‘อนุทิน’ ประกาศร้อมสนับสนุนการทำงานของ ‘ชัชชาติ’ ชี้เรามาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนกัน ด้าน ‘ผู้ว่าฯกทม.’ กาง 3 กรอบทำงานร่วมกัน ‘ประสานร่วมมือมหาดไทย-ประสานหน่วยงานของมหาดไทย-จับมือ 6 จังหวัดปริมณฑล’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 2 ตุลาคม 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ร่วมรับฟัง
นายอนุทิน กล่าวว่า ดีใจมากที่ได้มาพบปะกับทุกท่านในวันนี้ กับท่านผู้ว่า (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก เรียนวิศวะเหมือนกัน และอีกหนึ่งความเหมือนกัน คือ "เราต่างมาจากการเลือกตั้งของประชาชน" ทุกการขับเคลื่อนนโยบาย จะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก”
@มท.หนูพร้อมหนุน ‘ชัชชาติ’
นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.ในยุคนี้ถือว่า โชคดีที่ได้อยู่ภายใต้การนำของผู้ว่าฯกทม.ที่มีความจริงจัง ทุ่มเท มีพลังในการขับเคลื่อน และมีบุคลากรที่มีความเป็นทีมสูง ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า จะสามารถพัฒนาเมืองไปได้ภายใต้ความท้าทายรอบด้าน แต่อย่างไรก็ดีความท้าทายสำคัญในการขับเคลื่อนงานของกทม.ก็คือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีจำนวนมาก และในเรื่องนี้รัฐบาลก็ตระหนักดี
นายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) จึงได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กันยายน 2566 แต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะทำงานด้วยตนเอง และมีตนเอง (อนุทิน ชาญวีรกูล) เป็นรองประธาน เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานประสานและส่งเสริมกันอย่างไร้รอยต่อ เชื่อว่า สิ่งนี้จะเป็นการริเริ่มที่ดี จะได้ทำงานอย่างใกล้ชิด และช่วยกันอุดช่องโหว่ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน และต่อจากนี้เราคงได้พบกันบ่อย ๆ ขอให้มั่นใจว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมสนับสนุนผู้ว่าฯ และกรุงเทพมหานครทุกเรื่อง ตราบใดที่ประชาชนได้ประโยชน์
“ผมใช้เขตอำนาจที่ตัวเองมีสนับสนุนภารกิจของผู้ว่าฯ กทม. ในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกรุงเทพมหานคร และพี่น้องชาว กทม. กระทรวงมหาดไทยเราทำงานกันอย่างเต็มที่ เราพร้อมที่จะเป็นเพื่อนที่ดีของท่าน เป็นเพื่อนร่วมงานที่จะให้ความร่วมมือทุกอย่างที่เรามีอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ทำงานร่วมกันให้ นโยบายของของ กทม. บรรลุวัตถุประสงค์ บรรลุเป้าหมายทุกประการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคน” นายอนุทินกล่าวทิ้งท้าย
@3 กรอบทำงานร่วม กทม.-มหาดไทย
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่าในการพบปะกัน มี 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน คือ
1. กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำกับดูแลและเป็นผู้เชื่อมโยง กทม. กับรัฐบาล เวลา กทม.มีอะไรก็ผ่านทางกระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก เช่น เรื่องรถไฟฟ้า BTS ต้องทำเรื่องผ่านกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งการกำกับดูแลการใช้งบประมาณต่างๆ ที่รัฐบาลให้มา รวมถึงนโยบายต่างๆ จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาที่กรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้กำกับดูแล
2.มีหน่วยงานอื่นภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทยหลายหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นกรมการปกครอง กรมป้องกันและบรรเทาสารณภัย องค์กรส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง ซึ่งทุกองค์กรจะมีผลต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนชาวกทม. จึงทำให้การประสานงานอย่างไร้รอยต่อเป็นเรื่องที่สำคัญ
และ 3. กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ติดต่อกับ 6 จังหวัด ประกอบด้วย นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และสมุทรสาคร การบริหารจัดการกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลภายใต้การกำกับดูแลของมหาดไทยจะทำให้มีผลเกี่ยวข้องกันในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสีย ขยะ การจราจร น้ำท่วม ดังนั้นการประสานงานระหว่าง 6 จังหวัดและกรุงเทพมหานครเป็นเรื่องสำคัญ การมอบนโยบายและตรวจราชการของคณะในครั้งนี้ จะทำให้การทำงานของเราไร้รอยต่อ และเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน