‘เศรษฐา’ แถลงผ่านเวทีระดมทุนเพื่อการพัฒนาของ UN แนะประเทศกำลังพัฒนาต้องมีบทบาทมากขึ้นทั้งในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ - ปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ชี้แก้จน-ลดโลกร้อน-การพัฒนา ควรไปด้วยกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 กันยายน 2566 เวลา 11:49 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา) ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการระดมทุนเพื่อการพัฒนา (Financing for Development : FfD) ในการประชุม High-Level Dialogue on Financing for Development ซึ่งเป็นกลไกระดับสูงในเวทีสหประชาชาติเพื่อขับเคลื่อนวาระดังกล่าว จัดขึ้นทุก 4 ปี ในห้วง High-Level Week ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “Financing the SDGs for a world where no one is left behind” มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการระดมทุนเพื่อการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้นั้น จำเป็นต้องได้รับเงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนา พร้อมเสนอให้ปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขับเคลื่อนเงินทุนเพื่อการพัฒนาอย่างครอบคลุม ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
ประการแรก ประเทศกำลังพัฒนาควรมีบทบาทสำคัญในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้งบประมาณที่จะนำไปใช้เพื่อความยั่งยืนสามารถไปเพื่อจัดการกับต้นทุนหนี้ที่สูงและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากหนี้ในประเทศกําลังพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศและ UNESCAP จะร่วมกันจัดเสวนาในหัวข้อ “Sustainable Finance: Bridging the Gap in Asia and the Pacific” ในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่กรุงเทพฯ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคอย่างครอบคลุมและทั่วถึง นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนการขยายธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (Multilateral Development Banks: MDBs) เพื่อส่งเสริมเงินทุนสำหรับใช้ก่อสร้างโครงการเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงเพื่อเป็นกลไกในการรับมือกับวิกฤตสภาพคล่องทางการเงินในภูมิภาคได้ดีขึ้น
ประการที่สอง การปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมุ่งเน้นที่การลดต้นทุนการทำธุรกรรม และการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ MSMEs และควรส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล ความโปร่งใส และกำกับดูแลเทคโนโลยีอุบัติใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการเงิน Financial Technology เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนา
ประการที่สาม การปกป้องสภาพภูมิอากาศ การพัฒนา และการลดความยากจนต้องดำเนินการไปด้วยกัน ดังนั้น การปฏิรูปควรตอบสนองต่อความต้องการในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในโครงการที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ และสอดคล้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเงินที่ยั่งยืน โดยประเทศไทยได้ออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bonds) และส่งเสริมความร่วมมือตราสารที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในตลาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 เพื่อนำมาพัฒนาโครงการเพื่อความยั่งยืนในหลายโครงการ และในปีหน้าจะมีการออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) เพื่อกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond market) รวมถึงจะมีการพัฒนากรอบ 'Thailand Taxonomy' เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการลงทุนและการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีหวังว่าแนวคิดและข้อเสนอแนะในการประชุมครั้งนี้ จะได้รับการต่อยอดในการประชุม UNGA78 และการประชุมระดับสูงอื่น ๆ รวมทั้งยืนยันความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุนความร่วมมือด้านการเงินเพื่อการพัฒนาร่วมกับนานาประเทศ และพร้อมมีส่วนร่วมในการหารือเพื่อออกนโยบายในประเด็นที่มีความสำคัญและเร่งด่วนอื่น ๆ