ครม.รับทราบ ‘สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี’ ณ สิ้นเดือน มี.ค.66 อยู่ที่ 61.23% ยังไม่เกินเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ที่ 70% ของจีดีพี พร้อมย้ำสถานะเงินการคลังของประเทศไทยยัง ‘เข้มแข็ง’
......................................
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ โดย ณ วันที่ 31 มี.ค.2566 หนี้สาธารณะมีจำนวน 10.79 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 61.23% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70 ต่อจีดีพี
สำหรับสัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีอยู่ที่ 30.91% ,สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 1.63% และสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 0.05%
นายอนุชา ระบุว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาและทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศในช่วงฟื้นตัว และต้องควบคุมสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งยังมีภาระต้องเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล ส่งผลให้สิ้นเดือน มี.ค.2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับตัวขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระครบกำหนดเป็นจำนวนมาก
“การรายงานในครั้งนี้ เป็นการแสดงสถานะสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ ช่วงเวลานี้เท่านั้น โดยยังไม่รวมสมมติฐานในการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีแผนการปรับโครงสร้างหนี้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้จะขึ้นอยู่กับการได้รับงบประมาณเพื่อชำระหนี้ และประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ในระยะต่อไป ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังรายงานว่า การจัดเก็บรายได้มีจำนวนที่สูงกว่าเป้าหมายตามที่ได้แถลงไปแล้ว
ด้านสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด และสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ พบว่ายังอยู่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในการพูดคุยกันในวันนี้ กระทรวงการคลังได้ขยายความเพิ่มเติม คือ สถานะการเงินการคลังของประเทศไทย ยังอยู่ในสถานะที่มีความเข้มแข็ง และหน่วยงานจัดอันดับเครดิตเรตติ้งต่างๆ ยังมีความมั่นใจในตัวเลขต่างๆที่ออกมา” นายอนุชา กล่าว
นายอนุชา กล่าวด้วยว่า เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท ฟิชท์ เรตติ้ง ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้วิเคราะห์สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยหลังการเลือกตั้งว่า อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในระยะสั้น เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายของประเทศ ความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 2567
รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินการมาตรการตามนโยบายที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ รวมถึงความสามารถและการรักษาเสถียรภาพของสัดส่วนหนี้ภาครัฐในอนาคต อย่างไรก็ตาม อันดับความน่าเชื่อถือของไทยในปัจจุบัน ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการสถานะการเงินของประเทศไทยที่มีแข็งแกร่ง กรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคมีประสิทธิภาพ และการฟื้นตัวการบริโภคเอกชนฟื้นตัว รวมทั้งการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นปัจจัยบวก