‘ชัชชาติ’ ประชุมหน่วยงาน กทม. เตรียมลุยต่อ 20 เรื่องในปีที่ 2 เช่น สวน 15 นาที, ต้นไม้ล้านต้น, หาบเร่แผงลอย เป็นต้น ส่วนน้ำท่วมกรุงฯวานนี้ (5 ก.ค.66) เพราะท่อระบายน้ำแคบ 60 มิลลิเมตร ถ้าไม่ให้ท่วมเลย ต้องขยายท่อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมหัวหน้าหน่วยงาน ครั้งที่ 7/2566 มีการตั้งเป้าหมายของปีที่ 2 ตามที่เคยแจ้งไปแล้วว่าได้มีการส่งเป้าหมายให้แต่ละเขตกำหนดเป้าหมายว่า จะทำอะไรบ้างในปีที่ 2 ประมาณ 20 เรื่อง เช่น ถนนสวย ปลูกต้นไม้ล้านต้น เพิ่มสวน 15 นาที ปรับปรุงทางเท้า ไฟแสงสว่าง แสงสว่างริมคลอง หาบเร่แผงลอย Hawker Center จุดน้ำท่วม จุดจราจรฝืด แก้ไขอุบัติเหตุ ลานกีฬา บ้านหนังสือ ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน จุดจัดเก็บขยะ การนำข้อมูลชุมชนเข้าระบบออนไลน์ การดูแลงบประมาณ 200,000 บาทต่อชุมชนที่มีอยู่ 2,000 ชุมชน การใช้งบประมาณสปสช. การพัฒนามาตรฐานการให้บริการ จะเห็นได้ว่าเน้นเรื่องเส้นเลือดฝอยผลักดันให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในปีที่ 2 นี้
ด้านการจราจรจะเน้นเรื่องการปรังปรุงกายภาพ ตอนนี้ปัญหาเกิดจากมีจุดฝืด เช่น มีรถจอดเยอะ เลี้ยวลำบาก โดยให้แต่ละเขตไปสำรวจจุดฝืดและมีปัญหาด้านกายภาพในพื้นที่ และสำนักการโยธาจะไปดำเนินการปรับแก้ให้ หากสามารถปรับกายภาพให้ได้ดีก็เชื่อว่าจะทำให้จุดฝืดน้อยลงและการจราจรดีขึ้น
สำหรับงาน BMA EXPO 2023 เลื่อนการจัดงานออกไป 1 วัน จากเดิมคือวันที่ 13-15 กรกฎาคม 2566 เป็น 14-16 กรกฎาคม 2566 เป็นนิทรรศการที่น่าสนุกและเป็นการนำเสนอเทคโนโลยีและการสร้างความหวังให้ประชาชนในอนาคตของกรุงเทพมหานคร
@น้ำท่วมกรุง ปัญหาจากท่อแคบ 60 มิลลิเมตร
สำหรับสถานการณ์ฝนที่เขตจตุจักรเมื่อวานนี้ ประมาณ 70 มิลลิเมตร มีน้ำท่วมขังประมาณ 10 จุด ถ้าดูแล้วจะเห็นว่าส่วนใหญ่น้ำระบายเร็ว ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาเรื่องการลอกท่อเราทำได้ค่อนข้างดี แต่อาจมีปัญหาบางส่วน เช่น คูระบายน้ำวิภาวดีที่กรมทางหลวงดูแลอยู่ และแจ้งวัฒนะที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู บางพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังเนื่องจากเป็นข้อจำกัดของขนาดท่อของกทม. ที่ออกแบบไว้รองรับน้ำฝนเพียง 60 มิลลิเมตร
แต่หากจะไม่ให้มีน้ำท่วมเลยต้องขยายท่อซึ่งใช้งบประมาณมากอาจเป็นแผนระยะยาวต่อไป ขณะนี้ที่ต้องเฝ้าระวังคือคลองเปรมประชากรกับคลองตาอูฐ ซึ่งเป็นคลองหลักของฝั่งเหนือ เช้านี้น้ำยังอยู่ในระดับสูง ได้มีการระบายออกด้านล่างทางอุโมงค์บางซื่อและด้านบนประสานกรมชลประทานดึงน้ำออกไปทางคลองรังสิตผ่านประตูหลัก 6 มีการระบายน้ำขึ้นเหนือและออกทางแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย สถานการณ์จึงไม่น่าเป็นห่วงแต่ก็ไม่ได้ประมาท