‘รมช.คลัง' เผย นายกฯ ลงนามคำสั่งตั้งบอร์ดดูแล 'พักหนี้ -เงินดิจิทัลหมื่นบาท' ให้เวลาศึกษาแนวทาง-กรอบการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนเสนอ ครม.เห็นชอบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 13 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ว่า ที่ประชุม ครม. ได้หารือในเรื่องการพักหนี้เกษตรกร และมีการตกลงกันว่าจะพักหนี้ให้เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็กเป็นเวลา 3 ปี
ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเรื่องการพักชำระหนี้เกษตรกรและ SME นั้น โดยหลักการแล้ว จะให้พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เป็นเวลา 3 ปี ทั้งนี้ ครม.มอบหมายนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ไปแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินนโยบายพักหนี้ โดยให้เวลา 14 วัน แล้วให้กลับมาเสนอว่ากรอบและแนวทางการพักชำระหนี้ที่ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร
ส่วนเรื่องการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัล-วอลเล็ต นายกฯ ได้มอบหมายกระทรวงการคลัง โดย นายจุลพันธ์ รมช.คลัง เป็นเจ้าภาพในการกำหนดเงื่อนไข แนวทางและรายละเอียดทุกอย่าง และนำกลับมาเสนอ ครม.โดยเร็ว ซึ่งนายกฯย้ำว่า เรื่องนี้ประชาชนคอยความชัดเจนอยู่
ขณะที่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ตั้งคณะทำงานที่มีตนเป็นประธาน จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นระยะเวลา 3 ปี
และคณะกรรมการดิจิทัลวอลเลต เพื่อฟอร์มทีมและพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงต้องไปผ่านคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณา เพื่อส่งเข้า ครม.เพื่ออนุมัติ โดยนายกฯ ให้กรอบเวลาในการดำเนินการทั้ง 2 เรื่อง ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งตนรับภารกิจแล้วจะเร่งดำเนินการ
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า การดำเนินมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรนั้น จะไม่ใช่เป็นการพักหนี้ แต่จะมีกลไกอื่นๆ ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เสนอแนวคิดหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ในการต่อยอด เพราะเกษตรกรต้องเดินหน้าในเรื่องของอาชีพต่อไป แต่ในการพักหนี้ในอดีตที่ผ่านมา บางครั้งพักหนี้แล้ว แต่สภาพที่เป็นอยู่ไม่สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อไปต่อยอดอาชีพได้ จึงเป็นปัญหา
"เบื้องต้นจะมีนโยบายเข้าไปประกอบกับการพักหนี้ คือ การปรับโครงสร้างหนี้ และให้เกษตรกรมีรายได้ที่มากขึ้นเพื่อนำไปหักลบกับเงินต้นและดอกเบี้ยที่มีอยู่ เมื่อถึงเวลาพ้นจากภาระการพักหนี้แล้ว จะทำให้หนี้ที่มีอยู่ลดน้อยลง รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อประกอบอาชีพต่อไป
ขณะที่กระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องจะมีกลไกอื่นเข้าไปสนับสนุนในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าต่อไร่ การดูแลเรื่องการขายสินค้า การเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับต่างประเทศ ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตของเกษตรดีขึ้นได้อย่างแน่นอน" นายจุลพันธ์กล่าว
@ที่มาเงินหมื่นดิจิทัล ขอหารือก่อน
นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อยุติของแหล่งที่มาจากเงินที่จะมาทำในนโยบายดิจิทัลวอลเลตนั้น ขอเวลาทำงาน แต่จะไม่ให้เป็นภาระต่อหนี้สาธารณะ และไม่ได้ไปกู้ที่ไหนมา โดยมีช่องทางให้เลือก จะใช้งบประมาณเป็นหลัก แต่กลไกในเรื่องของไทม์ไลน์ ในเรื่องของความเหลื่อมเวลา ก็ต้องมีกลไกเข้ามารองรับ โดยคณะทำงานดิจิทัลวอลเลตจะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อหาคำตอบและวางไทม์ไลน์ต่างๆ ทั้งนี้ ยืนยันกับประชาชนว่า จะยึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างแน่นอน
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (14 ก.ย. 66) นายเศรษฐา จะเข้ากระทรวงการคลัง โดยนัดหมายกับหัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกำกับของกระทรวงการคลัง เพื่อประชุมในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว