‘สุริยะ’ ให้นโยบายกรมทางหลวง พลิกโผ 17 โปรเจ็กต์ เร่งผลักดัน ทั้งมอเตอร์เวย์บางใหญ่, บางปะอิน, พระราม 2 โปรเจ็กต์ด่วนงบปี 67-ภูเก็ต และแผนระยะยาวอีก 6โครงการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 ตุลาคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายในการดำเนินงานแก่กรมทางหลวง (ทล.) โดยนายสุริยะกล่าวว่า กรมทางหลวง (ทล.) ถือเป็นหน่วยงานหลักของกระทรวง เนื่องจากเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่มีขอบเขตความรับผิดชอบมากทั้งในเรื่องของภารกิจ งบประมาณ และจำนวนบุคลากร อีกทั้งภารกิจของ ทล. ตามที่ได้มอบนโยบายไว้ ทั้งด้านการพัฒนาโครงข่ายทางถนนโดยเฉพาะถนนสายหลักที่เชื่อมภูมิภาคถึงภูมิภาค เชื่อมจังหวัดถึงจังหวัด เพื่อส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งด้านการเกษตร การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม
ดังนั้น กรมทางหลวงจะต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้กล่าวมา และได้มอบภารกิจดังนี้
1.ระบบขนส่งคมนาคมทางบกยังมีปัญหาอีกมาก ทั้งปัญหาจราจรติดขัด อุบัติเหตุ มลพิษ PM2.5 จึงต้องเร่งรัดโครงการถนนทางเลิอกเพื่อการขนส่ง โดยเฉพาะรูปแบบมอเตอร์เวย์ตามที่มีการควบคุมการเข้าออก ไม่มีจุดตัดทางแยก เป็นไปตามที่ได้มีการศึกษาไว้ โดยจะใช้ประโยชน์ในการเชื่อมต่อการเดินทางขนส่งสินค้าภูมิภาคต่อภูมิภาค และไปเชื่อมต่อถึงประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างโอกาสความสะดวกรวดเร็ว และความปลอดภัยในการขนส่งสินค้า
2.การพัฒนาโครงการก่อสร้างของกรม ต้องเน้นความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทาง ทั้งในระหว่างก่อสร้างและหลังเปิดใช้งาน จะต้องได้มาตรฐานทุกขั้นตอน
3. การบริหารงบประมาณและบริหารสัญญาโครงการต่างๆ จำเป็นต้องจัดเตรียมล่วงหน้าให้พร้อมทุกขั้นตอน ทั้งการจัดกรรมสิทธิ์เวนคืนที่ดิน, การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค, การสำรวจพื้นที่ก่อสร้างให้ตรงกับผลการศึกษาที่วางไว้ ก็เพื่อให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติ โดยเฉพสะในปีงบประมาณ 2567 ที่จะมีระยะเวลางบประมาณสั้นมาก จะเหลือประมาณ 3 เดือนในการเบิกจ่ายงบประมาณ
@เร่งรัด 3 มอเตอร์เวย์ 1.6 แสนล้าน
ส่วนการดำเนินงานของกรมที่จะให้ความสำคัญคือ จะเป็นแผนที่มีสัญญาอยู่แล้ว และอยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวน 3 โครงการ รวมระยะทาง 317 กม. วงเงินรวม 169,120 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 69,970 ล้านบาท ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (12 ตุลาคม 2566) จะลงพื้นที่ไปตรวจเร่งรัด แก้ไขปัญหาที่สถานที่ก่อสร้าง เพื่อให้งานก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้
โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 67,457 ล้านบาท, โครงการทางยกระดับบนถนนพระราม 2 และมอเตอร์เวย์ M82 สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ระบะทาง 35 กม. วงเงิน 31,693 ล้านบาท ซึ่งโครงการพระราม 2 เป็นโครงการที่มีปัญหาเกิดอุบัติเหตุกับประชาชนบ่อยครั้ง ดังนั้น เบื้องต้นจะสั่งการให้มีการก่อสร้างเฉพาะเวลากลางคืน อย่างไรก็ตาม จะให้กรมทางหลวงพิจารณาดูว่า จะปรับเปลี่ยนในการก่อสร้างอย่างไรต่อไปได้บ้างด้วย ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดใช้งานโครงการนี้ได้ช่วงกลางปี 2568, โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต และโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ซึ่งจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมและเร่งรัดติดตามการดำเนินการในโอกาสต่อไปเพื่อให้งานแล้วเสร็จ สามารถเปิดให้บริการได้ตรงเวลาตามแผนที่วางไว้
@เข็น 8 แผนทางหลวงเร่งด่วน 16,189 ล้านบาท
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทล.และเป็นโครงการภายใต้คำของบประมาณปี 2567 จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 10,785.74 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 835.74 ล้านบาท อยู่ระหว่างเจรจากับแหล่งเงินกู้เพื่อเตรียมหาผู้รับจ้างในปี 2566 และเริ่มก่อสร้างในปี 2567, โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ สายแยกทางหลวงหมายเลข 9 (บ้านบางเตย) - บรรจบทางหลวงหมายเลข 3214 (บ้านพร้าว) วงเงิน 6,450 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 103 สายอ.ร้องกวาง - อ.งาว - ตอนบ้านวังดิน - บ้านแม่ตีบหลวง วงเงิน 1,800 ล้านบาท , โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 และทางหลวงหมายเลข 410 (แยกตะลุโบ๊ะ) วงเงิน 900 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 สายโพนพิสัย - บึงกาฬ ตอนปากคาด - บ้านสมประสงค์ วงเงิน 800 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีโครงการใน จ.