จุฬาฯจัดเสวนา 'เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรง' เผยความรุนแรงในโรงเรียนไทย-ปัญหาบูลลี่พุ่ง กระทบจิตใจนักเรียน ชี้ศิลปะบำบัดช่วยเยียวยจิตใจได้
สำนักข่าวอิศรา (www.israanews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดเสวนา Teacher Conference "Stop Violence in School เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรง" ครั้งที่ 3 ขึ้นในโครงการ International Friends for Peace 2023 ร่วมกับสถาบันสอนภาษาอังกฤษ โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษาของศูนย์นวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Innovation Hub) มีเป้าหมายให้โรงเรียนได้สร้างและพัฒนาโครงการเพื่อลดความรุนแรงตามบริบทและรูปแบบความรุนแรงภายในโรงเรียน โดยเน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างภายในสถานศึกษา รวมถึงสร้างเครือข่ายโรงเรียน (School Community)
ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย ปัญหาการบูลลี่ในหมู่เด็กนักเรียนเริ่มหนักขึ้น และส่งผลเสียต่อผู้ถูกกระทำ โดยเฉพาะในด้านสุขภาพจิต ซึ่งต้องได้รับการดูแลแก้ไขอย่างเร่งด่วน ร่วมกันระหว่างนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทย
องค์กรอนามัยโลกรายงานว่า โรคจิตเวชมักเริ่มแสดงอาการตั้งแต่อายุ 14 ปี และเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพลำดับ 2 ในเด็กและวัยรุ่นตอนต้นอายุทั่วโลก แนวโน้มที่น่าตกใจในประเทศไทยคือความคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ในวัยรุ่นตอนต้น อายุ 11-14 ปี มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 9.3 ซึ่งสูงกว่าวัยรุ่นตอนปลาย อายุ 15-19 ที่เสี่ยงร้อยละ 5.9
ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร.นิศรา เจริญขจรกิจ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันอภิปายถึงปัญหาความรุนแรงในสังคม และศิลปะบำบัด ผ่านรูปแบบกิจกรรมต่างๆ เช่น การปลดปล่อยด้วยศิลปะบำบัด และการปลดปล่อยด้วยดนตรีบำบัด โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดประกอบด้วยครู และ นักจิตวิทยาบำบัดจากสถานศึกษาหลายแห่ง จำนวน 21 คน
“วันนี้เป็นโอกาสดีที่เราได้มารวมกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการลดปัญหาความรุนแรงภายในโรงเรียน ภายหลังจากวันนี้เราทุกคนจะสามารถนำแนวคิดไปปรับใช้เพื่อเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย และหาแนวทางในการลดปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนได้ และหวังว่าจะมีโอกาสพบเจอกันอีกในอนาคต” ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ กล่าว
ทางด้าน ดร.นิศรา เจริญขจรกิจ กล่าวว่า ศิลปะบำบัด คือ การใช้กิจกรรมทางศิลปะเพื่อวินิจฉัยหาความปกติของระบบความคิดและกระบวนทางจิตใจ โดยใช้กิจกรรมทางศิลปะช่วยในการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพของสุขภาพจิตให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากบางครั้งที่เรารู้สึกเศร้า และไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดได้ ศิลปะบำบัดจะช่วยทำให้จิตใจได้รับการทะนุถนอมและการเยียวยา อีกทั้งการนำศิลปะบำบัดไปใช้ในโรงเรียน จะช่วยลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวหรือโรงเรียนได้
นักจิตวิทยาบำบัดของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้กล่าวว่า ปัจจุบันนักเรียนที่กล้าเข้ามาปรึกษานักจิตวิทยาบำบัดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยที่เราต้องทำให้เด็กนักเรียนรู้สึกปลอดภัยที่จะมาคุยกับเรา ต้องหาวิธีให้เด็กไว้ใจ และเลือกเข้ามาปรึกษาเรามากกว่าที่จะปรึกษาเพื่อน เพื่อหาแนวทางที่ถูกต้องในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ตัวแทนครูจากโรงเรียนอัสสัมชัญ จ.ลพบุรี ได้เล่าว่า ปัจจุบันการรับเด็กอนุบาลเข้าเรียนนั้นจะมีการสอบวัดผลตามปกติ แต่จะมีการทดสอบเพิ่มเติมด้านทัศนคติและสุขภาพจิตผ่านการวาดภาพด้วย เพื่อประเมินความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กในการเข้าเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานจะมี workshop ที่ทำร่วมกัน โดยผู้เข้าร่วมทุกคนต้องละทิ้งเกียรติยศและอาชีพที่ประกอบอยู่เป็นเพียงแค่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ลองทำการบำบัดผ่านศิลปะจากเหตุการณ์เลวร้ายที่ยากจะลืม ปลดปล่อยความรู้สึกที่ถูกกดทับไว้โดยไม่ต้องคำนึงว่าตัวเองเป็นใคร
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมทุกคนมีความเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า กิจกรรมศิลปะบำบัดในวันนี้สามารถช่วยปลอบประโลมจิตใจได้ดี และจะนำไปปรับใช้ภายในโรงเรียน แต่ผู้เข้าร่วมบางท่านมีความกังวลที่ศิลปะบำบัดยังไม่สามารถใช้ได้กับเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่มีความเข้าใจมากพอ