‘ประวิตร’ นั่งหัวโต๊ะประชุม กอนช. รับทราบสถานการณ์เอลนีโญ ก่อนอนุมัติแผนรับมือฤดูฝนเพิ่ม 3 มาตรการ ด้าน กทม. เร่งตรวจสอบแหล่งน้ำ-สถานีสูบน้ำ เพื่อวัดระดับความเค็ม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 16 สิงหาคม 2566 พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
โดยในที่ประชุม กอนช. ได้รับทราบสถานการณ์จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้และรัฐบาลได้มีความห่วงใย ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหา เป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยในหลายพื้นที่ และแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำจำกัดโดยเฉพาะ น้ำอุปโภคบริโภค แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน อย่างต่อเนื่องและเต็มที่ จึงยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้ง อย่างรุนแรงได้ และขณะเดียวกันปรากฏการณ์เอ็นโซ่ (ENSO)อยู่ในสภาวะเอลนีโญ และจะมีแนวโน้มที่มีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.66 ทำให้ประเทศไทยช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.66 จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ
@อนุมัติแผนรับมือหน้าฝนปี 66
จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบ ร่างมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์"เอลนีโญ" ซึ่งประกอบด้วย 3 มาตรการที่สำคัญ ได้แก่
มาตรการที่ 1 การจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เกี่ยวกับการวางแผนการระบายน้ำ
มาตรการที่ 2 ให้ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง (ตลอดช่วงฤดูฝน) และให้มีการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร
และมาตรการที่ 3 ให้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ (ตลอดช่วงฤดูฝน) ได้แก่การใช้น้ำภาคการเกษตร เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อย การปรับปรุงระบบการให้น้ำพืช และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น รวมถึงการประหยัดน้ำของทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งต่างๆ และการลดการสูญเสียน้ำในระบบประปา และระบบชลประทาน ด้วย
นอกจากนี้ ผู้ช่วยโฆษกยังกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับ สทนช.และหน่วยงานต่างๆ เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้ประชาชน รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง ทันเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมและจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค อย่างเพียงพอของประชาชนเป็นอันดับแรก น้ำที่เหลือจึงใช้เพื่อการอื่นๆ รวมถึงพื้นที่ EEC ที่มีความสำคัญด้วย ต่อไป พร้อมรณรงค์ขอให้ประชาชน เกษตรกรและทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่า ในโอกาสนี้ด้วย
@กทม.กางแผนรับมือขาดแคลนน้ำ
ด้านนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนบริหารจัดการน้ำของ กทม.เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญว่ากรุงเทพมหานคร ว่า สำนักการระบายน้ำ ประสานความร่วมมือกรมชลประทานติดตามปริมาณเก็บกักน้ำ 4 เขื่อนหลักที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงร่วมประชุมหารือกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรต่าง ๆ รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภคและด้านการเกษตร
@ลุยตรวจความเค็มของแหล่งน้ำ
รวมถึงเฝ้าระวังการรุกของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำและเฝ้าระวังตรวจวัดคุณภาพน้ำ (ความเค็ม) ในแม่น้ำเจ้าพระยาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 9 จุด ดังนี้
(1) ท่าน้ำนนทบุรี (2) สะพานพระราม 7 (3) สะพานปิ่นเกล้า (4) สะพานพุทธยอดฟ้า (5) สะพานกรุงเทพ (6) สะพานพระราม 9 (7) วัดบางกระเจ้านอก (8) วัดบางนานอก และ (9) พระประแดง
พร้อมทั้งตรวจวัดค่าความเค็มสูงสุดของแต่ละวันเป็นประจำทุกวัน จำนวน 5 จุด ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำคลองแจงร้อน สถานีสูบน้ำคลองดาวคะนอง สถานีสูบน้ำคลองบางกอกใหญ่ สถานีสูบน้ำเทเวศร์ และสถานีสูบน้ำคลองบางเขนใหม่ และคลองต่าง ๆ รวมถึงแผนการควบคุมเปิด - ปิดประตูระบายน้ำ ตามแนวริมเจ้าพระยาไม่ให้น้ำเค็มที่ค่าความเค็มเกินมาตรฐานไหลเข้ามาในคลอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร
ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ สำนักการระบายน้ำได้ประสานและติดตามการบริหารจัดการระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้มาตามคลอง 13 ผ่านคลองแสนแสบ เข้าคลองลำปลาทิวผ่านมายังคลองประเวศบุรีรมย์พื้นที่เขตหนองจอก เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำในด้านเกษตรกรรม โดยการดำเนินการของ กทม.ในระยะเร่งด่วนได้ขุดลอกคลองสายรอง เพื่อผันน้ำจากคลองสายหลักเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ส่วนแผนในระยะยาว กทม.ได้ก่อสร้างทำนบกั้นน้ำ โดยทดน้ำ หรือเก็บกักน้ำไว้ในคูคลองช่วงก่อนที่จะหมดฤดูฝน เพื่อไว้ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เขตหนองจอกที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพทำการเกษตรและมักจะประสบปัญหาความเดือดร้อนในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากน้ำที่นำไปใช้ในการเกษตรมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ปัจจุบันการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำในพื้นที่เขตหนองจอกได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 17 แห่ง ประกอบด้วย คลองสิงโต คลองแตงโม คลองบึงเขมร คลองขุดใหม่ คลองบึงนายรุ่ง คลองหนึ่ง คลองลัดเกาะเลา คลองสอง คลองลำแขก คลองแม๊ะดำ คลองลำเกวียนหัก คลองแยกลำต้อยติ่ง คลองกระทุ่มล้มด้านเหนือ คลองลำชะล่า คลองกระทุ่มล้มด้านใต้ คลองลำตามีร้องไห้ และคลองลำต้อยติ่ง ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรประมาณ 48,000 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำในพื้นที่ได้ประมาณ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยปัจจุบัน มีปริมาตรน้ำเก็บกักประมาณ 0.9 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนั้น กทม.ยังได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดที่มีคุณภาพ หรือน้ำรียูส นำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน ล้างตลาด ล้างเครื่องจักรภายในโรงงาน โดยหน่วยงาน หรือประชาชนที่สะดวกสามารถขอรับน้ำได้ที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม โรงควบคุมคุณภาพน้ำทุ่งครุ โรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ
เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.)