‘ชัชชาติ’ แถลงผลงาน 1 ปี ในโอกาสครบรอบนั่งพ่อเมือง กทม. ถ่อมตัวให้คะแนนตัวเอง 5 เต็ม 10 เพื่อให้มีโอกาสปรับปรุงตัว เผยเรื่องคอร์รัปชั่นปัญหาแก้ยากสุด ชี้ 5 Key Drivers ขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ส่วนนโยบาย 216 ข้อ ทำไปแล้ว 211 เรื่อง เลิกทำ 4 ประเด็น วางปีที่ 2 ลงรายละเอียดแต่ละนโยบายมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 13 มิถุนายน 2566 นายชัชชาติิ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงผลงานในวาระครบรอบ 1 ปี ในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ความตอนหนึ่งระบุว่า เป็น 365 วันที่สนุก และยังมีพลังอีกเหลือเฟือ การทำงานในอีก 3 ปี ยังสบายมาก ทั้งนี้ ผลงานต่างๆ ไม่ใช่ผลงานของ ‘ชัชชาติ’ แต่เป็นผลงานของทีมและทุกๆคนที่ร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร, คนกวาดขยะ 80.000 คน ,ทีมสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 คน และภาคีเครือข่ายทั้งหมดที่ร่วมมือกัน ทำให้เห็นว่า เป็นการทำงานที่ไร้รอยต่ออย่างแท้จริง แต่หากมีข้อบกพร่องอะไร ก็ขอรับไว้ เพราะตนเป็นผู้นำ
สำหรับการประเมินตัวเองในรอบ 1 ปี ขอให้คะแนนตัวเองที่ 5 เต็ม 10 คะแนน เพราะจะได้ปรับปรุงตัวเองได้มากขึ้น ถ้าให้เต็ม 10 จะปรับปรุงตัวเองยาก ดังนั้น ให้ 5 คะแนน เพื่อมีโอกาสปรับปรุงตัวเองได้มากขึ้น
และในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เรื่องที่ยากที่สุดคือ ประเด็นการปราบรามและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะมันคือสารตั้งต้น และความโปร่งใสคือหัวใจในการทำงาน ถ้าไม่มีความโปร่งใส ประชาชนก็ไม่ไว้ใจ สุดท้ายก็ไม่มีใครไปด้วยกัน แต่เท่าที่ได้ประสบมา ข้าราชการและลูกจ้างส่วนใหญ่ยังเป็นคนดี ดังนั้น จะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมค่านิยมตรงนี้ ก็ต้องเริ่มจากฝ่ายบริหารเป็นหลัก ทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม ซึ่งประชาชนจะเป็นแนวร่วมให้แน่นอน และถ้าทำได้ กทม.จะมีเงินเหลือไปทำเรื่องอื่น
@ 5 Key Drivers เคลื่อนงานในรอบ 1 ปี
นายชัชชาติ กล่าวว่า ช่วงปีแรกของการทำงาน กุญแจไขไปสู่ความสำเร็จ (Key drivers) มี 5 ประการ ได้แก่
1. ให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย ประสานกับเส้นเลือดใหญ่ให้เข้มแข็ง เมกะโปรเจ็กต์เดินต่อ เสริมกับเส้นเลือดฝอย กทม.เส้นเลือดฝอยอ่อนแอ ซึ่งเส้นเลือดฝอยในความหมายนี้คือ ที่ชุมชน ท่อระบายน้ำ ฟุตบาท ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนใกล้บ้าน เป็นต้น แต่เมื่อเข้ามารับตำแหน่งก็ประสานการทำงานให้เส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอยเข้มแข็งควบคู่กันไป
2.การใช้เทคโนโลยีร่วมขับเคลื่อน ที่ผ่านมาเป็นงานอนาล็อก นั่นคือ ใช้งานเอกสารจำนวนมาก แต่ในปีที่เข้ามาก็ใช้สิ่งใหม่ๆ เช่น ทราฟฟี่ฟองดู (Traffy Fondue) สำหรับแจ้งเหตุต่างๆ, การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (Open Data), เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine), การให้ใบอนุญาตออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าและเป็นตัวเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะไม่มีทางหวนกลับไปทำงานแบบเดิมอีก เป็น Game Changer และที่สำคัญต้องเหมาะสม เพราะที่ผ่านมา กทม.ผลิตแอปพลิเคชั่นเยอะมากจนเป็นสุสาน เพราะส่วนมากไม่ได้ใช้งาน
3.ความโปร่งใส เป็นโจทย์ที่ประชาชนให้มาตั้งแต่วันแรก เพราะประชาชนรับไม่ได้กับความไม่โปร่งใส ซึ่งเริ่มกันตั้งแต่ความคิดของผู้บริหาร การแต่งตั้งโยกย้ายต้องใช้คุณธรรมความสามารถ ไม่มีการเก็บส่วย ไม่มีการเรียกเก็บเงินใดๆทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ โดยเฉพาะในเชิงนโยบาย
4.เปลี่ยนความคิดข้าราชการ จากเดิมที่เอาผู้ว่าฯกทม.เป็นศูนย์กลาง การจะตัดสินใจอะไรก็รอคำสั่งผู้ว่าฯกทม. เป็นสำคัญ ตอนนี้ได้ให้แนวคิดใหม่ว่า ให้หันไปมองประชาชนแทน เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีทราฟฟี่ฟองดู เป็นตัวกลางเชื่อมประสานไปกับการลงพื้นที่ มีคนถามว่า ทำไมต้องลงพื้นที่ตรวจงาน ลงพื้นที่เวลามีเหตุด่วน ทำไมต้องมีกิจกรรมผู้ว่าฯสัญจร ก็เพราะนั่นคือการเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต้องตอบสนองประชาชนตลอดเวลา และผู้บริหารทุกคนต้องทำเป็นตัวอย่าง
และ 5. สร้างภาคีเครือข่าย ปีแรกไม่มีบ แต่มีพลังงานจากเครือข่ายต่างๆ ทั้งจากเอกชน อาสาสมัคร และองค์กรอื่นๆ กิจกรรมต่างๆเกิดขึ้นได้จากคามร่วมมือระหว่างกัน
@216 นโยบาย ทำไปแล้ว 211 นโยบาย
นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ตอนหาเสียงเรามี 216 นโยบาย ถือเป็น Action Plan ในการขับเคลื่อนงานต่างๆ แต่ตอนนี้จาก 216 นโยบายสู่ 226 นโยบาย โดยทำไปแล้ว 211 นโยบาย ยังไม่ได้ทำ 11 นโยบาย และมี 4 นโยบายที่หยุดดำเนินการ นโยบายที่ไม่ได้ทำส่วนหนึ่งก็เพราะว่าต้องรอการเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่น อย่างกรณีการกระตุ้นเศรษฐกิจเมือง หรือการผลักดัน กทม. เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค อาจจะต้องรอในปีที่ 2-4 ของการบริหาร ส่วน 4 นโยบายที่ไม่ทำแล้ว ก็เนื่องมาจากมีบางนโยบายที่ข้อมูลไม่สอดคล้อง ตัวอย่างนโยบายที่ยกเลิก เช่น ห้องให้นมบุตร ซึ่งเมื่อทำจริงๆไม่มีใครใช้แล้ว เพราะคนมีลูกน้อยลง หรือนโยบายห้องสมุดเคลื่อนที่ ก็ยกเลิกจากเหตุผลที่ไม่มีความคล่องตัว ถนนตามตรอกซอกซอยเล็ก จึงเปลี่ยนไปใช้ออนไลน์แทน เป็นต้น ทั้งนี้ การสืบค้นนโยบายทั้งหมด จะเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ https://gov.bangkok.go.th/policy/web/
“1 ปีแรก เป็นการทำเล็กๆก่อน หรือเป็นการทดสอบคอนเซ็ปต์ ปี 2-3 จะเข้าสู่การลงรายละเอียดแต่ละนโยบาย ปีนี้ หลายๆนโยบายจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ส่วนปีหน้าจะเป็นการขยายสเกลออกไป” นายชัชชาติกล่าว
@ย้ำไม่ทิ้งโปรเจ็กต์ใหญ่
ส่วนโครงการขนาดใหญ่ ยืนยันว่ายังสานต่ออยู่ แต่การทำโครงการใหญ่ ไม่สามารถทำได้ภายใน 1 ปี หลายเรื่องทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นต้น ดังนั้น ตนไม่ได้เคลมว่าเป็นผลงานของนายชัชชาติ แต่เป็นผลงานของ กทม. ดังนั้น โครงการขนาดใหญ่ จึงมีการทำต่อ เช่น ปรับปรุงโรงพยาบาลกลาง วงเงิน 4,000 ล้านบาท, ก่อสร้างโรงพยาบาลบางนา วงเงิน 3,000 ล้านบาท, ก่อสร้างอุโมงค์บึงหนองบอน วงเงิน 4,900 ล้านบาท, อุโมงค์ระบายน้ำช่วงคลองเปรมประชากร - คลองบางบัว วงเงิน 2,200 ล้านบาท ก็ทำต่อ เป็นต้น
@งบแต่ละปีเหลือใช้ไม่เกิน 1.8 หมื่นล้านบ.
อีกช่วงหนึ่ง นายชัชชาติกล่าวถึงสถานการณ์งบประมาณของ กทม.ว่า ในปี 2566 ประมาณการณ์รายได้ไว้ที่ 79,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้ 65,000 ล้านบาท สัดส่วนประมาณ 76% ของรายได้ทั้งหมด ที่เหลือจะเป็นรายได้ที่ กทม.จัดเก็บเองที่ 14,000 ล้านบาท สัดส่วนอีก 24% ดังนั้น รายได้ของ กทม.จึงไม่ได้มีมาก
หากมาดูตัวเลขงบประมาณในแต่ละปี จะพบว่า เป็นรายจ่ายประจำ 59% รายการผูกพันงบประมาณ 18% ที่เหลืออีก 23% จึงจะเป็นเงินงบประมาณที่ผู้บริหารสามารถนำไปบริหารจัดสรรได้ ซึ่งในแต่ละปีจะเหลือเฉลี่ยที่ 18,000 ล้านบาท ขณะที่สถานะเงินสะสมของ กทม.ในปัจจุบัน มีอยู่ 49,837 ล้านบาท ส่วนภาระหนี้ของกทม. จริงๆมีหลายตัวเลข แต่ถ้ายกตัวอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะมีหนี้รวมกันประมาณ 97,400 ล้านบาท ดังนั้น การจะำโครงการในอนนาคต จะต้องระมัดระวัง เพราะ กทม. มีภาระที่ต้องเจรจากับรัฐบาลและมีภารกิจอื่นๆที่ต้องใช้ เช่น การศึกษา ระบายน้ำ เป็นต้น
“บางคนถามว่าทำไมไม่จ่ายหนี้ให้หมดเลย? ก็เป็นเพราะเราไม่มีตังค์เยอะนะ ทุกอย่างต้องรอบคอบและบริหารจัดการให้ดี ต้องเรียนสถานการณ์ในการเดินหน้าต่อหรือทำโครงการใหม่ จะต้องคิดให้รอบคอบ” นายชัชชาติระบุ