‘ธปท.’ เผยผลสำรวจฯความเชื่อมั่นธุรกิจเดือน พ.ค. ชี้ปัจจัย ‘การเลือกตั้ง-การเมือง’ ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจ ‘น้อย’ ส่วนใหญ่ยังลงทุนตามแผนเดิม ขณะที่บางธุรกิจอาจชะลอลงทุนในไทย-หันไปใช้ลงทุน ‘Automation’ มากขึ้น หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบ 'ก้าวกระโดด'
.......................................
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ผลสำสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจเฉพาะกิจ (BSI Special) เดือน พ.ค.2566 โดยผลสำรวจเกี่ยวกับผลกระทบของการเลือกตั้งและการเมืองต่อการลงทุนของภาคธุรกิจในปี 2566 พบว่า การเลือกตั้งและการเมืองส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจน้อย โดยธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงลงทุนตามแผนเดิม ซึ่งผู้ประกอบการจะพิจารณาปัจจัยพื้นฐานก่อน อาทิ กำลังซื้อ การแข่งขัน และแหล่งทุน
อย่างไรก็ตาม มีธุรกิจส่วนหนึ่งเลื่อนแผนการลงทุน อาทิ ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจการค้า และธุรกิจผลิตเคมีภัณฑ์ เพื่อรอความชัดเจนของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน และค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด ธุรกิจบางส่วนจะหันไปลงทุนใน Automation มากขึ้น หรืออาจชะลอการลงทุนในไทย แต่ไปเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่าแทน
ส่วนการประเมินภาวการณ์ส่งออกของธุรกิจในช่วงไตรมาส 2/2566 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (1/2566) พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 โดยรวมมีแนวโน้มทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยมีหลายธุรกิจประเมินว่า การส่งออกจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน อาทิ ธุรกิจผลิตเคมี ปิโตรเคมี และยางและพลาสติก ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่ส่วนใหญ่จะขยายตัวเล็กร้อยไม่เกินร้อยละ 10 ตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น และปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ทลายคลี่คลายลง
อย่างไรก็ดี หลายธุรกิจคาดว่าการส่งออกในไตรมาส 2/2566 จะทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน เช่น ภาคการค้า และธุรกิจผลิตยานยนต์
สำหรับผลสำรวจเกี่ยวกับระยะเวลาการให้เครดิต (Credit term) ของธุรกิจ พบว่า ระยะเวลาการให้เครดิตของธุรกิจในปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยธุรกิจส่วนใหญ่ให้ Credit term แก่คู่ค้าเฉลี่ยที่ 16-45 วัน ขณะที่กว่าครึ่งของธุรกิจผลิตอาหารให้ Credit term มากกว่า 45 วัน ซึ่งนานกว่าธุรกิจการผลิตอื่นๆ และธุรกิจบางส่วนในกลุ่มบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จะไม่มีการให้ Credit term แก่คู่ค้า
ขณะเดียวกัน ธปท.ยังเผยแพร่ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือน พ.ค.2566 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดยผลสำรวจฯ ระบุว่า ดัชนี RSI อยู่ที่ 51.2 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน และความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงด้วย เนื่องจาก 1.กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่ค่าครองชีพยังทรงตัวในระดับสูง และ 2.มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐสิ้นสุดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการคาดว่าการแข่งขันด้านราคาในช่วงต่อไปอาจสูงขึ้น
ทั้งนี้ หากจำแนกตามประเภทร้านค้า พบว่าความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันปรับลดลงจากกลุ่มห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารเป็นสำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคพยายามลดรายจ่าย โดยเลือกซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น และลดความถี่ในการรับประทานอาหารนอกบ้าน ส่วนความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมทุกภูมิภาคปรับลดลง โดยอยู่ระดับต่ำกว่า 50 ยกเว้นภาคใต้ เนื่องจากยังไม่มีมาตรการจากภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคออกมาใหม่ และทำให้ความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ จากการประเมินการใช้จ่ายของผู้บริโภค ผลสำรวจฯพบว่าผู้บริโภคใช้จ่ายลดลงจากเดือนก่อนที่มีเทศกาลสงกรานต์และยังคงเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็น ส่วนผลกระทบการเมืองต่อการลงทุนนั้น พบว่า 3 ใน 4 ของธุรกิจเห็นว่า การเมืองภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปจะไม่กระทบต่อแผนการลงทุนในปีนี้ โดยจะยังลงทุนตามแผนที่วางไว้” ผลสำรวจฯระบุ