กสม.แถลงกรณีสื่อมวลชนทำข่าวสอบพระภิกษุวัด 3 แห่งที่นครนายก,ฉะเชิงเทรา,สุพรรณบุรี ส่อละเมิดสิทธิมนุษยชน ชี้มีการรุกพื้นที่ส่วนตัวในวัด จี้ สตช.ตรวจสอบการทำงานของตำรวจยาเสพติด เหตุมีการบังคับรับสารภาพ
สำนักข่าวอิศรา (www.israenews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 17/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. ชี้ กรณีบุคคลนำสื่อมวลชนบุกเข้าตรวจสอบพฤติกรรมของพระภิกษุภายในวัด และถ่ายทอดสดขณะปฏิบัติการ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ วัดหนองปรือ จังหวัดฉะเชิงเทรา วัดหนองเตย จังหวัดนครนายก และวัดโคกงูเห่า จังหวัดสุพรรณบุรี ขอให้ตรวจสอบการกระทำของบุคคลที่ได้นำสื่อมวลชนบุกเข้าไปตรวจสอบพฤติกรรมของพระภิกษุภายในวัด 3 แห่ง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพในเคหสถาน นั้น
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย แล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าผู้ถูกร้องได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการนำสื่อมวลชนบุกเข้าไปตรวจสอบพฤติกรรมของพระภิกษุในวัดหรือไม่
โดยที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 50 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองและคุ้มครองว่า บุคคลทุกคนย่อมมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยปราศจากการแทรกแซงทั้งการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศิลปะ และการสื่อความหมายด้วยวิธีอื่น นอกจากนั้นยังได้รับรองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ถูกร้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระภิกษุตามวัดต่าง ๆ ด้วยสาเหตุที่มีประชาชนหรือผู้เสียหายแจ้งเหตุร้องเรียนต่อผู้ถูกร้อง ซึ่งผู้ถูกร้องได้กลั่นกรองเรื่องร้องเรียนเบื้องต้น และดำเนินการเฉพาะกรณีที่ผู้แจ้งเหตุแสดงพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ากรณีมีมูล เช่น กรณีมีคลิปวิดีโอเป็นพยานหลักฐาน เป็นต้น และมีเจตนาเพื่อปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา
โดย กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า สถาบันพระพุทธศาสนาเป็นองค์กรทางสังคม เชื่อมโยงกับความเชื่อของประชาชนและถือเป็นความมั่นคงของรัฐประการหนึ่ง โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ซึ่งใกล้ชิดกับผู้คนในสังคม จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนในการพิทักษ์ปกป้องพระพุทธศาสนา อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติหรือกฎเกณฑ์ใดที่กำหนดไม่ให้ฆราวาสตรวจสอบพฤติกรรมของพระภิกษุสงฆ์ จึงเห็นว่า การตรวจสอบพฤติกรรมของพระภิกษุสงฆ์ เป็นการมีส่วนร่วมในการปกป้องและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้ถูกร้องหรือประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้
อย่างไรก็ตาม การใช้เสรีภาพในแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอาจถูกจำกัดได้ ตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อเคารพและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ความมั่นคงของรัฐ หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยที่บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ที่ต้องปราศจากการแทรกแซงของบุคคลอื่น การละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิดังกล่าวหรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะ และจะกระทำได้เท่าที่จำเป็นหรือพอสมควรแก่เหตุเท่านั้น
จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกร้องรายดังกล่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพฤติกรรมของพระภิกษุสงฆ์ โดยผลปรากฏว่าไม่พบตัวพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด แต่ผู้ถูกร้องได้ถ่ายทอดสดภาพเหตุการณ์อันมีผลให้ปรากฏภาพและเสียงของเจ้าอาวาสวัดที่เกิดเหตุทั้ง 3 แห่ง เผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างชัดเจนโดยมิได้แจ้งขออนุญาตเจ้าอาวาสก่อนแต่อย่างใด รวมทั้งผู้ถูกร้องได้ตั้งข้อสงสัยต่อเจ้าอาวาส และเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดในประเด็นต่าง ๆ เช่น การปล่อยปละละเลยให้พระภิกษุกระทำผิดหรือมีจริยวัตรไม่เหมาะสม การปฏิบัติหรือการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด เป็นต้น
โดยใช้ถ้อยคำตั้งข้อสงสัยที่มีความหมายในทางเสื่อมเสีย ให้วิญญูชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นพระภิกษุประพฤติตนไม่เหมาะสม พูดเท็จ รู้เห็นเป็นใจช่วยปกปิดการกระทำความผิด เป็นเหตุให้เจ้าอาวาสหรือเจ้าหน้าที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนได้รับความอับอาย เดือดร้อนรำคาญใจ เสียหาย ถูกทำลายชื่อเสียง การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเป็นการใช้เสรีภาพในแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกที่เกินสัดส่วนกับเหตุผล ความจำเป็น และกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคล อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ถูกร้องไม่ใช้วิธีการถ่ายทอดสดแต่ใช้วิธีการบันทึกภาพแล้วนำมาเบลอภาพก่อนเผยแพร่ต่อสาธารณะ อันถือเป็นเรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาระดับหนึ่งแล้ว
สำหรับกรณีที่ผู้ถูกร้องเข้าไปในวัดต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบการกระทำของพระภิกษุนั้น เห็นว่ากรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในเคหสถาน โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกร้องได้ขออนุญาตต่อเจ้าอาวาสวัดแต่ละแห่งในการเข้าไปในกุฏิของพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาก่อนทุกครั้ง แต่เจ้าอาวาสวัดต่างก็ยอมรับว่าไม่กล้าปฏิเสธเนื่องจากการใช้คำพูดเชิงกล่าวหาของผู้ถูกร้อง รวมถึงการถ่ายทอดสดภาพเหตุการณ์ทำให้รู้สึกกดดัน จึงอนุญาตให้ผู้ถูกร้องกับพวกเข้าไปภายในวัดได้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความยินยอมดังกล่าวมีเหตุเงื่อนไขมาจากความรู้สึกถูกกดดันจากการใช้คำพูดเชิงกล่าวหา และการถ่ายทอดสดปฏิบัติการของผู้ถูกร้องดังกล่าว ประกอบกับแม้พื้นที่ภายในวัดแต่ละแห่งจะเป็นสาธารณสถานตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญาที่ประชาชนทั่วไปมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ แต่พื้นที่บางส่วนของวัด เช่น กุฏิของพระภิกษุ ก็เป็นพื้นที่จำกัดที่เป็นส่วนตัวซึ่งสมควรจำแนกจากการเป็นสาธารณสถาน ด้วยเหตุนี้ การที่ผู้ถูกร้องเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวโดยอาศัยความยินยอมในลักษณะเช่นว่านั้น ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการจำกัดเสรีภาพในเคหสถานของพระภิกษุสงฆ์
ทั้งนี้ กสม. เห็นว่า การที่ประชาชนเลือกใช้วิธีการแจ้งเหตุต่อผู้ถูกร้อง ย่อมมีสาเหตุมาจากความเชื่อมั่นต่อกระบวนการตรวจสอบของผู้ถูกร้องว่าจะให้ความเป็นธรรมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรสนับสนุนประชาชนและชุมชนให้ร่วมมีส่วนในการแจ้งเหตุเบาะแสเรื่องร้องเรียนหรือแจ้งภัยทางพระพุทธศาสนา ผ่านกลไกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่24 เมษายน 2566 จึงมีมติว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้มีข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชน ต่อผู้ถูกร้องและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สรุปได้ดังนี้
ให้ผู้ถูกร้องเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ โดยลบโพสต์คลิปวิดีโอภาพการถ่ายทอดสดในขณะลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระภิกษุสงฆ์ตามคำร้องนี้ และให้ขอโทษผู้เสียหาย ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ นอกจากนี้ให้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระภิกษุสงฆ์
โดยต้องหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติยศของบุคคล หรือสร้างความเข้าใจผิดว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดโดยที่ยังไม่มีกระบวนการพิสูจน์ตามกฎหมาย รวมถึงต้องได้รับความยินยอมโดยแท้จริงจากผู้มีอำนาจปกครองวัดก่อนเข้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัด โดยให้หลีกเลี่ยงการเปิดเผยอัตลักษณ์ ใบหน้า หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำให้ล่วงรู้ตัวตน เว้นแต่จะได้รับความยินยอมโดยแท้จริงจากบุคคลผู้นั้นก่อน
ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร องค์กรภาคประชาชน และสื่อมวลชน เป็นต้น เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและรวดเร็วในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนพฤติกรรมของพระภิกษุ รวมถึงวิธีหรือแนวทางในการสนับสนุนการตรวจสอบโดยภาคประชาชนแล้วเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
2. กสม. แนะ สตช. ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจปราบปรามยาเสพติด หลังปรากฏกรณีจับกุมผู้ต้องหาบังคับให้สารภาพ และนำสื่อเข้าบันทึกภาพโดยละเมิดสิทธิฯ
นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งอ้างว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดได้เข้าตรวจค้นบ้านพักของผู้ร้องในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยบังคับและข่มขู่บุคคลภายในบ้านซึ่งมีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้หญิงมีครรภ์ให้มานั่งรวมกัน มีการทำร้ายร่างกายบุตรชายของผู้ร้อง และพังประตูเข้าไปตรวจค้นภายในห้องทำให้ลูกบิดประตูเสียหาย
นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้บุตรสาวของผู้ร้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวในระหว่างการตรวจค้น และได้จับกุมหญิงรายหนึ่งซึ่งเป็นญาติของผู้ร้องไว้ รวมทั้งยึดเครื่องบันทึกข้อมูลกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอายัดทรัพย์สินของบุคคลภายในบ้านหลายรายการ ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้นำตัวสามีของผู้ร้อง ซึ่งถูกจับกุมที่จังหวัดราชบุรี และ บุตรชายของผู้ร้อง ซึ่งถูกจับกุมที่กรุงเทพฯ เดินทางมายังบ้านพักหลังดังกล่าวเพื่อทำการแถลงข่าว
โดยในระหว่างการเดินทาง บุคคลทั้งสองถูกข่มขู่ให้รับสารภาพ และเมื่อแถลงข่าวแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวบุคคลที่ถูกจับกุมเดินทางไปยังค่ายนเรศวร จังหวัดเพชรบุรี เพื่อสอบปากคำและจัดทำบันทึกการจับกุม โดยระหว่างที่อยู่ในค่ายนเรศวร ผู้ร้องแจ้งว่ามีการข่มขู่และทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุมด้วย นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดอีกชุดหนึ่งได้เข้าตรวจค้นและจับกุม บุตรชายของผู้ร้องอีกคนหนึ่งที่บ้านพักในจังหวัดเชียงใหม่ โดยอ้างว่ามีการทำร้ายร่างกาย และข่มขู่ให้ลงชื่อรับสารภาพ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง กรณีกล่าวอ้างว่า การตรวจค้นบ้านพักในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทำให้ทรัพย์สินภายในบ้านได้รับความเสียหาย และมีการข่มขู่ ทำร้ายร่างกายบุคคลที่อยู่ภายในบ้าน
จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า การตรวจค้นบ้านพักในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามหมายค้นของศาลอาญา มีการแสดงหมายค้นให้บุคคลภายในบ้านได้รับทราบ และเมื่อพิจารณาวิดีโอถ่ายทอดสดของผู้สื่อข่าวที่เจ้าหน้าที่ให้ติดตามไปบันทึกภาพและเสียงระหว่างตรวจค้นก็ไม่พบว่ามีการทำร้ายร่างกายบุคคลที่อยู่ภายในบ้านตามที่กล่าวอ้าง ในชั้นนี้จึงยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่รับฟังได้ว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่ทำลายลูกบิดประตูห้องนอนชั้นสองของบ้านเพื่อให้สามารถเข้าไปตรวจค้นภายในห้องดังกล่าวได้โดยไม่แจ้งให้บุคคลที่อยู่ภายในบ้านนำกุญแจมาเปิดประตูให้เสียก่อนนั้น เห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้พยายามอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันมิให้ทรัพย์สินของผู้ร้องได้รับความเสียหาย ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่สอง กรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่และทำร้ายร่างกายเพื่อให้บุคคลที่ถูกจับกุมรับสารภาพในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 รับรองและคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลไว้ การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ฝ่ายผู้ร้องและเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกร้องให้ข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกันในสาระสำคัญว่ามีการข่มขู่หรือทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุมในระหว่างที่อยู่ในความควบคุมหรือไม่ เห็นว่า ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยแนวทางการประสานงานคดียาเสพติด พ.ศ. 2553 การจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายสำคัญ ต้องจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะซักถาม
แต่เอกสารบันทึกการตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาทั้งสี่ราย ไม่พบว่ามีการระบุถึงการบันทึกภาพและเสียง และแม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าในบันทึกการตรวจค้นจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่มิได้บังคับขู่เข็ญ และผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานแล้ว แต่การลงลายมือชื่อในเอกสารบันทึกการตรวจค้นจับกุมอาจมีลักษณะที่ผู้ต้องหาจำยอมต้องลงลายมือชื่อเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกกระทำบางอย่าง ซึ่งไม่อาจยืนยันได้ว่าไม่มีการข่มขู่หรือทำร้ายร่างกายในระหว่างควบคุมตัว และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลคือผู้ร้องและผู้ถูกจับกุมก็ยืนยันตรงกันว่า ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่สอบปากคำผู้ถูกจับกุมรายหนึ่งที่ค่ายนเรศวร ได้ยินเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของผู้ถูกจับกุมอีกรายด้วย
จึงน่าเชื่อว่ามีการทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้สารภาพภายในค่ายฯ นอกจากนี้ กสม. ยังเห็นว่า กรณีตามคำร้องนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 ควบคุมตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดไว้ไม่เกิน 3 วัน เพื่อสอบสวนขยายผล ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่กำหนดให้บุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา ต้องถูกนำตัวไปยังศาลโดยพลัน ซึ่ง กสม. เคยมีข้อเสนอแนะให้ยกเลิกอำนาจการควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 3 วัน แล้ว เพื่อคุ้มครองสิทธิที่ผู้ถูกจับกุมจะได้พบศาลโดยเร็วด้วย
ประเด็นที่สาม กรณีเจ้าหน้าที่ให้สื่อมวลชนติดตามการปฏิบัติหน้าที่และบันทึกภาพและเสียงในระหว่างการตรวจค้น จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีสื่อมวลชนจำนวนมากเข้าไปในบ้านของผู้ร้องในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อบันทึกภาพและเสียง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจค้นและจับกุม และมีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยไม่มีการปกปิดภาพเด็กและบุคคลที่อยู่ภายในบ้านซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี และสื่อมวลชนได้สัมภาษณ์ผู้ต้องหาเกี่ยวกับพฤติการณ์ความผิดภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้แล้วด้วย
การที่สื่อมวลชนกระทำการดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ป้องกันที่เพียงพอมิให้เกิดการแทรกแซงความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิส่วนบุคคล ตลอดจนหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายว่ามีความผิด อันไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 855/2548 ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว ซึ่งห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจนำสื่อมวลชนทุกแขนงไปทำข่าวหรือถ่ายภาพ และห้ามให้สื่อมวลชนทุกแขนงถ่ายภาพ สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวผู้ต้องหาในระหว่างปฏิบัติการตรวจค้น จับกุม การควบคุมตัวของตำรวจ จึงถือว่าเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด(ผู้ถูกร้อง) ที่ได้ทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุมในระหว่างการจัดทำบันทึกการตรวจค้นจับกุมภายในค่ายนเรศวร จังหวัดเพชรบุรี และให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ละเลยปล่อยให้สื่อมวลชนเข้าไปในบ้านของผู้ต้องหาซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ เพื่อบันทึกภาพและเสียง และถ่ายทอดสดการปฏิบัติหน้าที่ขณะตรวจค้นและจับกุม รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้ต้องหาในขณะอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
โดยให้ดำเนินการไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้เกิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนลักษณะนี้อีก