‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ เร่งกวดขันและทบทวนมาตรการที่เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังพบการจัดเก็บหลังจัดรูปที่ดินมีราคาต่ำลง ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำตามปณิธานเดิม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 27 พฤษภาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)กล่าวภายหลัง ร่วมกิจกรรม “ผู้ว่า กทม. สัญจร เขตพญาไท”ว่าเขตพญาไทพื้นที่ไม่ได้ใหญ่มาก มีประชากรอยู่ประมาณ 60,000 คน สภาพพื้นที่ล้อมรอบด้วยคลองสามเสน คลองบางซื่อ ถนนสายหลักในพื้นที่ ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีและถนนพระราม 6 ฯลฯ
ปัญหาหลักๆในพื้นที่เรื่องจุดน้ำท่วมมี 2 จุด คือ วิภาวดี ซึ่งได้รับการแก้ไขแล้วบริเวณหน้ากรมทหารเป็นเขตความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้เข้าไปดูแลโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีบริเวณถนนสุทธิสารบางจุด จากการประเมินสถานการณ์โดยสำนักการระบายน้ำพบว่าดีขึ้น การขุดลอกคูคลองระบายน้ำสามารถดำเนินการไปได้กว่า 3,000 กิโลเมตร ซึ่งในปีนี้คงไม่มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ แต่ปัญหาที่ยังคงมีอยู่คือไฟฟ้าส่องสว่าง จากทั้งหมด 2,021 ดวง ขณะนี้เหลือที่ยังต้องแก้ไขอีกเพียง 60 ดวง ซึ่งจะเร่งประสานการไฟฟ้านครหลวงแก้ไขภายในเดือนนี้
สำหรับโรงเรียนสังกัดกทม.ในพื้นที่มีเพียง 1 แห่ง คือโรงเรียนวัดไผ่ตัน เปิดการเรียนการสอนถึงชั้นม.6 จากการติดตามการดำเนินการตามนโยบายเรื่องของการติดตั้งห้องคอมพิวเตอร์แล็บทุกโรงเรียนทั้งหมด 437 แห่ง โรงเรียนวัดไผ่ตันก็เตรียมห้องไว้เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้ปรับปรุงคุณภาพอาหาร โดยจัดให้มีสลัดบาร์ สัปดาห์ละ 3 วัน และดำเนินการโครงการคืนครูให้กับนักเรียนโดยจ้างธุรการ ทั้งนี้ศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวก็ได้มีการพัฒนาการให้บริการเช่นเดียวกัน
“หนึ่งในปัญหาที่เขตส่วนใหญ่มีอยู่คือ อัตราว่าง โดยเขตพญาไทยังขาดบุคลากรอยู่อีก 27 อัตรา ซึ่งกทม.จะได้ปรับในส่วนของการสอบคัดเลือกให้ดีขึ้น มีการคัดเลือกคนอย่างยุติธรรม” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
@ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ ‘ภาษีที่ดิน’
นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่จะฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากคือ เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เดิมการเก็บภาษีโรงเรือนจะคิดจากรายได้ 12.5% เพื่อมาเป็นรายได้ของเขต แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบภาษีใหม่โดยคิดตามมูลค่าที่ดิน
ยกตัวอย่างเขตพญาไท ก่อนที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษี สามารถจัดเก็บได้ประมาณ 300 ล้านบาท เมื่อเปลี่ยนรูปแบบภาษีทำให้รายได้ลดลงเหลือประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะคาดว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้ที่มีรายได้มากจะต้องเสียภาษีมากแต่พบว่าไม่ได้เป็นไปตามนั้น ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่พญาไท เดิมเสียภาษี 10 ล้านบาท แต่เมื่อเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เสียภาษีเพียง 1 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าภาษีลดลงถึง 10 เท่า หรืออาคารสำนักงานใหญ่แห่งหนึ่ง เดิมเสียภาษีกว่า 11 ล้านบาท เพราะคำนวณจากค่าเช่าภายในสำนักงาน แต่เมื่อคิดภาษีรูปแบบใหม่ เหลือเพียง 7 แสนบาท เพราะคิดตามมูลค่าที่ดิน และยิ่งเป็นอาคารเก่าก็ต้องคิดค่าเสื่อมเพิ่มไปอีก
ในขณะที่ห้องเช่าซึ่งเป็นอาคาร เดิมเก็บได้ 4 ล้านกว่าบาท ภาษีใหม่เก็บได้เพียง 7 แสนบาท เพราะเจ้าของได้ย้ายชื่อมาอยู่ในห้องเช่าทำให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยและจะเสียภาษีในอีกอัตราหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ต้องฝากไปถึงรัฐบาลและรัฐสภาใหม่ เพื่อให้สรุปและทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นและสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง รวมทั้งพิจารณาเงินในส่วนที่ยังค้างกทม.อยู่ เนื่องจากนโยบายการลดภาษีหากคืนเงินมาได้ ท้องถิ่นจะมีเงินสามารถนำไปบริหารตามหลักกระจายอำนาจได้มากขึ้น