‘สุริยะ นับหนึ่งเป็นทางการ แบ่งงาน ‘มนพร-สุรพงษ์’ แล้ว เจ้าตัวดู ‘ทางหลวง-การทางพิเศษ-ทอท.’ ‘มนพร’ ดูทางน้ำ ‘สุรพงษ์’ รวบตึงรถไฟทั้ง รฟท.-รฟม. ก่อนสั่งการบ้านทุกหน่วยงาน ส่งโปรเจ็กต์ด่วน-งานร้อนต้องดันต่อสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 กันยายน 2566 ที่กระทรวงคมนาคม ถ.ราชดำเนินนอก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุมกับหัวหน้าหน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม เพื่อมอบนโยบายอย่างเป็นทางการ
นายสุริยะเริ่มต้นว่า กระทรวงคมนาคมในการบริหารยุคนี้ จะต้องเป็นกระทรวงคมนาคมยุคใหม่ที่สร้างความสุขให้ประชาชน ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และการอนุรักษ์รักษสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงจะต้องเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้ได้ ระบบการเดินทางทั้งทางถนน, ราง, น้ำ และอากาศ ที่รัฐบาลได้ทำไปจะต้องได้ใช้ศักยภาพให้เต็มที่ รวมถึงจะต้องลดการเกิดอุบัติเหตุจากทางถนนให้ได้ และที่เป็นประเด็นคือกรณีทางเลื่อนต่างๆในสนามบิน จะดูแลมิให้ซ้ำรอยกับอุบัติเหตุที่เป็นข่าวดังเมื่อเร็วๆนี้ โดยมอบหมายปลัดกระทรวงคมนาคมกำหนดมาตรการออกมา ขณะที่สิ่งแวดล้อม จะผลักดันให้มีการใช้ระบบขนส่งสาธารณะคือ รถไฟฟ้ามากขึ้น
@’สุรพงษ์’ รวบตึงระบบราง
ส่วนการแบ่งงานกันระหว่าง 3 รัฐมนตรี นายสุริยะกล่าวว่า ได้แบ่งงานให้นางมนพร ดูแล 5 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ กรมเจ้าท่า, การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), สถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และบจ.โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ขณะที่นางสุรพงษ์จะกำกับดูแล 8 หน่วยงานสำคัญคือ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) บจ.ขนส่ง (บขส.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บจ.เอสอาร์ที แอสเสท (SRT Asset) บจ.รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. (รฟฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบจ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.)
และในส่วนของตัวเอง จะดูแลหน่วยงานที่เหลือทั้งหมด 9 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม, กรมทางหลวง (ทล.), กรมทางหลวงชนบท (ทช.), กรมท่าอากาศยาน (ทย.), สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT), บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบจ.ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์ เอเชีย
@สั่งการบ้านหน่วยงานส่งโปรเจ็กต์ยักษ์ลงทุน สิ้นเดือนนี้
ในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือ เมกะโปรเจ็กต์ นายสุริยะตอบว่า สั่งการทุกหน่วยงานทำแผนงานและโครงการที่มีความเร่งด่วนนำเสนอกลับมาภายในเดือน ก.ย.นี้ และจะมีการลำดับความสำคัญต่อไป ส่วนจะทบทวนโครงการใดบ้างนั้น คิดว่าในส่วนแลนด์บริดจ์ที่เป็นโครงการใหญ่มากๆ ก็ต้องใช้เวลาพิจารณาอีกนาน เพราะกระทบสิ่งแวดล้อมและความคุ้มทุนในการลงทุน