ประชุมงบรายจ่ายด้านคมนาคม-โลจิสติกส์ ‘สมศักดิ์-สุริยะ’ เคาะกรอบงบปี 67 ที่ 282,446.5164 ล้านบาท พบโผโปรเจ็กต์อื้อทั้งมอเตอร์เวย์-ไฮสปีดไทยจีนเฟส 2 - ทางคู่บ้านไผ่ถึงนครพนม - ทางคู่เด่นชัยถึงเชียงของ, ด่วยจตุโชติ, ด่วนภูเก็ต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 28 กันยายน 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์) ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาทบทวนและมีมติเห็นชอบร่างคำของบประมาณบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์) วงเงินรวมทั้งสิ้น 282,446.5164 ล้านบาท (สองแสนแปดหมื่นสองพันสี่ร้อยสี่สิบหกล้านห้าแสนหนึ่งหมื่นหกพันสี่ร้อยบาท)
เป้าหมายที่ 1 โครงข่ายคมนาคมขนส่งมีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงทั่วถึงอย่างไร้รอยต่อ จำนวน 11 หน่วยงาน วงเงิน 281,773.4179 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.76 ประกอบด้วย
สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 152.77 ล้านบาท , กรมทางหลวง (ทล.) 168,150.1365 ล้านบาท , กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 26,730.9073 ล้านบาท , กรมเจ้าท่า (จท.) 3,084.9464 ล้านบาท, กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 7,018.5245 ล้านบาท, กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 696.2188 ล้านบาท , กรมการขนส่งทางราง (ขร.) 18.9564 ล้านบาท , สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 136.9110 ล้านบาท , การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 17,268.6448 ล้านบาท , การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 15,457.28 ล้านบาท, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงิน 4,937.8743 ล้านบาท
มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M6 บางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา, M81 บางใหญ่ -กาญจนบุรี, โครงการทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1065 สาย อ.พรานกระต่าย - พิษณุโลก, โครงการพัฒนาทางและสะพานโครงข่ายทางหลวงชนบทสนับสนุนด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์, โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย, โครงการศูนย์ขนส่งชายแดน จ.นครพนม, โครงการปรับปรุงท่าอากาศยาน 27 แห่ง, โครงการทางพิเศษสายกระทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต , โครงการทางหลวงพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา, โครงการออกแบบรายละเอียดงานโยธาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค และโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม และสายเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ เป็นต้น
เป้าหมายที่ 2 การบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน และการอำนวยความสะดวกทางการค้า พร้อมด้วยการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล วงเงิน 673.0985 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.24 จำนวน 14 หน่วยงาน ได้แก่
กรมเจ้าท่า (จท.) 8.9576 ล้านบาท , สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 27.2 ล้านบาท, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 17.1 ล้านบาท, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) 31 ล้านบาท, สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) 87.3449 ล้านบาท, กรมวิชาการเกษตร 8.4 ล้านบาท, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 375 ล้านบาท, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 22.4258 ล้านบาท, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 95.0403 ล้านบาท, สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) 40 ล้านบาท, ม.พะเยา 20 ล้านบาท, ม.เชียงใหม่ 3.1 ล้านบาท, ม.บูรพา 2.95 ล้านบาท, ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 2.5 ล้านบาท
โครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนเพื่อรองรับงานNSW, โครงการออกแบบและพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto) ผ่านระบบ NSW, โครงการเสริมสร้างความสามารถการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน, โครงการส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์, การศึกษาเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของประเทศไทย, โครงการพัฒนามาตรฐานวิธีการทดสอบรองรับการผลิตชิ้นส่วนและระบบขนส่งทางรางร่วมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI), โครงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต, โครงการพัฒนามาตรฐานการวัดแห่งชาติเพื่อการสอบกลับได้ในการวัดสำหรับการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทย, โครงการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรม
โลจิสติกส์
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำสรุปข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุดและนำเสนอนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ตามขั้นตอนต่อไป
ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาจัดทำงบประมาณบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและ
ระบบโลจิสติกส์ ปี พ.ศ. 2567 นี้ ถือได้ว่า มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีโครงการสำคัญที่ได้พิจารณาเพิ่มเติมในคราวนี้ และมีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ทางเลี่ยงเมืองอ่างทอง โครงการขยายทางหลวงหมายเลข 3 ระยอง - บ้านเพ และโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวง แยกท่าเรือ จ.ภูเก็ต และก่อสร้างจุดตัดทางหลวง แยกแก่งเสี้ยนและแยกวังสารภี อ.เมือง จ.กาญจนบุรี และโครงการขยายท่าอากาศยานชุมพรและระนอง ซึ่งจะเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหา Missing Link และลดปัญหาคอขวด รวมถึงช่วยให้การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์บรรลุเป้าหมายเป็นไปตามตัวชี้วัดที่ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศให้ลดลง และเพิ่มอันดับดัชนีประสิทธิภาพโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (LPI) ของไทยให้สูงขึ้น โดยอยู่ภายใน 25 อันดับแรกในปี 2570