ภูเก็ต ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีต้องการเร่งรัด 3 โครงการวงเงิน 5,403.59 ล้านบาท ประกอบด้วย โครการขยาย 4 ช่องจราจรบนทางหลวงเลี่ยงเมืองหมายเลข 4027 ระยะทาง 4.55 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 510 ล้านบาท, โครงการพัฒนาถนนแนวใหม่ 4 ช่องจราจร กม. 18+850 – กม. 20+800 เชื่อมทางหลวงหมายเลข 4027 และท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะทาง 1.95 กม. วงเงินรวม 2,467.78 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงทางลอด บริเวณแยกอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร วงเงินรวม 2,425.81 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเร่งรัดให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จในปี 2567 และเริ่มก่อสร้างได้โดยเร็ว
@เปิดโผ 6 โปรเจ็กต์ระยะกลาง-ยาว
นอกจากนี้ นายสุริยะ ยังระบุว่า มีโครงการระยะกลาง ระยะยาว ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เช่น โครงการพัฒนามอเตอร์เวย์สายใหม่ที่ต้องเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้มีการลงนามสัญญาก่อสร้างได้ทันภายในรัฐบาลนี้ ได้แก่
1. โครงการส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ หรือมอเตอร์เวย์สาย M5 สายรังสิต - บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 32,045 ล้านบาท ที่จะเชื่อมไปถึงบางปะอิน คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบรูปแบบการลงทุนแล้ว อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดเสนอกระทรวงฯ และจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการต่อไป
2. การปรับปรุงศักยภาพบริเวณ Junction บางปะอิน ซึ่งจะเป็นจุดตัดของทางหลวงและมอเตอร์เวย์สายสำคัญหลายสาย ทั้งถนนพหลโยธิน ถนนสายเอเชีย มอเตอร์เวย์ M5, M6 และ M9 ซึ่งหากออกแบบไม่ดี จะสร้างปัญหาการจราจรติดขัดในอนาคต
3. โครงการโครงการมอเตอร์เวย์ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง (M9) หรือวงแหวนตะวันตก ระยะทาง 36 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท บอร์ด PPP เห็นชอบรูปแบบการลงทุนแล้ว อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดเสนอกระทรวงคมนาคม และจะเสนอครม.พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการต่อไป
4. โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ฝั่งตะวันออก ช่วงทล.32-ทล.305 ระยะทาง 70 กม. ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวน MR10 ในอนาคต ปัจจุบันโครงการนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
5. โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M8 สายนครปฐม - ชะอำ ระยะทาง 108 กม. วงเงิน 43,227 ล้านบาท
6. โครงการตามผลการศึกษา MR-MAP เช่น MR2 ช่วงแหลมฉบัง - โคราช
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดหน้าด่านเก็บเงินภายในระบบมอเตอร์เวย์แบบในอดีตต้องหมดไป ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระบบ Free Flow ไม่มีไม้กั้นแบบ M-Flow เป็นหลัก เพื่อให้การจราจรลื่นไหล ไม่เกิดปัญหาจราจรติดขัดเป็นคอขวดที่หน้าด่านเก็บเงิน ทั้งหมดนี้จะได้ติดตามการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ของ ทล. ผ่านระบบติดตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของกระทรวงฯ ที่ได้จัดทำระบบติดตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของหน่วยงานในสังกัดแล้วเสร็จ และได้สั่งการทุกหน่วยงานป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบ จึงขอให้ ทล. ให้ความสำคัญและมอบหมายผู้รับผิดชอบในการรายงานข้อมูลทั้งรูปภาพ วิดีโอ และข้อมูลตัวเลขแสดงความคืบหน้าของโครงการเข้าสู่ระบบให้ครบถ้วน พร้อมทั้งได้กำชับให้ผู้บริหารกำกับ ติดตาม ดูแลภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน และตอบสนองต่อความต้องการด้านการคมนาคมขนส่ง พัฒนาระบบการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ความปลอดภัย และความพึงพอใจในการเดินทาง
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินและส่วยสติกเกอร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญมาก ได้เน้นย้ำให้ ทล. ป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมระบุว่าในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะต้องไม่มีปัญหาส่วยสติกเกอร์ และจะลงพื้นที่เพื่อสุ่มตรวจการดำเนินการ ณ ด่านชั่งน้ำหนักด้วย สำหรับการรับคนไทยจากประเทศอิสราเอลเดินทางกลับประเทศไทย กระทรวงฯ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ทั้งด้านสนามบินและบุคลากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