สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดสัมมนา แจงข้อดีกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ยกเลิกไม่จ่ายค่าปรับต้องติดคุก-ไม่มีประวัติอาชญากรรมติดตัว-ลดภาระข้าราชการ หวังหน่วยงานรัฐนำกม.ไปใช้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย มีหัวข้อที่น่าสนใจดังนี้
@ ที่มาพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565
ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย กล่าวว่า ที่มาของพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 เกิดจากรัฐธรรมนูญมาตรา 77 การตรากฎหมายพึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะ 'ความผิดที่ร้ายแรง' ประกอบกับมีแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย จึงเป็นที่มาของกฎหมายฉบับดังกล่าว อีกทั้งกฎหมายฉบับข้างต้นยังยกเลิกการกักขังแทนการจ่ายค่าปรับ และไม่มีประวัติอาชญากรรมติดตัว
@ สาระสำคัญของการปรับเป็นพินัย
นางสาวธำรงลักษณ์ ลาพินี กรรมการร่างกฎหมายประจำ กล่าวว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ไม่ได้สร้างภาระให้กับข้าราชการเกินสมควร จึงอยากให้ทุกหน่วยงานหันมาใช้กฎหมายฉบับนี้มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กฎหมายการปรับเป็นพินัย ไม่ได้มีความแตกต่างกับกฎหมายเปรียบเทียบปรับมากนัก แต่จะลดขั้นตอนการดำเนินการที่มีความซับซ้อนให้น้อยลง
นางสาวธำรงลักษณ์ กล่าวต่อว่า การปรับเป็นพินัยไม่เป็นคำสั่งและการกระทำทางปกครอง จึงไม่อยู่ภายใต้อำนาจศาลปกครอง ดังนั้นศาลที่มีอำนาจในการสั่งปรับเป็นพินัยจะเป็นศาลอาญา เช่น ศาลแขวง ศาลจังหวัด เป็นต้น และไม่ใช่โทษทางอาญา การกำหนดระดับค่าปรับเป็นพินัยพิจารณาจากระดับความรุนแรงของความผิด สถานะทางเศรษฐกิจ ความรู้สึกผิดชอบ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กระทำผิด และผลประโยชน์ที่ผู้กระทำผิดหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำความผิด โดยค่าปรับเป็นพินัยสามารถผ่อนชำระได้ หรือถ้าไม่มีเงินชำระค่าปรับศาลสามารถสั่งให้ทำงานบริการสังคม โดยอายุความในการสั่งปรับหรือฟ้องมีระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่กระทำความผิด ยกเว้นกรณีที่กฎหมายบัญญัติความผิดทางพินัยกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น และมีระยะเวลาในการบังคับชำระค่าปรับ 5 ปี
ทั้งนี้ถ้าค่าปรับเกิน 10,000 บาทต้องตั้งองค์คณะ 3 คนขึ้นไป ไม่ต้องมีการกำหนดวาระการประชุม ไม่มีสิทธิ์รับเบี้ยประชุม นอกจากนี้ถ้าผู้กระทำผิดจ่ายค่าปรับให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแล้ว ถือว่าความผิดในกรรมอื่น ๆ จะยุติ ทำเช่นนี้เพื่อลดภาระโทษเฟ้อ
"ถ้าเปลี่ยนเป็นกฎหมายการปรับเป็นพินัยข้าราชการในหน่วยงานจะดำเนินการเพียงการแสวงหาข้อเท็จจริง ดำเนินการปรับ ส่งเรื่องให้อัยการและศาลตามลำดับ จะมีภาระงานในส่วนนี้ลดลง" นางสาวธำรงลักษณ์ กล่าว
นางสาวธำรงลักษณ์ กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือคำสั่งปรับว่า เมื่อเจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐาน รับฟังข้อโต้แย้งของผู้กระทำผิดตามขั้นตอนแล้ว ขั้นต่อไปก็จะเป็นการออกหนังสือคำสั่งปรับที่มีรายละเอียดดังนี้
- ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำความผิด
- อัตราค่าปรับที่กม.บัญญัติไว้ และจำนวนค่าปรับ
- ระยะเวลาชำระค่าปรับ ไม่น้อยกว่า 15 วันแต่ไม่เกิน 30 วัน
- กระบวนการที่จะดำเนินต่อไปถ้าผู้ทำผิดไม่จ่ายค่าปรับ
- สิทธิในการผ่อนชำระหรือยื่นคำร้องต่อศาลขอทำงานบริการสังคมแทนจ่ายค่าปรับ
- รายละเอียดอื่น ๆ แต่ละหน่วยงานเห็นสมควรเพื่อให้ผู้กระทำความผิดเข้าใจ
ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีแบบฟอร์มและแนวทางในการเขียนหนังสือคำสั่งปรับให้