ไปรษณีย์ไทย เปิดแพลตฟอร์ม 'ตู้จดหมายดิจิทัล' บริการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ตอบรับยุคไฮเทค ด้านผู้จัดการใหญ่ย้ำไม่มีการปรับลดพนักงาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไปรษณีย์ไทยสร้างแพลตฟอร์มใหม่เพื่อให้บริการระบบจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจรในระบบ Prompt Post โดยจะมีรูปแบบเป็น 'ตู้ไปรษณีย์ดิจิทัล' แพลตฟอร์มใหม่นี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว เที่ยงตรงแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ปกติไปรษณีย์ไทยให้บริการ 'ตู้จดหมาย' ที่อยู่หน้าบ้านของประชาชนทั่วประเทศอยู่แล้ว เมื่อมีคนอยู่มากขึ้น ตู้จดหมายกลายเป็นรับจดหมายของทุกคนในบ้าน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป จริง ๆ แล้วเอกสารหรือจดหมายนั้นควรจะเป็นของใครของคนนั้น ดังนั้น เมื่อไปรษณีย์ไทยเสนอเปลี่ยนตู้จดหมายที่อยู่หน้าบ้านให้เป็น 'ดิจิทัลเมล์บ็อกซ์' จะเพิ่มระดับการอำนวยสะดวกให้กับประชาชน
ในด้านความปลอดภัยของการใช้ดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ จะต้องผ่านระบบการยืนยันตัวตนจากบัตรประชาชน เป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันจากกรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบดูว่าบุคคลนั้นๆมีเลขบัตรประชาชนถูกต้องมีตัวตนอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ ถ้าได้รับการยืนยันตัวตนถูกต้องสามารถใช้ ดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ ได้ ส่วนการรับและส่งเอกสารผ่านระบบข้างต้นก็เหมือนการส่งจดหมายตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เช่น จดหมายลงทะเบียนที่เกี่ยวกับธุรกิจเมื่อเขียนเสร็จต้องเซ็นชื่อหรือลายเซ็นเมื่อมาเป็นแบบอีเล็กทรอนิกส์ ก็เปลี่ยนเป็นลายเซ็นอีเล็กทรอนิกส์หรืออี-ซิกเนเจอร์ (e-signature) กำกับความถูกต้องและยืนยันว่าไม่มีการปลอมแปลง
ดร.ดนันท์ กล่าวต่อว่า เอกสารอีเลคทรอนิกส์นี้สามารถใช้เป็นหลักฐานในศาลได้ และเมื่อจดหมายส่งออกไปที่ปลายทางจะมีการบันทึกอิเลคทรอนิกส์ (e-Timestamping) กำกับเวลาไว้ด้วย ว่าเป็นเวลาเท่าไหร่ เป็นเวลาที่อ้างอิงจากศูนย์มาตรวัดเวลาโดยตรง สามารถตรวจสอบกลับมาได้ นอกจากนี้เวลาปิดซองก็ยังมี ตราประทับอีเล็กทรอนิกส์ หรือ e-seal อีกด้วย เป็นเหมือนกับจดหมายกระดาษทุกประการ รวมไปถึงตู้ไปรษณีย์ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจก็เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัลเมล์บ็อกซ์เช่นเดียวกัน
"ส่วนข้อแตกต่างระหว่างดิจิทัลเมล์บ็อกซ์และอี-เมล์ ต่างกันตรงที่เวลาใครส่งอะไรเข้ามาในเมล์ของเราบางทีมีสแปม (spam) หรือข้อความที่ส่งมาผ่านอีเมล์โดยไม่ได้ร้องขอและไม่รู้ว่าใครส่งอะไรมา แต่ Prompt Post เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นระบบปิด เพราะฉะนั้นคนส่งอะไรสักอย่างหนึ่งหรือเป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนและ จะต้องรู้จักลูกค้าพิสูจน์ตัวตนได้ถูกต้อง หรือ KYC ( Know Your Customer) ก่อน คนที่ใช้ดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ จะรู้ตัวตนทั้งที่ต้นทาง-ปลายทางทั้งหมด ทุกอย่างคือของจริง ไม่มีสแปมโผล่มา โดยเฉพาะกับหน่วยงานภาครัฐซึ่งให้บริการสาธารณะ จะช่วยอำนวยความสะดวกอย่างมากเวลาต้องส่งเอกสาร บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน" ดร.ดนันท์ระบุ
