‘โกศลวัฒน์’เผย อัยการ สคชจ. ลงพื้นที่ ช่วยเหลือ ครอบครัวเเรงงานไทยในอิสราเอลเเล้ว หลายจังหวัดหลัง อสส.มีหนังสือเวียน ชี้พบปัญหาหลายจุด เเต่ช่วยทุกมิติที่ทำได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ได้มีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ถึงสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ สคช.แจ้งเวียนแนวปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ระบุว่า ด้วยปรากฎข้อเท็จจริงตามสื่อสำนักต่างๆ ถึงสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้มีคนไทยได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และมีแรงงานไทยที่ทำงนอยู่ในประเทศอิสราเอลจำนวนกว่า5,000 คน แจ้งความประสงค์กับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ขอกลับประเทศไทยด้วย พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 23(1) กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจหน้าที่ด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน การคุ้มครองป้องกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน และตามประกาศคณะกรรมการอัยการ
เรื่อง การแบ่งหน่วยงานและการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ. 2563ข้อ 8(35) กำหนดให้ในส่วนกลางเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) และข้อ 8(61)สำหรับในต่างจังหวัดกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดและสาขา (สคชจ. และ สคชจ. สาขา) เป็นผู้รับผิดชอบให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแรงงานไทยและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าว
สำนักงานอัยการสูงสุดขอเรียนว่า เพื่อให้การดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปในทางแนวทางเดียวกัน จึงให้ สคชจ. และสคชจ. สาขา ดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ให้ สคชจ. และ สคชจ. สาขา ดำเนินการประสานงานไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อขอตรวจสอบรายชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล
2.เมื่อ สคชจ. และ สคชจ. สาขา ได้รับรายชื่อจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดแล้วให้ดำเนินการติดต่อเพื่อให้คำแนะนำและแจ้งสิทธิทางกฎหมายเฉพาะรายแก่ญาติหรือครอบครัวของแรงงานไทยนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้สินหรือการจัดการมรดก (ในกรณีที่เห็นสมควร ให้เข้าเยี่ยมและให้ขวัญกำลังใจ โดยจัดของที่ระลึกของสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน มอบให้แก่ครอบครัวของแรงงานไทยดังกล่าวด้วย)
3.ในกรณีที่ต้องออกเยี่ยมญาติหรือครอบครัวของแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ หาก สคชจ.
และ สคชจ. สาขา มีของที่ระลึก จำนวนไม่เพียงพอแก่การส่งมอบให้แก่ครอบครัวของแรงงานไทยดังกล่าว ให้ขอรับการสนับสนุนของที่ระลึกมายัง สคช. ในส่วนกลาง ต่อไป
4. กรณีที่ครอบครัวของแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล ยังไม่อาจทราบความเป็นอยู่ หรือไม่สามารถติดต่อแรงงานไทยรายใดได้ ให้ สคชจ. หรือ สคชจ. สาขา ให้ความช่วยเหลือโดยประสานงาน ไปยังกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ หรือให้ความช่วยเหลือ ครอบครัวของแรงงานไทยดังกล่าวในการจัดพิมพ์คำร้องขอรับความช่วยเหลือ โดยเข้าไปในระบบรับเรื่องร้องทุกข์ ในว็บไซต์ของกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ผ่านทางเว็บไชต์ https://ehelp.consulargo.th
5.กรณีที่ไม่อาจติดต่อกรมการกงสุลได้ หรือในกรณีที่ได้ติดต่อกรมการกงสุลแล้วแต่ข้อเท็จจริง มีความยุ่งยากซับซ้อน ให้ประสานงานมายังสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ เพื่อร่วมให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนรายนั้น ๆ ต่อไป
6.ให้ สคชจ. และ สคชจ. สาขา รายงานรายชื่อของแรงงานไทยในจังหวัดนั้น ๆ ที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล และผลการติดต่อทางโทรศัพท์หรือเข้าเยี่ยมให้ขวัญกำลังใจครอบครัวของแรงงานไทยดังกล่าว มายัง สคช. ในส่วนกลางต่อไปเป็นระยะจึงเรียนมาเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เปิดเผยว่าสำหรับ การช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัยจากอิสราเอล ว่าอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนหลายจังหวัด ได้ลงพื้นที่ติดต่อ ครอบครัวแรงงานไทยในอิสราเอล ประสานงานการให้ความช่วยเหลือ มีปัญหาที่พบแล้วเช่น
1.กู้ยืมเงินทั้งนอกระบบและในระบบเพื่อไปทำงานอิสราเอล บางรายใช้หนี้หมดแล้วแต่ปัญหาของรายที่ยังใช้หนี้ไม่หมดยังคงเป็นหนี้อยู่แต่ตอนนี้ต้องหยุดงานแล้ว เจ้าหนี้ที่เมืองไทยทวงหนี้แล้วจะทำอย่างไร
2.ทุกเดือนทำงานแล้วได้ค่าแรงจากอิสราเอลส่งมาให้ทางบ้าน ผ่อนไร่ ผ่อนนา ผ่อนบ้าน ผ่อนร้านค้าที่กู้มาสร้างค้าขาย ตอนนี้จะทำอย่างไรไม่มีรายได้ จะเอาเงินที่ไหนผ่อนต่อ จะโดนยึดไร่ ยึดนา ยึดบ้าน ยึดร้าน บังคับใช้หนี้หรือไม่เพราะไม่มีเงินผ่อนแล้ว
3.เป็นเสาหลักเลี้ยงดูครอบครัวส่งเงินมาจากอิสราเอล ทุกเดือนตอนนี้ไม่มีรายได้ ครอบครัวที่เมืองไทย จะทำอย่างไรดี
4.เสียชีวิตที่อิสราเอล แต่มีบัญชีเงินฝาก มีที่ดิน ทรัพย์สินอยู่ที่เมืองไทยจะทำอย่างไรทางบ้านจะเอามาต่อชีวิตได้ มรณบัตรก็ยังออกที่เมืองไทยไม่ได้
5.ติดต่อไม่ได้หายตัวไปในอิสราเอล ปัญหาทางกฎหมายในประเทศไทยตามมา จะแก้ปัญหากันอย่างไร
ในส่วนแรงงานไทยที่ไปถูกกฎหมายมักมีประกันชีวิตซึ่งอัยการจะช่วยติดตามสิทธิประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันภัยให้ด้วย และมีกองทุนแรงงานที่ทำงานต่างประเทศอัยการก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับเงินชดเชยเยียวยาต่อไปด้วย
นายโกศลวัฒน์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ปัญหาชีวิตทุกชนิดของครอบครัวแรงงานไทยในอิสราเอลอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ยินดีเข้าช่วยแก้ปัญหา ยินดีเป็นคนกลางประสานงานหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแก้ปัญหา เป็นหนี้อัยการยินดีช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทขอขยายเวลาชำระหนี้ได้ เสียชีวิตหรือสูญหายในต่างประเทศ
อัยการช่วยติดต่อประสานงานระหว่างประเทศเพื่อนำเอกสารหลักฐานมาดำเนินการต่อในประเทศไทย ขาดเสาหลักของครอบครัวอัยการจะช่วยต่อศาลแรงงานจังหวัดให้คนที่อยู่เมืองไทยได้หางานทำชดเชยรายได้จากอิสราเอล ขัดสนจนไร้ที่อยู่ที่กิน อัยการจะช่วยประสาน หน่วยงานพัฒนาความมั่นคงและสังคมให้เข้าช่วยเหลือ ครอบครัวแรงงานไทยในอิสราเอลจะได้มีชีวิตที่เดินต่อไปได้ไม่ติดขัดติดต่อสายด่วนอัยการ 1157 หรืออัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ์ทั่วประเทศใกล้บ้านมีทุกจังหวัด อัยการเป็นมืออาชีพในการช่วยเหลือประชาชนช่วยคิดช่วยแก้ปัญหาได้ทุกกรณี
“ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่าเมื่อวานนี้ ทีมงาน สคชจ.อุดรธานี ได้ร่วมกับฝ่ายปกครอง หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ออกเยี่ยมให้คำปรึกษากฎหมาย สิทธิต่างๆ แก่ญาติผู้เสียชีวิตที่ทำงานที่ประเทศอิสราเอล รวม 7 ครอบครัว ในพื้นที่ 4 อำเภอ เเละยังมี สคชจ.น่านด้วย" นายโกศลวัฒน์ กล่าว