ผบ.ตร.ลงพื้นที่ น่าน-เชียงใหม่ ร่วมประชุมด้านคดีออนไลน์ เผยมีคดีรายวัน 800 คดี หลอกลวงด้านสินค้า-บริการมาอันดับ 1 เผยหลัง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บังคับใช้ เอื้อประชาชนแจ้งความง่ายขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุรพล เปรมบุตร ผบช.ฯ ปฏิบัติราชการแทน รอง ผบช.สอท. พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่จ.น่าน และเชียงใหม่ เรียกประชุมหัวหน้าโรงพักในสังกัด และผู้บังคับบัญชาทุกระดับ รับฟังปัญหา พร้อมทั้งบรรยายให้ความรู้กฎหมาย และแนวทางในการสืบสวนปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ยอมรับคดีออนไลน์มีปริมาณมากขึ้นทุกวัน ในขณะที่กำลังพลตำรวจมีเท่าเดิม มั่นใจ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ที่เพิ่งคลอดออกมาใหม่ ทำให้ตำรวจทำงานเร็วและง่ายขึ้น
@แจ้งความออนไลน์ล้น 800 คดี/วัน
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถิติคดีออนไลน์ที่เกิดขึ้นจากระบบรับแจ้งความออนไลน์มีประมาณ 800 คดีต่อวัน เป็นคดีที่มีความเชื่อมโยงกันเกิน 50% คดีที่มีการแจ้งความมากที่สุดยังคงเป็นการหลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการ , อันดับ 2 เป็นคดีหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน และอันดับ 3 เป็นการหลอกให้กู้เงิน ตามลำดับ แต่คดีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ คดีหลอกให้ลงทุน , อันดับ 2 หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน และอันดับ 3 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ หรือ Call Center
อย่างไรก็คดี คดีมีแนวโน้มที่จะลดลง แต่การปราบปรามเป็นไปได้ยาก เนื่องจากผู้กระทำผิดอาศัยประเทศเพื่อนบ้านในการดำเนินการ ประกอบกับต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น กสทช. เครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์ ธนาคาร ปปง. ด้วย ซึ่งขณะนี้เราจะเน้นเร่งปราบปรามบัญชีม้าทุกพื้นที่ เนื่องจากเป็นความผิดที่เกิดภายในประเทศ ซึ่งทุกคดีมีการโอนเงินผ่านบัญชีม้า หากเราป้องกันและปราบปรามบัญชีม้าอย่างจริงจังจะทำให้คดีลดลง
@พ.ร.ก.ปราบอาชญกรรมฯ ทำให้แจ้งความได้ง่ายขึ้น
หลังจาก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.66 เป็นต้นมา ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น เดิมคดีออนไลน์ต้องแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ หรือหากแจ้งความโรงพัก โรงพักนั้นต้องส่งต่อให้ท้องที่ที่มีอำนาจสอบสวน ซึ่งทำให้ล่าช้า แต่ปัจจุบันสามารถแจ้งความที่ใดก็ได้ และมีระบบในการประสานงานกับธนาคารในการอายัดบัญชีคนร้ายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การให้ความรู้กับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เรามีโครงการไซเบอร์วัคซีน ผลิตสื่อให้ความรู้ทางออนไลน์ และผลิตครูไซเบอร์ ทั้ง ครู ก (ตำรวจ) 116 คน และ ครู ข (ตำรวจร่วมกับประชาชน) 8132 คน ที่มีความรู้ออกไปเผยแพร่ให้ความรู้กับประชาชนในสถานศึกษา และชุมชนต่างๆ โดยจะทำการทดสอบความรู้ด้วยข้อสอบ 105 ข้อ ซึ่งหากใครทำข้อสอบผ่านเกณฑ์ ก็มั่นใจได้ว่าจะไม่ตกเป็นเหยื่อของคนร้ายอย่างแน่นอน
ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า เนื่องจากคดีออนไลน์เป็นคดีที่ทันสมัย และมีความซับซ้อน คนร้ายมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการหลอกลวงอยู่ตลอด ประกอบกับกฎหมายยังใหม่สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงต้องนำคณะมาบรรยายให้ความรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติงาน โดยมุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามคดีช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนโดยเร็ว ทั้งนี้ฝากประชาสัมพันธ์ประชาชน ให้เข้าไปติดตามรูปแบบคดีออนไลน์ได้ที่ Facebook เตือนภัยออนไลน์ , CybercopTH หรือ www.เตือนภัยออนลไน์.com หรือหากเป็นผู้เสียหายในคดีออนไลน์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์คดีออนไลน์ได้ทุกท้องที่ หรือผ่านระบบออนไลน์ที่ thaipoliceonline.com (ก่อนไปพบพนักงานสอบสวน) หรือแจ้งปัญหาข้อขัดข้องได้ที่ สายด่วน 1441 หรือ 081-8663000