ธปท.เดินหน้าผ่อนคลายหลักเกณฑ์ ‘โอนเงินออกนอกประเทศ’ ให้คล่องตัวขึ้น เล็งเปิดทาง ‘นักลงทุนรายย่อย’ ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยไม่ผ่าน ‘ตัวแทน’ เพิ่มเป็น 10 ล้านดอลล์ฯ อนุญาต ‘บ.ไทย’ โอนเงินไปให้ ‘บ.แม่’ ในต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องมายื่นขอเป็นรายกรณี พร้อมระบุ 3 ปัจจัย ทำค่าเงินบาทผันผวนสูง
.....................................
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน Media Briefing เรื่อง ความคืบหน้าการผลักดัน FX Ecosystem ใหม่ โดยนางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า เนื่องจากในขณะนี้ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ในระยะข้างหน้าค่าเงินบาทจะยังมีความผันผวนต่อไปได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องบริหารและป้องกันความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ธปท.สนับสนุนผู้ประกอบการในการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ผ่านการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ และดำเนินการผ่านการปรับปรุงระบบนิเวศของอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) เพื่อทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศสะดวกขึ้น และมีต้นทุนถูกลง
น.ส.ชนานันท์ สุภาดุลย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้ผ่อนเกณฑ์ให้ทำธุรกรรมในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี และโอนเงินออกนอกประเทศและทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวขึ้น รวมถึงการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เสรีขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทย นักลงทุนไทย และบริษัทหรือนักลงทุนต่างชาติ มีการทำธุรกรรมดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น ได้แก่
1.กลุ่มผู้ประกอบการ การผ่อนหลักเกณฑ์ให้บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศสำหรับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล (FCD) โดยการเปิดเสรี FCD ทำให้จำนวนบัญชี FCD เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาส 1/2566 มีจำนวนและผู้ใช้บริการ FCD สะสม 4.32 แสนบัญชี ส่วนการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ซึ่งทำให้มีปริมาณการทำธุรกรรมเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้น และมี Hedger รายใหม่เพิ่มขึ้น
2.นักลงทุนไทย การปรับหลักเกณฑ์และกระบวนการลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้ใกล้เคียงกับการลงทุนในประเทศ ทำให้คนไทยมีแนวโน้มลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายย่อย
3.บริษัทหรือนักลงทุนต่างชาติ การดำเนินโครงการ NRQC (Non-Resident Qualified Company) เพื่อให้บริษัทต่างชาติทำธุรกรรมในไทยง่ายขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามข้อมูลของ ธปท. โดยพบว่ามีบริษัทต่างชาติเข้าร่วมโครงการ 63 บริษัท ส่วนโครงการ BIR (Bond Investor Registration) เพื่อติดตามข้อมูลผู้ลงทุน Bond ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริง (End Beneficiary Owner) พบว่ามีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทะเบียน 9,734 ราย
ทั้งนี้ ในปี 2566 ธปท. มีแผนงานที่ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
1.สนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างประเทศ ปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับประเทศในภูมิภาคมีสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ขณะที่แนวโน้มทิศทางของเงินสกุลท้องถิ่นและเงินบาทมักเคลื่อนไหวในทางเดียวกัน ธปท. จึงสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น เช่น หยวน เยน มาเลเซียริงกิต และอินโดนีเซียรูเปีย ให้เป็นอีกทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยแผนงานในระยะถัดไปของ ธปท. ครอบคลุมถึงการร่วมมือกับธนาคารกลางในภูมิภาคผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพิ่มเติม การร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อหาแนวทางอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการทำธุรกรรม ตลอดจนประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ
2.ผ่อนเกณฑ์โอนเงินออกนอกประเทศให้คล่องตัวขึ้น ได้แก่ (1) ขยายวงเงินเพื่อวัตถุประสงค์ให้เปล่าจาก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เป็น 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี (2) อนุญาตให้บริษัทไทยโอนเงินไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศเพื่อช่วยบริหารจัดการสภาพคล่อง (Notional Pooling) จากเดิมที่ต้องขออนุญาตเป็นรายกรณี และ (3) ขยายวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนรายย่อยไม่ผ่านตัวแทนจาก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าจะดำเนินการในช่วงไตรมาส 3/66
3.เพิ่มความคล่องตัวให้บริษัทและนักลงทุนต่างชาติ ได้แก่ (1) ขยายขอบเขตโครงการ Non-Resident Qualified Company (NRQC) ให้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจชำระเงินระหว่างประเทศเข้าร่วมโครงการได้ โดยโครงการ NRQC มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทต่างชาติทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินไทยได้คล่องตัวขึ้น อีกทั้งปรับขั้นตอนการสมัคร NRQC ให้สะดวกขึ้น และ (2) ให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในหลักทรัพย์ไทยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินไทยได้โดยตรง จากเดิมที่ต้องทำธุรกรรมผ่านตัวกลางที่เป็นสถาบันการเงินในต่างประเทศเท่านั้น
@ธปท.ชี้ 3 ปัจจัยหลักทำ ‘ค่าเงินบาท’ ผันผวนสูง
น.ส.พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง โดยเป็นผลจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยเฉพาะในประเทศ รวม 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.ปัจจัยเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลัก โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าเงินในหลายสกุล ไม่ใช่เฉพาะแต่ค่าเงินบาท 2.แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจจีน
และ 3.สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.2566 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และใครจะมาเป็นนายกฯคนต่อไป ดังนั้น หากมีข่าวเกี่ยวกับการเมืองออกมาในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ก็จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
นอกจากนี้ มีปัจจัยพิเศษสำหรับประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทในบางช่วงบางเวลา เช่น การซื้อขายทองคำและราคาทองคำในตลาดโลก ซึ่งจากข้อมูลจะพบว่าราคาทองคำกับค่าเงินบาทมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ และการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.สนับสนุนมาโดยตลอด เพื่อทำให้นักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน แต่เรื่องนี้จะมีผลทำให้ค่าเงินบาทผันผวนด้วยเช่นกัน
“การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ความผันผวนที่เกิดขึ้น เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินของประเทศหลัก เศรษฐกิจและการฟื้นตัวของประเทศจีน และสหรัฐ รวมทั้งในช่วงหลังมีปัจจัยทางการเมืองของประเทศไทยด้วย และมีปัจจัยเสริมที่เป็นปัจจัยพิเศษสำหรับประเทศไทยด้วยในบางช่วง” น.ส.พิมพ์พันธ์ กล่าว
น.ส.พิมพ์พันธ์ ระบุว่า เมื่อมองไปข้างหน้า ธปท.คาดว่าค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวนต่อไป เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง เช่น เศรษฐกิจจีน ซึ่งก่อนหน้านี้มีแนวโน้มว่าจะดี แต่ตอนนี้เริ่มไม่ดีแล้ว ส่วนสหรัฐจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเมื่อไหร่ก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก และยังมีสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ต้องติดตามกันต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องดูแลตัวเอง โดยการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
ในขณะที่ ธปท.จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ โดยการดูแลด้าน FX Ecosystem เพื่อทำให้การทำธุรกรรมต่างๆมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น