WMO เตือนอีก 4 ปี โลกร้อนขึ้น หวั่นเพาะปลูกภาคเกษตรเป็นศูนย์ ด้าน สสส. สานพลัง ภาคีสิ่งแวดล้อม ชู 'ป่าชุมชน' ทางรอดสุดท้าย รับมือวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2566 นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า จากรายงานการจับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2566 (Thaihealth Watch 2023) 1 ใน 7 ทิศทางสุขภาพคนไทยที่ต้องเตรียมตัวรับมือ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบทางสุขภาพไปทั่วโลก สสส. สานพลัง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่ายป่าชุมชน จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “ป่าชุมชน ทางรอดสุดท้าย รับมือวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สะท้อนภาพการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพผ่านมิติการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับป่าอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ติดตามข้อมูล Thaihealth Watch ได้ที่เว็บไซต์ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/thaihealth-watch
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญาในหลายประเทศ ในช่วงหน้าร้อนในไทยอากาศก็ร้อนมากขึ้น เกิดภัยแล้งในภาคการเกษตรที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร หน้าฝนก็น้ำท่วมเพิ่มขึ้น หรือในช่วงหน้าหนาวก็เริ่มหายากขึ้น ทั้งหมดนี้มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป ถึงเวลาที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของทุกคน ในการนี้ สสส. สานพลังภาคีสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงการป่าชุมชนและการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน เพิ่มรายได้ในครัวเรือน และพัฒนาคุณภาพชีวิตเตรียมรับมือวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นำร่องใน 15 พื้นที่ทั่วประเทศ” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งแก้ปัญหาจากต้นน้ำตามปรัชญาสร้างน้ำซ่อม จากรายงานการประชุม World Economic Forum 2023 พบว่า 10 อันดับแรกของประเด็นปัญหาที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ มีปัญหาทางสิ่งแวดล้อมมากถึง 6 ประเด็น ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานาน ทำให้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) คาดการณ์ว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2027 ภัยพิบัติก็จะทวีความรุนแรงขึ้น พื้นที่เกษตรกรรมหลายแห่งทั่วโลกจะเพาะปลูกไม่ได้อีกต่อไป
“ป่าชุมชน เป็น 1 กลไกสำคัญที่สามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะนอกจากป่าชุมชนจะเปรียบเสมือนศูนย์รวมผู้คน ยังทำให้ทุกคนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่ โครงการฯ นำร่องใน 15 พื้นที่ เป็นต้นแบบที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนป่าชุมชนแห่งใหม่ๆ ซึ่งจากการประเมินพบว่า คนในชุมชนมีสุขภาพกาย จิตใจดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้นจากการมีป่าชุมชน เป็นหัวใจสำคัญของการเร่งขยายป่าชุมชนไปในพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้การทำงานไม่ต้องเริ่มจาก 0 อยู่เสมอ” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
นางนันทนา บุณยานันต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ป่าชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลไทยประกาศในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ COP26 ว่า ไทยต้องก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนใน ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็น 0 ภายใน ค.ศ. 2065 และในการประชุม COP27 ประกาศเพิ่มเติมว่า ไทยต้องมีผืนป่า 55% ของพื้นที่ประเทศ ภายใน ค.ศ. 2037 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบัน ไทยมีป่าชุมชน 11,984 แห่ง ในกว่า 13,000 หมู่บ้าน ภาครัฐจำเป็นต้องมีกลไกสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาชน เพื่อทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายที่ได้ประกาศไว้
“เจตนารมณ์ของกฎหมายป่าชุมชน คือ ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่าการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพราะถึงแม้ไม่มีการประเมินคาร์บอนเครดิต ป่าก็ช่วยเรื่องการลดโลกร้อน ทำให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารและสมุนไพร อาทิ เห็ด หน่อไม้ ฟ้าทลายโจร ช่วยสร้างรายได้คนในชุมชน บางพื้นที่ยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชน อาทิ โฮมสเตย์เพื่อการท่องเที่ยว การเก็บค่าบริการการเข้าใช้ประโยชน์ วันนี้เรามีป่าพี่เลี้ยงต้นแบบที่มีศักยภาพเยอะมาก การที่ สสส. และภาคีให้การสนับสนุนทำให้การมีป่าชุมชนเป็นเรื่องง่ายมาก” นางนันทนา กล่าว