‘สภาผู้บริโภค’ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหา ‘ธนาคาร’ ปฏิเสธอายัดบัญชี-ดำเนินการล่าช้า หลังผู้บริโภค ‘แจ้งความ’ ถูกหลอกโอนเงิน
...................................
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า แม้ว่าขณะนี้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ได้มีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลา 4 เดือนแล้ว แต่ปัจจุบันยังพบปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองผู้บริโภค
เช่น กรณีที่ผู้บริโภคถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน หรือกรณีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า แต่เมื่อโทรศัพท์แจ้งธนาคารให้อายัดบัญชีกลับถูกปฏิเสธว่าไม่สามารถอายัดได้เนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ผู้บริโภคโทรศัพท์แจ้งให้ธนาคารอายัดเงิน แต่ธนาคารกลับปฏิเสธและขอหลักฐานใบแจ้งความจากผู้บริโภค รวมถึงกรณีที่ธนาคารรับเรื่องแต่ไม่ได้อายัดบัญชีทันทีโดยอ้างว่าต้องรอหลักฐานการตรวจสอบจากตำรวจ เป็นต้น
“เนื้อหา พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ในมาตรา 7 มีใจความตอนหนึ่งที่กำหนดให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินมีหน้าที่อายัดบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องขอหลักฐานใบแจ้งความจากผู้บริโภค
พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ ผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่ายังมีธนาคารที่ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียกร้องและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค” นายโสภณ ระบุ
ด้าน นางประกายมาศ (ขอสงวนนามสกุล) หนึ่งในผู้เสียหายจากการถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน กล่าวว่า ตนถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงินไปกว่า 120,000 บาท และเมื่อรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ จึงรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ และแจ้งอายัดบัญชีธนาคารทั้งต้นทางและปลายทาง แต่ประสบปัญหาว่าธนาคารปลายทาง ไม่ยอมอายัดบัญชีให้โดยทันที โดยธนาคารแจ้งว่ายังดำเนินการไม่ได้ เพราะต้องรอหมายแจ้งความจากตำรวจก่อน
“แม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะแจ้งว่าได้ส่งสำเนาใบแจ้งความไปทางอีเมลตั้งแต่วันที่รับแจ้งความแล้ว แต่ธนาคารก็ยังไม่อายัดบัญชีปลายทางให้ จนผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ จึงได้รับแจ้งว่าสามารถอายัดบัญชีธนาคารได้แล้ว โดยมียอดเงินคงเหลือในบัญชีของมิจฉาชีพ 122 บาท” นางประกายมาศกล่าว และว่า “อยากฝากถึงหน่วยงานรัฐ ให้เร่งจัดการปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และหากเกิดกรณีที่ผู้บริโภคถูกหลอก อยากให้เร่งประสานงานและจัดการปัญหาโดยเร็ว”
นางอาภรณ์ อะทาโส หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด สภาผู้บริโภค ระบุว่า จากปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สภาผู้บริโภค จึงได้มีการประชุมเพื่อหารือกับตำรวจ หอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด และชมรมธนาคารจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อหาแนวปฏิบัติในจังหวัดร้อยเอ็ดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายว่าทุกธนาคารในจังหวัดร้อยเอ็ดจะต้องอายัดบัญชีทันทีที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไม่ทำเพียงแค่ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน แต่ต้องออกใบแจ้งความ และต้องลงแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ ที่ https://www.thaipoliceonline.com ให้ผู้บริโภคด้วย เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้มีโอกาสได้เงินคืน เพื่อให้สามารถสืบและตามไปถึงตัวเจ้าของบัญชีได้
“ถ้าการขับเคลื่อนนี้ใช้ได้ผล ก็อาจขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นหรือภาพรวมของประเทศได้ ซึ่งถึงทุกหน่วยงานสามารถปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าวได้จริง ก็จะทำให้ผู้ที่เสียหายจากการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ ได้รับเงินคืน และสามารถช่วยเหลือได้จำนวนมาก” นางอาภรณ์ ระบุ
ทั้งนี้ ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ สภาผู้บริโภคจะมีการจัดเวทีหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพูดคุยและหาแนวทางปฏิบัติร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าว