ. ไม่เกี่ยวกับผม ชื่อใครจะมา เขาเป็นคนพิจารณา ผมมีหน้าที่เอาเข้า ครม.เท่านั้นเอง ผมไม่ได้เป็นคนเลือกเอาคนนั้นคนนี้”
เมื่อถามต่อว่า มีนโยบายจะให้สรรหาผู้ว่าฯ กฟผ.ใหม่หรือไม่ นายพีระพันธุ์ ย้ำว่า “ไม่เกี่ยวกับผม เขาแค่ให้เขายืนยันมาว่าจะเอาอย่างไร เพราะผมเป็นรัฐบาลใหม่ และมติ ครม. ที่เคยมีไว้ มันไม่จบ”