ศาลปกครองสูงสุด ยืนไม่รับฟ้อง 'ศรีสุวรรณ จรรยา' ฟ้อง รมว.และปลัด สธ.พร้อมพวก ขอให้สั่งระงับจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิด-19 ชี้เป็นกรณีที่ไม่อาจออกคำบังคับได้ ผู้ฟ้องไม่มีสิทธิฟ้องคดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาในคดีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นฟ้อง รมว.กระทรวงสาธารณสุข, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, อธิบดีกรมการแพทย์ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขอให้กระทรวงสาธารณสุขระงับการจัดซื้อฟาวิพิราเวียร์ มาใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนกว่าจะมีหลักฐานพิสูจน์เพิ่มเติมได้ว่า ได้ผลดีต่อผู้ป่วยและไม่มีผลเสียในระยะยาว
โดยคำฟ้องระบุสนุปว่าผู้ถูกฟ้องใช้ ดุลยพินิจโดยมิชอบในการผลักดันการจัดซื้อจัดหายาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มไม่หยุดหย่อน ทั้งๆที่ยาดังกล่าวประเทศผู้ผลิตยังไม่อนุมัติให้ใช้ยาดังกล่าว เพราะอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการจัดหาเวชภัณฑ์ยาและขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงรายการจัดซื้อเวชภัณฑ์ยาจากยา Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์) ตามโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ฯ 50,000 โดส เป็นยา Favipiravir-ฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 17,065,457 เม็ด โดยก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งให้ซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ ในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 แล้วจำนวน 254 ล้านเม็ด และเดือนตุลาคม-ธันวาคม เดือนละ 100 ล้านเม็ด รวม 300 ล้านเม็ด ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 4-6 หมื่นล้านบาท
ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์บริษัทเจ้าของสูตรยาในญี่ปุ่นจะยุติการทดลองใช้ยาดังกล่าวกับโรคโควิด-19 เนื่องจากความยากลำบากในการประเมินประสิทธิผลของยาที่มีต่อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน และรัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังไม่อนุมัติให้ใช้ยานี้ เพราะบริษัทผู้ผลิตไม่สามารถมีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อพิสูจน์ถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยทั้งๆที่มีข้อพิสูจน์และผลงานวิจัยว่ายาแผนโบราณของไทยหลายชนิด อาทิ ฟ้าทลายโจร ซึ่งมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ คือ แอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) มีประสิทธิภาพในการจำกัดการแพร่ของไวรัสได้ แต่กลับไม่มีการส่งเสริมการใช้ในวงการแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐ
คดีนี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกฟ้องโดยให้เหตุผลสรุปว่า ข้อจำกัดของหลักฐานด้านประสิทธิภาพของยาฟาวิพราเวียร์ในการรักษาโควิด-19 และให้กำหนด มาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริมการใช้ฟ้าทะลายโจร โดยอ้างข้อเท็จจริงว่ายาฟ้าทะลายโจร มีประสิทธิภาพดีกว่ายาฟาวิชิราเวียร์ในการรักษาโควิด-19นั้น เห็นว่ากรณีตามคำขอดังกล่าว เป็นเรื่องการวิจัยทางการแพทย์ ในเรื่องการใช้ยารักษาโรคโควิด-19 ซึ่งต้องศึกษาและทำการวิจัยจึงต้องกระทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญด้านยาโดยเฉพาะ ประกอบกับ การศึกษาวิจัยทางการแพทย์กรณีนี้ต้องอนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อสนับสนุนโครงการ ดังกล่าวด้วย อันเป็นเรื่องนโยบายการบริหารราชการของรัฐบาล ศาลปกครองจึงไม่อาจก้าวล่วง ไปพิจารณาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกำหนดได้ ดังนั้น คำฟ้อง ในข้อหาที่สองจึงเป็นกรณีที่ศาลไม่อาจออกคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2552 ผู้ฟ้องคดีจึง ไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจาก สารบบความ
ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากคำฟ้องและคำขอของผู้ฟ้องคดีเป็นกรณีที่ศาลไม่อาจออกคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน