สมอ. แจง การกำหนดมาตรฐานของระบบเบรกในรถจักรยานยนต์ต้องเป็นไปตามประกาศขนส่ง ส่วนเรื่องหมวกกันน็อกอยู่ระหว่างการสุ่มตรวจซ้ำและรอผลการทดสอบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีที่สภาผู้บริโภคส่งหนังสือถึงสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อติดตามการกำหนดมาตรฐานของระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ รวมถึงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมด้านราคา และการดำเนินการกับผู้รับใบอนุญาตที่ผลิตหมวกกันน็อกที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ให้ได้ใช้รถจักรยานยนต์ที่ติดตั้งระบบเบรกทุกคันในราคาที่เข้าถึงได้ รวมทั้งเข้าถึงหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐาน และนำหมวกกันน็อกที่ไม่มีมาตรฐาน ม.อ.ก ควบคู่คิวอาร์โค้ด และตกมาตรฐานการทดสอบออกไปจากท้องตลาดและทั้งนี้ ผู้บริโภคต้องตระหนักถึงความปลอดภัยและเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน
ล่าสุด สมอ. ได้ส่งจดหมายตอบกลับมายังสภาผู้บริโภค โดยชี้แจงว่า การกำหนดมาตรฐานของระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ มีประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เลขที่ มอก. 2306-2563 ห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์แล้ว และปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำกับดูแลเบรกของรถจักรยานยนต์ โดยมีประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2564 กำหนดให้รถจักรยานยนต์ทุกรุ่นต้องติดตั้งระบบเบรกเอบีเอส และ/หรือ ระบบเบรกซีบีเอส
ส่วนการดำเนินการกับผู้รับใบอนุญาตที่ผลิตหมวกกันน็อกที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานนั้น สมอ. ได้ดำเนินการเข้าตรวจควบคุมผู้รับใบอนุญาตที่มีผลการตรวจสอบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจสอบ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหมวกกันน็อกสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ (มอก. 369-2557) ทุกรายการที่อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลการทดสอบ หากได้รับผลการทดสอบแล้วจะแจ้งให้สภาผู้บริโภคทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นเรื่องการติดระบบเบรกเอบีเอสนั้น สภาผู้บริโภคยืนยันว่าการมีระบบเบรกเอบีเอสเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะช่วยลดการลื่นไถล ลดอุบัติเหตุ รวมถึงอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ลงได้ จึงเสนอให้ สมอ. พิจารณาการกำหนดมาตรฐานให้รถจักรยานยนต์ทุกรุ่นต้องติดตั้งระบบเอบีเอส
ส่วนเรื่องหมวกนิรภัยนั้น สภาผู้บริโภคจะยังติดตามและเฝ้าระวังการวางจำหน่ายหมวกกันน็อกตกมาตรฐานต่อไป ทั้งนี้ อยากรณรงค์และเชิญชวนผู้บริโภคทุกคนที่ขับขี่หรือต้องใช้บริการรถจักรยานยนต์ร่วมกันสวมหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งช่วยรายงานหากพบหมวกกันน็อกไม่มีเครื่องหมายรับรอง หรือไม่ได้มาตรฐานให้หมดไปจากตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้ทุกคน ได้สวมใส่หมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐาน และเชิญชวนทุกคนติดตามแคมเปญ #saveหัวกันน็อก ของสภาผู้บริโภคได้ที่ช่องทางประชาสัมพันธ์ของสภาผู้บริโภค เร็ว ๆ นี้