ดร.ดนันท์กล่าวว่า ทุกอย่างสามารถแปลงมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ และเก็บไว้ในตู้เซฟหรือกล่องเมล์บ็อกซ์ เมื่อต้องการส่งหรือจะใช้หลักฐานเอกสารต่างๆ สามารถดึงไฟล์จากเมล์บ็อกซ์ส่งได้เลย ทางหน่วยงานรัฐจะรับเอกสารเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการ เช่น พาสปอร์ต สามารถทำเอกสารและส่งเป็นดิจิทัลเมล์บ็อกซ์ให้กับผู้ขอพาสปอร์ต หรือสั่งพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม ใส่ซองส่งไปที่บ้านของผู้รับก็ได้เช่นกัน ซึ่งระบบนี้ขั้นตอนแรกจะให้ความสนใจที่หน่วยงานภาครัฐก่อน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเมื่อทุกอย่างถูกเปลี่ยนเป็นอีเล็กทรอนิกส์ใบรับรองแพทย์ใบเสร็จถูกส่งผ่านระบบดิจิทัลเข้าไปที่เมล์บ็อกซ์ของลูกค้าที่มีเมล์บ็อกซ์เช่นกันทุกอย่างสามารถใช้ได้สะดวกขึ้น หรือภาคการศึกษาจะส่งอี-ทรานสคริปต์ในแพลตฟอร์มนี้และส่งอี-ทรานสคริปต์นี้ไปสมัครงานได้ ส่วนประเด็นการปลอมแปลงลายเซ็นอิเลคทรอนิกส์ (e-signature) ไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน เพราะทุกอย่างต้องผ่านระบบการยืนยันตัวตนเวลานี้ไปรษณีย์ไทยหารือกับหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานเพื่อทำโครงการนำร่องคาดว่าในไตรมาส 3 ปีนี้เริ่มใช้ได้เลยทันที
“ระบบเราพร้อมแล้วไม่ว่าจะเป็น e-timestamp e-signature หรือ e-seal จะมีการปรับให้เข้ากับการใช้งานของแต่ละที่ ในส่วนที่ได้เริ่มไปแล้วคือ พัฒนาโปสการ์ดแบบกระดาษเป็นโปสการ์ดออนไลน์ ได้ใช้แล้วในการทายผลฟุตบอลโลก และปัจจุบันนี้ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำโปสการ์ดออนไลน์ ที่ลูกค้าสามารถออกแบบได้ด้วยตัวเองทุกอย่าง เช่น เลือกวิว เลือกกรอบ เขียนข้อความเสร็จแล้วส่งมาที่เราสามารถพิมพ์ออกมาเป็นโปสการ์ดได้เลย จะส่งเป็นกระดาษไปถึงบ้าน หรือส่งให้ใคร หรือจะส่งเป็นอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ทั้งนั้น" ดร.ดนันท์ระบุ
ดร.ดนันท์ กล่าวต่อว่า เมื่อไปรษณีย์ไทยเปลี่ยนแพลตฟอร์มเป็นดิจิทัลเมลบ็อกซ์แล้ว ไปรษณีย์ไทยไม่มีการปรับลดพนักงาน แต่จะปรับเปลี่ยนหน้าที่พนักงานบางส่วน พัฒนาให้บุรุษไปรษณีย์ที่มีอยู่กว่า 20,000 คน แนะนำสินค้าให้กับคนในชุมชน รับออเดอร์สั่งซื้อ และนำสินค้ามาส่งได้แบบตามต้องการ หรือที่เรียกว่าธุรกิจค้าปลีก (retail) เป็นการนำจุดแข็งของบุรุษไปรษณีย์ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนเข้ามาใช้
เมื่อการส่งจดหมายแบบเดิม ๆ เปลี่ยนมาเป็นเมล์บ็อกซ์บุรุษไปรษณีย์เราก็สามารถมาทำอี-คอมเมิร์ช ตรงนี้จะโตขึ้น เพราะต่อไปเมืองมีการขยายตัว พื้นที่ในการส่งของก็กว้างขึ้นตลอดเวลา พื้นที่กว้างขึ้นก็ต้องใช้คนมากขึ้น ไปรษณีย์ไทยบริหารจัดการทรัพยากรให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และอีกหนึ่งโรดแมปของไปรษณีย์ไทย คือไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้บริการขนส่ง แต่จะเป็น Data Company ด้วย
"ผมมองไปรษณีย์ไทยในอนาคตคือ เราเป็นอินฟอร์เมชั่น โลจิสติก ( Information Logistics) นี่คือวิชั่นที่เราจะก้าวต่อไป เพราะฉะนั้นเรื่องเดต้าที่เกิดจากการขนส่ง โลจิสติกส์ อินฟอร์เมชั่น เหล่านี้แหละคือธุรกิจในอนาคตของไปรษณีย์ไทย” ดร.ดนันท์ระบุ
ดร.ดนันท์กล่าวว่า ขณะนี้ไปรษณีย์ไทยใช้เครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ซึ่งมีครอบคลุมทั่วประเทศ ร่วมกับศูนย์บริการวิจัยของจุฬา ทำเรื่องวิจัยการตลาดเช่น ใช้สำรวจสินทรัพย์ให้กับบริษัทที่ทำหน้าที่บริการสินทรัพย์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและตรวจสอบจริงไว้ใจได้