NPS ตั้งเป้ายื่น ‘ไฟลิ่ง’ ต่อ ‘ก.ล.ต.’ ไตรมาส 2/67 ก่อนนำหุ้นเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดเปิดเทรดได้ปลายปีหน้า รุดปรับ ‘โมเดลธุรกิจใหม่’ รับ 6 เมกะเทรนด์ด้านพลังงาน พร้อมเดินหน้า ‘โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ’ 150 MW ใหญ่อันดับต้นๆของโลก
........................................
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. นายโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) เพื่อยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยบริษัทฯคาดว่าจะสามารถยื่น Filing ต่อ ก.ล.ต.ได้ในช่วงไตรมาส 2/2567 ก่อนจะเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) ต่อไป
“เราอยู่ระหว่างการจัดเตรียมไฟลิ่งเพื่อยื่นต่อ ก.ล.ต. โดยคาดว่าจะยื่นในช่วงไตรมาส 2/2567 เพราะต้องรอให้งบปี 2566 ออกมาก่อน และคาดว่าหุ้นจะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ในช่วงปลายปี 2567” นายโยธิน ระบุ
สำหรับโครงสร้างธุรกิจของ NPS ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่
1.กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้า รวมถึงการผลิตและจำหน่ายไอน้ำเพื่ออุตสาหกรรม โดยปัจจุบัน NPS มีโรงไฟฟ้า 11 โรง มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 770 MW และมีกำลังผลิตไอน้ำรวม 2,662 ตัน/ชั่วโมง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง Biomass มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 372 MW โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันยางดำ มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 70 MW และโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 328 MW
2.กลุ่มธุรกิจผลิตเอทานอล โดย NPC มีโรงงานผลิตเอทานอล 2 โรง ซึ่งใช้โมลาส หัวมัน หรือมันเส้น เป็นวัตถุดิบ กำลังการผลิตรวม 5 แสนลิตร/วัน
3.กลุ่มธุรกิจน้ำดิบและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ในสวนอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี และสวนอุตสาหกรรม 304 ส่วนที่ 2 จ.ฉะเชิงเทรา โดย NPC มีอ่างเก็บน้ำขนาดพื้นที่ 2,144 ไร่ ซึ่งกักเก็บน้ำดิบได้ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และมีโรงกรองน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 3 โรง กำลังผลิตรวม 1.6 แสน ลบ.ม./วัน ขณะที่บริษัทฯอยู่ระหว่างขยายอ่างเก็บน้ำเพิ่มอีก 782 ไร่ ซึ่งกักเก็บน้ำดิบได้ 13 ล้าน ลบ.ม. และสร้างโรงกรองน้ำฯ กำลังผลิต 8 หมื่น ลบ.ม./วัน
4.ธุรกิจเหมืองถ่านหิน โดยขณะนี้ NPS อยู่ระหว่างดำเนินการเปิดเหมืองถ่านหินที่เกาะกาลิมันตัน อินโดนีเซีย ซึ่งมีกำลังผลิตตามใบอนุญาต 1 ล้านตัน/ปี
นอกจากนี้ NPS ยังมีธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น ธุรกิจให้บริการทุ่นขนถ่านสินค้ากลางทะเล โดยมีเรือขนส่งสินค้าที่มีปั้นจั่น (Crane) 4 ตัว และเครื่องหนีบยกของ (Grab) 4 ตัว สามารถขนถ่ายสินค้าได้ประมาณ 8 แสนตัน/ปี ,ธุรกิจขนส่งสินค้าเทกองระหว่างประเทศ โดยบริษัทฯเป็นเจ้าของเรือ 1 ลำ ซึ่งให้บริการขนส่งสินค้าประเภทถ่านหินเป็นหลัก ,ธุรกิจแป้งมันสำปะหลังและก๊าซชีวภาพ และธุรกิจวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างครบวงจร
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 5,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,108 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24% โดยรายได้ 66% ของรายได้ทั้งหมด มาจากลูกค้าอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลือมาจากการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 619 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี เนื่องจากมี Megatrends อย่างน้อย 6 เรื่อง ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงาน เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้นเร็วมาก , Digital Interaction ที่ช่วยให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ,สัดส่วนการเติบโตของความต้องการพลังงานที่จะต่ำกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ , Digital Technology ที่ช่วยให้การผลิตและการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นต่อเนื่อง ,การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่ถูกลงมา
ดังนั้น NPS จึงได้ดำเนินการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ โดยมุ่งขยายบทบาทของ NPS ในการเป็นผู้บริหารการตลาดและการขายพื้นที่ในสวนอุตสาหกรรม 304IP ขณะที่ในระยะยาว NPS ตั้งเป้าหมายในการเป็นบริษัทผู้ให้บริการพื้นที่และสาธารณูปโภคพื้นฐานครบวงจร ,การเพิ่มพลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยในระยะยาว NPS ตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้ให้บริการพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
การปรับปรุงเครื่องจักรและระบบปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ,การปรับโครงสร้างการบริหารงาน โดยเน้นธรรมาภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ Divest non-core Assets ในธุรกิจเอทานอล และเหมืองถ่านหิน เป็นต้น
ขณะที่ NPS มีแนวทางการเติบโตธุรกิจในอนาคต ได้แก่ การพัฒนาโรงไฟฟ้า IPP ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ขนาด 560 MW ,การพัฒนาโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า 6 และ 11 เพื่อขยายพลังการผลิตไฟฟ้าจากน้ำยางดำ ,การขยายกำลังกำลังผลิตโรงไฟฟ้า BEA และขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ และการมีพื้นที่เชื่อมต่อกับแนวท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท. เพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในอนาคตตามความต้องการของลูกค้า
นายโยธิน กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือน มี.ค.2566 ที่ผ่านมา NPS ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ หรือ Floating Solar Farm ระยะที่ 1 กำลังผลิตติดตั้ง 60 MW ซึ่งสร้างบนพื้นที่อ่างเก็บน้ำของบริษัทฯ ที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ 1,200 ไร่ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบการเดินเครื่อง และจะเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในช่วงไตรมาส 4/2566
นอกจากนี้ NPS อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการติดตั้ง Floating Solar Farm ระยะที่ 2 กำลังผลิตติดตั้ง 90 MW ซึ่งสร้างบนพื้นอ่างเก็บน้ำของบริษัทฯ เนื้อที่ 1,600 ไร่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 2/2567
นายโยธิน ระบุด้วยว่า หากการดำเนินโครงการ Floating Solar Farm ทั้ง 2 ระยะ แล้วเสร็จ จะทำให้ NPS มีกำลังผลิตไฟฟ้า Floating Solar Farm รวมกันถึง 150 MW ซึ่งถือว่ามีกำลังผลิตใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก และเทียบเท่ากับการลดการใช้เชื้อเพลิง Biomass หรือถ่านหินได้ประมาณปีละ 3 แสนตัน ขณะที่โครงการ Floating Solar Farm จะลดการระเหยของน้ำในอ่างเก็บน้ำได้ประมาณ 30% ของพื้นที่ติดตั้ง Floating Solar Farm