ศาลยุติธรรมเปิดให้บริการยื่นคำร้องอิเล็กทรอนิกส์ อีก 42 ศาลจังหวัดในวันที่ 3 ก.ค. สอดคล้องนโยบายมุ่งเน้นดูแลประชาชน ตามนโยบายประธานศาลฎีกา ให้บริการทายาทยื่นคำร้องขอจัดการมรดกได้เองผ่านระบบออนไลน์ e-Filing หลังนำร่องก่อน 16 ศาล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2566 ศาลยุติธรรมได้มีการเผยแพร่เอกสารข่าวแจกมีใจความว่า นายสรวิศ ลิมปรังษี กล่าวว่า ตามที่ นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกามีนโยบายให้ความสำคัญการบริการประชาชนโดยให้ถือเอาความต้องการของประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีดำริเสมอมาในเรื่องการอำนวยความยุติธรรมประชาชนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งเน้นย้ำการนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานนั้น
สำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งมีภารกิจในการสนับสนุนงานตุลาการ ตระหนักและมุ่งมั่นดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว จึงได้นำนวัตกรรมซึ่งได้พัฒนาเสริมสร้างการอำนวยความยุติธรรมด้านการให้บริการรับส่งคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า e-Filing System (อีไฟล์ลิ่ง) ที่ได้พัฒนาระบบสู่เวอร์ชั่นที่ 3 แล้วมาจัดระบบให้บริการยื่นคำร้องขอจัดการมรดก กรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้ยื่นโดยตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2566 ศาลจังหวัด 42 แห่งในพื้นที่ภาค 1-8 อาทิ
ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราศาลจังหวัดชลบุรี ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ศาลจังหวัดมหาสารคาม ศาลจังหวัดแพร่ศาลจังหวัดกำแพงเพชร ศาลจังหวัดเพชรบุรี ศาลจังหวัดราชบุรี ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัด สุราษฎร์ธานี พร้อมให้บริการประชาชนซึ่งการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกกรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้ยื่นนี้เป็นการให้สิทธิทายาททำคำร้องยื่นได้เองโดยตรงต่อศาลใน 2 กรณี 1.ทายาททุกคนยินยอมให้ผู้ร้องนั้นเป็นผู้จัดการมรดก 2.มีข้อกำหนดในพินัยกรรมให้ผู้ร้องนั้นเป็นผู้จัดการมรดก
ทั้งนี้การยื่นคำร้องขอจัดการมรดกผ่านระบบออนไลน์ e-Filing ก่อนหน้านี้มีศาลจังหวัดนำร่องไปแล้ว 10 ศาล และกลุ่มศาลแพ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 6 ศาล ประกอบด้วย ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ซึ่งในอนาคตมีศาลจังหวัดในพื้นที่ภาค 1-9 อีก 58 ศาล เตรียมจัดระบบปฏิบัติการออนไลน์เพื่อทยอยให้บริการประชาชนเพิ่มเติมอีกด้วย
สำหรับขั้นตอนการใช้บริการออนไลน์นี้ ผู้ร้องต้องลงทะเบียนใช้งานระบบ e-Filing จากลิงก์นี้ https://efiling/citizen/>
หลังจากเข้าสู่ระบบแล้ว ทายาทผู้ร้องขอจัดการมรดกต้องกรอกข้อมูลที่จำเป็นตามที่กำหนดไว้ในระบบให้ครบถ้วน ซึ่งมีเอกสารที่ต้องจัดเตรียมเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ PDF หรือ JPEG สำหรับอัปโหลดเข้าสู่ระบบ ดังนี้ สำเนาบัตรประชาชน หนังสือยินยอมจากทายาทอื่นๆ ทะเบียนผู้ร้องและผู้ตาย ใบมรณบัตรผู้ตาย แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร
โดยประชาชนศึกษาข้อกำหนดการยื่นขอจัดการมรดกผ่านระบบ e-Filing ได้ที่ลิงก์นี้
http://oja.coj.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/10112/iid/336875
ทั้งนี้ ตามสถิติการพิจารณาคดีจัดการมรดกระหว่างปี 2565-2566 ในพื้นที่ศาลภาค 1-9 มีประมาณ 108,798 คดี โดยการเปิดให้บริการยื่นคำร้องขอจัดการมรดก กรณีบุคคลธรรมดาเป็นผู้ยื่นนี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ประชาชนเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้วย อันเป็นความมุ่งมั่นของศาลยุติธรรม และสำนักงานยุติธรรมที่ให้ความสำคัญต่อการบริการประชาชนด้วยมาตรฐานเดียวกันในทุกพื้นที่ เราพร้อมเสมอในการจะเป็นที่พึ่งของประชาชน และอำนวยความยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เสมอภาค