ป.ป.ช.สุพรรณบุรีเร่งตรวจสอบโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตสายสวนนก งบกว่า 7 ล้านบาท โพรงใต้ดินทำให้ทรุดตัวทั้งสาย หลังตรวจรับเพียง 4 เดือน จนท.ชี้เหตุจากน้ำท่วมทำดินสไลด์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2566 นายนิติศักดิ์ วงษ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่ได้รับแจ้งจากศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 กรณี งานก่อสร้างถนนคอนกรีตสายสวนนก องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีสภาพเป็นโพรงใต้ถนน ชั้นดินด้านล่างเกิดการทรุดตัวและสไลด์เกือบตลอดสาย ทั้งที่มีการตรวจรับงานไปเพียงประมาณ 4 เดือน
จากการลงพื้นที่พบว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการปรับปรุงถนนเดิมเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสายสวนนก หมู่ที่ 1 ถึงหมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกุ่ม ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) / ผิวจราจรกว้าง 4 เมตร ระยะทาง 3,400 เมตร หนา 0.15 เมตร พื้นที่ไม่น้อยกว่า 13,600 ตารางเมตร ผู้รับผิดชอบได้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี (เดิมเป็นถนนดิน) ได้รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 10,428,000 บาท (สิบล้านสี่แสนสองหมื่นแปดพันบาทถ้วน) ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ชนะการประกวดราคา คือ บริษัท สหสมชัยธนาพร จำกัด (ขายปลีก,ให้บริการ) ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ตั้งบริษัทอยู่ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเงินทั้งสิ้น 7,447,900 บาท (เจ็ดล้านสี่แสนสี่หมื่นเจ็ดพันเก้าร้อยบาทถ้วน) ต่ำกว่าราคากลาง 28.58 %
สำหรับสภาพพื้นที่ก่อสร้าง ด้านซ้ายเป็นคลอง ด้านขวาเป็นทุ่งนา ไหล่ทางค่อนข้างลาดชัน เนื่องจากเป็นพื้นที่แคบในการก่อสร้างจึงไม่ได้กำหนดให้มีไหล่ทาง แต่ให้เป็นไปตามสภาพพื้นที่ ผู้รับจ้างส่งมอบงานเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 (ระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่อง 2 ปี) ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งเรื่องเบิกเงินให้ผู้รับจ้างจากสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี
จากการตรวจสอบไม่พบความชำรุดเสียหายบนพื้นทาง แต่บริเวณด้านข้างซ้ายและขวา พบว่ามีการสไลด์ของดินไหล่ทางเป็นบางช่วง ระยะทางประมาณ 20 เมตร ทำให้ชั้นดินและชั้นหินคลุกที่รองพื้นคอนกรีตมีการสไลด์ตามลงไปเกิดเป็นโพรงบริเวณด้านข้างทาง ช่างผู้ควบคุมงานให้เหตุผลว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่แคบไม่สามารถทำไหล่ทางได้ประกอบกับในระหว่างดำเนินการก่อสร้างได้เกิดเหตุน้ำท่วม ทำให้ต้องหยุดการก่อสร้างไป 2 เดือน ภายหลังจากน้ำลดแล้ว พื้นดินด้านข้างมีการอุ้มน้ำไว้และเกิดการสไลด์ลงไป องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกุ่มจึงได้มีหนังสือแจ้งผู้รับจ้างให้เข้าดำเนินการแก้ไขเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ซึ่งในวันดังกล่าวผู้รับจ้างยังไม่ได้เข้าไปดำเนินการ
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี จึงแนะนำให้ปักเสาเข็มบริเวณไหล่ทางเป็นระยะโดยเฉพาะจุดที่เกิดการสไลด์ของดินและจุดที่มีการซ่อมแซม เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดในระยะยาว
ซึ่งหลังจากผู้รับจ้างเข้าดำเนินการซ่อมแซมเรียบร้อยแล้วจะเข้าตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้ง