กสม. จัดกิจกรรมพลังภาคีเครือข่ายประกาศเจตนารมณ์ ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเสนอ 5 ประเด็นต้องแก้ปัญหาสิทธิทั้งเรื่อง กระบวนการยุติธรรม,สิทชุมชนและสิ่งแวดล้อม,สถานะการเลือกบุคคล,ขจัดการเลือกปฏิบัติ,แก้ปัญหาความรุนแรงครอบครัว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 23 - 24 สิงหาคม 2566 ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงาน “สมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566” ภายใต้แนวคิด “75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรี เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและพิจารณาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างยั่งยืน รวมถึงเพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศ
นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อ 75 ปีที่แล้ว สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) เพื่อเป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรก ที่ให้การรับรองปฏิญญาฉบับนี้ และเมื่อเดือนกันยายนปี 2565 ที่ผ่านมา ในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนครั้งที่ 1 กสม. พร้อมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้ประกาศเจตนารมณ์ด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกัน และได้ร่วมกันขับเคลื่อนผลงานเชิงประจักษ์ เช่น การผลักดัน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จนสำเร็จ และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 การขับเคลื่อนกฎหมายรับรองสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล โดยเฉพาะพระภิกษุ และบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน เป็นงานที่ไม่สิ้นสุด และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างต่อไป
ในเวทีดังกล่าว ภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ได้นำเสนอข้อมติซึ่งเป็นข้อเสนอและแนวทางการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาใน 5 ประเด็นสิทธิมนุษยชนสำคัญ สรุปได้ดังนี้
(1) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม มีข้อเสนอแนะเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการว่าด้วยการป้องกันการทรมาน พ.ศ. 2567-2569 ติดตามการจัดทำอนุบัญญัติและการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการบันทึกภาพและเสียง การแจ้งการควบคุมตัว การเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) และยังมีข้อเสนอให้ผลักดันกฎหมายระดับพระราชบัญญัติว่าด้วยทะเบียนประวัติอาชญากรรม เพื่อคืนโอกาสในการกลับคืนสู่สังคมให้กับผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีอาญาในขณะที่ยังเป็นเยาวชน ผู้ต้องหาซึ่งศาลมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ามิได้กระทําความผิด ผู้กระทำความผิดโดยประมาทและลหุโทษ และผู้พ้นโทษแต่ยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากร นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายที่สร้างหลักประกันในการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับทุกคน โดยเฉพาะในขั้นตอนการจับกุม สืบสวน และการสอบสวนด้วย
(2) สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม เห็นร่วมกันว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ยังไม่ได้บัญญัติรับรองสิทธิและความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมไว้อย่างครอบคลุม และยังขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อวิกฤติทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยเฉพาะวิกฤติมลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงมีข้อเสนอให้มีการจัดทำกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกฎหมายกลางที่บัญญัติหลักการสำคัญด้านสิทธิชุมชนและสิทธิทางสิ่งแวดล้อม เช่น หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม มีข้อเสนอให้ปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนให้ความสำคัญกับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน รวมทั้งเยียวยาความเสียหายต่อประชาชนในรัฐไทยและรัฐอื่นที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ปรับปรุงระบบการเข้าถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมผ่านกฎหมายและกลไกศาล เช่น การเปิดกว้างสำหรับสิทธิในการฟ้องคดีเชิงป้องกันและการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น
(3) สิทธิและสถานะบุคคล นำเสนอปฏิบัติการร่วมกันเพื่อขจัดความไร้รัฐให้หมดไป (Zero Statelessness) จากประเทศไทย ใน 3 ส่วน ดังนี้ (1) ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโดยเสริมสร้างปฏิบัติการแก้ไขปัญหาร่วมกันในพื้นที่ เช่น เร่งรัดการกำหนดเลข 13 หลัก หรือสถานะบุคคลเพื่อป้องกันการไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ตั้งคณะทำงาน/กลไกในระดับท้องถิ่น ท้องที่ และส่วนกลาง มีการเสริมพลังกับอาสาสมัครในชุมชน และสื่อสารสร้างความเข้าใจร่วมกันทั้งภายในพื้นที่ เกี่ยวกับกฎหมาย นโยบาย และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่สอดคล้องในทุกระดับ (2) ส่งเสริมและเชื่อมโยงเครือข่ายการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐ ไร้สัญชาติในพื้นที่และระหว่างพื้นที่ โดยเร่งสำรวจจัดทำฐานข้อมูล เสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ทรงสิทธิ (rights holders) และหน่วยงานที่มีหน้าที่ (duty bearers) และบูรณาการงบประมาณ บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกัน และ (3) ผลักดันให้เกิดการทบทวนกฎหมาย นโยบาย ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยขอให้รัฐบาล ติดตามและเร่งรัดการขจัดความไร้รัฐให้หมดไป (Zero Statelessness) โดยกำหนดให้เป็นวาระสำคัญของประเทศไทย ในปี 2567 - 2570 และมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนทุกระดับและครอบคลุมทุกมิติด้วย
(4) การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล มีข้อเสนอให้รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรม หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผลักดันให้มีกฎหมายกลางว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ที่เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติอย่างรอบด้าน (Comprehensive anti-discrimination law) พิจารณาทบทวน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งต้องไม่นำเรื่องเอชไอวีมาเป็นเงื่อนไขหรือคุณสมบัติการรับเข้างาน การพิจารณาผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนตำแหน่ง หรือใช้เป็นเหตุการเลิกจ้าง โดยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเพื่อลดอคติ และยืนยันว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถทำงานได้ทุกอาชีพ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ยกเลิกกฎหมายที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เช่น พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เพื่อสร้างหลักประกันในการประกอบอาชีพของพนักงานบริการ (Sex worker) ทั้งยังมีข้อเสนอให้พัฒนาระบบการออกใบรับรองแพทย์ที่เป็นมาตรฐานเพื่อคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลมิให้ถูกเปิดเผยเกินความจำเป็นจนนำไปสู่การเลือกปฏิบัติด้วย
และ (5) การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีข้อเสนอให้รัฐบาลขับเคลื่อนเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นวาระแห่งชาติ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทุกลักษณะการกระทำและทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ บุคคลหลากหลายทางเพศ แรงงานรับใช้ในบ้าน ผู้ที่มีความสัมพันธ์ฉันคู่ชีวิตหรือเป็นคู่รัก ไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ โดยกำหนดให้การกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้ การเสริมศักยภาพและพัฒนากลไกการทำงานของบุคลากรที่ทำหน้าที่ให้การคุ้มครอง/ช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกกระทำความรุนแรง ปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในสังคมให้มีส่วนร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเหตุ ตลอดจนพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางในการจัดเก็บข้อมูลปัญหาความรุนแรงในครอบครัวด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงสุดท้ายของเวทีสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์รวมพลังขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน ดังนี้
“ในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเราภาคีเครือข่ายสมัชชาสิทธิมนุษยชน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคเอกชน รวมถึงองค์กรชุมชนท้องถิ่น ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมสำหรับทุกคน
พวกเราจะร่วมมือกันขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนโดยรณรงค์ให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบ ส่งเสริมสิทธิชุมชนและสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งจะติดตามการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการถูกกระทำทรมานและการทำให้สูญหาย การเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตลอดจนคุ้มครองผู้มีปัญหาสถานะบุคคลให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อให้ทุกคนในสังคมไทยได้รับความยุติธรรมและดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สมดังเจตนารมณ์ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง”