‘พรรคประชาธิปัตย์’ นัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ พรุ่งนี้ (6 ส.ค.นี้) ‘ราเมศ’ แจงปมอดีต สส. ยื่นขอให้เลื่อนการประชุมออกไป ยังไม่เห็นหนังสือฉบับเต็ม โยนคณะกรรมการพรรคดู ชี้คงไม่เลื่อนการประชุมออกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 5 สิงหาคม 2566 พรรคประชาธิปัตย์มีกำหนดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ วาระสำคัญคือ การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ทดแทนคณะบริหารชุดนี้ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรคและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งได้ลาออกไปเมื่อหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อกลางดึกวันที่ 14 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา
@โฆษกยันไม่เลื่อนประชุม
ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า กรณีที่นายไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องขอให้ชะลอการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ในวันพรุ่งนี้ไปก่อน เบื้องต้น ยังไม่เห็นคำร้องฉบับเต็ม ต้องรอดูว่าคำร้องฉบับเต็มเป็นอย่างไร ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุมในวันพรุ่งนี้ว่าจะพิจารณาอย่างไร
ส่วนมีความกังวลหรือไม่จากคำร้องของนายไชยวัฒน์ อาจทำให้การประชุมไม่สำเร็จและต้องเลื่อนไปอีกรอบ นายราเมศกล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยในการประชุมวันที่ 6 ส.ค.นี้ ทราบว่ามีคำร้องอยู่ 2 ฉบับ คำร้องแรกนายไชยวัฒน์ได้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคำร้องที่ 2 มายื่นต่อพรรคเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม โดยที่ประชุมใหญ่วิสามัญในวันพรุ่งนี้คงจะหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณา
เมื่อถามว่า จะทำให้สมาชิกที่เป็นองค์ประชุมใหญ่ลังเลแล้วไม่มาเข้าร่วมประชุมหรือไม่ โฆษกพรรคระบุว่า เมื่อคณะกรรมการบริหารพรรคได้กำหนดวันประชุมใหญ่วิสามัญแล้วไม่มีทางเลือกอื่น จะต้องเดินหน้าการประชุมต่อไป ประเด็นที่มีการถกเถียงและยื่นคำร้องก็เคยมีการถกเถียงกันในคณะกรรมการบริหารพรรค มีการพูดคุยและเสนอญัตติในที่ประชุมใหญ่วิสามัญแล้ว
ประเด็นข้อบังคับพรรคที่มองว่า จะไม่สอดคล้องกับกฎหมายและรัฐธรรมนูญ นายราเมศชี้แจงว่า หลักเกณฑ์การร่างข้อบังคับจะต้องส่งให้ กกต.ตรวจสอบ ซึ่งได้ยื่นไปแล้ว เมื่อมีการถกเถียงจนตกผลึกเป็นข้อบังคับของพรรคประชาธิปัตย์จะนำข้อบังคับไปเสนอต่อ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อบังคับ นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในพรรค จะต้องมีการพูดคุยกัน ไม่มีเรื่องที่ร้ายแรงถึงขนาดที่ว่าต้องดำเนินการอย่างเอาเป็นเอาตาย
นายราเมศกล่าวว่า ทุกอย่างดำเนินการตามข้อบังคับ อาจจะมีข้อท้วงติงกันบ้างเป็นเรื่องปกติ ในฐานะที่เราเป็นสถาบันพรรคการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นที่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งสั่งการได้ พรรคประชาธิปัตย์ให้สิทธิสมาชิกในการแสดงความคิดเห็น ส่วนตัวเคารพการดำเนินการของสมาชิกในพรรค เมื่อมีการท้วงติง ขอให้มีการตรวจสอบก็เป็นสิ่งที่ทุกคนในพรรคต้องตระหนัก
“ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาเราพ่ายแพ้ ถ้าเรายังไม่มีความเป็นเอกภาพ กระบวนการที่จะนับหนึ่งไปสู่การฟื้นฟูพรรค พัฒนาพรรคให้เจริญรุ่งเรือง อย่าให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพ ความเป็นเอกภาพสำคัญที่สุด ท้ายที่สุดแล้วจะมีการพูดคุยกันได้” นายราเมศกล่าว