‘มธ.’ จับมือ ‘มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์’ จัดเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ ผลักดัน ‘การจัดซื้อเชิงกลยุทธ์’ สู่อาเซียน หวังเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’
......................................
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับ School of Public Health มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จัดเวทีประชุมวิชาการนานาชาติภายใต้หัวข้อ ‘The Successes of Strategic Purchasing for UHC in Thailand’ ซึ่งภายในงานดังกล่าว มีการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเรื่อง 'ความสำเร็จของการจัดซื้อเชิงกลยุทธ์สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย'
โดย ศ.ดร.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ประธานมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ ระบุว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1982 และตลอดจนทศวรรษ 1990 มีการศึกษาเกี่ยวกับการเงินสำหรับระบบสาธารณสุขของประเทศไทย โดยผลการศึกษาสรุปว่า ค่ารักษาพยาบาลที่ครัวเรือนต้องจ่ายเองสูงเกินไป รัฐบาลจึงพยายามพัฒนาความคุ้มครองสุขภาพสำหรับทุกคน และทำให้ต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ในเวลานั้นระบบการจ่ายเงินค่อนข้างกระจัดกระจายอย่างมาก ดังนั้น จึงได้ปรับปรุงกลไกการเงินจนเป็นวิธี ‘การจัดซื้อเชิงกลยุทธ์’ ในปัจจุบัน โดยมีการใช้รูปแบบการจัดซื้อแบบเหมาจ่ายรายหัว (capitation) สำหรับบริการผู้ป่วยนอก ,การเหมาจ่ายตามกลุ่มโรคด้วยราคากลาง (Diagnosis-related group: DRG) สำหรับบริการผู้ป่วยใน และการจ่ายตามบริการที่ให้ (fee for service) สำหรับการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ
ด้าน พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า สปสช.มีความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งในการพัฒนา เพื่อทำให้ประชาชนได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลภายใต้งบประมาณจำกัด แต่มีประสิทธิภาพ โดย สปสช. มีกลไกการจัดเก็บข้อมูลที่โรงพยาบาลจะนำส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทำให้สามารถมีข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณค่าใช้จ่ายสุขภาพที่มีรูปแบบของการกระจายความเสี่ยงหรือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข
นายคณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและส่งเสริมป้องกันโรค สปสช. กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิสำหรับผู้ป่วย เป็น gatekeeper ที่ช่วยคัดกรองเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ให้บริการระดับสูง ในแต่ละภูมิภาคจะมีโรงพยาบาลที่สามารถให้บริการด้านสุขภาพเฉพาะทาง และยังสามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัยได้ด้วย
นอกจากนี้ หน่วยการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิยังทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อช่วยกันดูแลคุ้มครองสิทธิประชาชนให้เข้าถึงบริการที่จำเป็น ยิ่งไปกว่านั้น สปสช. ได้พัฒนารวบรวมและใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูล เพื่อตรวจสอบและสามารถสะท้อนต้นทุนและการเบิกจ่ายเงินของ สปสช.
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นในประเทศไทย มีการพยายามต่อสู้ผลักดันอย่างมาก เพราะการรักษาพยาบาลในระบบเดิมได้ทำให้ครัวเรือนต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล กระทั่งต่อมาได้มีการเคลื่อนไหวผลักดันจนประสบความสำเร็จเป็น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นการประกันความยั่งยืนของระบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาได้มีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่เชื่อมโยงกันระหว่างภาคนักวิชาการ ภาคนโยบาย องค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGOs) และภาคีเครือข่ายประชาชน เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะการมีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกด้วย
ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ประเทศไทยได้มีการพัฒนาเครื่องมือที่สำคัญมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบการเงินสุขภาพ ได้แก่ การวิเคราะห์ต้นทุนของโรงพยาบาล และระบบทะเบียนข้อมูลที่อ้างอิงจากเลขบัตรประจำตัวประชาชน นอกจากนี้ เรายังมีการลงทุนในงานวิจัยที่มีการพัฒนากลไกให้สามารถเชื่อมโยงกับการกำหนดนโยบายในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย
ทั้งนี้ ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นฯ วิทยากรพ้องกันว่า ระบบสุขภาพในประเทศไทยยังสามารถปรับปรุงและพัฒนาต่อไปได้ โดยเฉพาะกลไกการเงินที่แตกต่างกันในแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพ นอกจากนี้ ที่ประชุมคาดหวังที่จะเห็นความร่วมมือกันในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อสนับสนุนแต่ละประเทศในการกำหนดลำดับความสำคัญของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพด้านต้นทุน และสร้างผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่มีคุณภาพมากขึ้น
ขณะที่ ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวในช่วงเปิดการเสวนาตอนหนึ่ง ว่า เส้นทางระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย มีการขับเคลื่อนโดยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และมีความพยายามที่ไม่สิ้นสุด เพื่อทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ในขณะที่การจัดซื้อในลักษณะเชิงกลยุทธ์ เป็นวิธีการจัดสรรทรัพยากรของระบบสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสาธารณสุข จนประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ได้รับการยกย่องในระดับโลก