นิด้าโพลเผยผลสำรวจจากปชช.เรื่อง “นโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการของพรรคการเมืองช่วงเลือกตั้ง” ปชช.กว่าร้อยละ 66ไม่เคยคำนวณและไม่ทราบจำนวนวงเงินของนโยบาย โดยปชช.บางส่วนแนะแหล่งที่มาของเงินในการทำนโยบายให้เก็บเพิ่มจากปชช.หรือห้างร้านและตัดตัดทอนงบไม่จำเป็นจากกรมหรือกระทรวงต่างๆ หากมีความเสียหายพรรคที่คิดนโยบายนั้นจะต้องรับผิดชอบ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับเครือข่ายการเมืองสะอาดเปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “นโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการของพรรคการเมืองช่วงเลือกตั้ง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-24 เมษายน 2566จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่างเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการของพรรคการเมืองช่วงเลือกตั้ง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับทราบของประชาชนต่อวงเงินที่จะต้องใช้เกี่ยวกับนโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการต่าง ๆของแต่ละพรรคการเมือง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 66.72 ระบุว่า ไม่ทราบ และ/หรือ ไม่เคยทดลองคำนวณ รองลงมา ร้อยละ 14.81 ระบุว่าทราบ และ/หรือ เคยคำนวณรายละเอียดไว้ ร้อยละ 11.75 ระบุว่า ไม่ทราบและไม่สนใจว่าต้องใช้วงเงินเท่าไหร่สำหรับแต่ละนโยบายแต่ละพรรค และร้อยละ 6.72 ระบุว่า เป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคการเมืองที่จะต้องคำนวณเงินและแจ้งให้ประชาชนทราบ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อแหล่งที่มาของเงินในการจัดทำตามนโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการต่าง ๆ ของแต่ละพรรคการเมือง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 49.62 ระบุว่า จัดเก็บภาษีประชาชน/บริษัท/ห้างร้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น รองลงมา ร้อยละ 27.86 ระบุว่า ตัดทอนงบประมาณที่ไม่จำเป็นจากกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ร้อยละ 25.73 ระบุว่า กู้เงินจากต่างประเทศ ร้อยละ 21.15 ระบุว่า ใช้เงินคงคลังและเงินสำรองระหว่างประเทศของไทย ร้อยละ 18.55 ระบุว่า กวาดล้างการทุจริตเพื่อให้มีเงินเหลือเพียงพอที่จะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ร้อยละ 14.27 ระบุว่ากู้เงินจากในประเทศ และร้อยละ 3.82 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย หากการดำเนินตามนโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการต่าง ๆ ของแต่ละพรรคการเมืองก่อให้เกิดปัญหาทางการคลังและหนี้สาธารณะ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.35 ระบุว่า พรรคการเมืองที่คิดและดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้ รองลงมา ร้อยละ 41.68 ระบุว่า นักการเมืองที่คิดและดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้ ร้อยละ 39.47 ระบุว่า ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในคราวนี้ ร้อยละ 14.43 ระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่หาทางป้องกัน ร้อยละ 9.62 ระบุว่า ข้าราชการประจำที่ทำงานรับใช้พรรคการเมืองในการดำเนินนโยบายเหล่านี้ ร้อยละ 6.34 ระบุว่า นักวิชาการที่ไม่ออกมาตักเตือนให้สติสังคม ร้อยละ 6.26 ระบุว่า เชื่อว่าปัญหาทางการคลังและหนี้สาธารณะจะไม่เกิดขึ้น และร้อยละ 1.60 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 มีอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.79 มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.93 มีอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 มีอายุ 46-59 ปี
และร้อยละ 23.74 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.11 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.90 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.99 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