กสม.แถลงข่าวหลายประเด็น ย้ำชัดการนำทหารรับใช้ในบ้านเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จี้ยกเลิกกฎเสนาบดีกระทรวงกระลาโหมปี 2455 ที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เผย รบ.ตอบรับข้อเสนอ กสม.ให้กะเหรี่ยงบางกลอยสมัครใจทำเกษตรหมุนเวียนแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 16/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. ชี้การนำพลทหารไปรับใช้นายทหารในภารกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการทางทหาร เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสนอกระทรวงกลาโหมยกเลิกระเบียบเกี่ยวกับทหารรับใช้
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีอดีตทหารหญิงซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการในคณะกรรมาธิการวุฒิสภาคณะหนึ่ง แต่กลับถูกนำตัวไปช่วยงานที่บ้านพักของเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงรายหนึ่งผู้อยู่ระหว่างช่วยราชการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า
โดยระหว่างช่วงเวลา 2 ปีที่ทหารหญิงผู้เสียหายทำหน้าที่ดูแลรับใช้ภายในบ้านเจ้าหน้าที่ตำรวจรายดังกล่าว ได้ถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บรุนแรงหลายครั้ง ขณะเดียวกัน มีผู้ร้องเรียนอีกรายระบุว่า กฎเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม พ.ศ. 2455 ข้อ 49 – 57 ได้กำหนดเกี่ยวกับทหารรับใช้ประจำตัวนายทหาร โดยให้ทหารชั้นสัญญาบัตรสามารถมีทหารรับใช้ประจำตัวและให้อำนาจลงโทษทหารรับใช้ได้ รวมทั้งยังกำหนดให้ทหารรับใช้มีหน้าที่รับใช้ภรรยาและบุตรในกิจการบ้านเรือนของทหารชั้นสัญญาบัตรดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการนำทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ไปรับใช้นายทหารยศสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกฎดังกล่าวอาจขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้ตรวจสอบกรณีอดีตทหารหญิงถูกทำร้ายร่างกายในระหว่างการทำงานอยู่ที่บ้านพักของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรีแล้ว ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดราชบุรีในความผิดฐานค้ามนุษย์ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดต่อร่างกาย ความผิดฐานบังคับใช้แรงงาน และความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายทั้งสาหัสและไม่สาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญาแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นผลให้ กสม. ต้องยุติการพิจารณาในประเด็นปัญหาเดียวกันนี้ ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล
สำหรับกรณีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า กฎเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม พ.ศ. 2455 รวมทั้งระเบียบหรือขั้นตอนปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำทหารไปรับใช้ มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ได้ให้การรับรองคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลที่จะไม่ถูกจับและควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการทรมาน ทารุณกรรม การลงโทษด้วยวิธีการโหดร้าย หรือการถูกบังคับให้ตกอยู่ในภาวะเยี่ยงทาสนั้นจะกระทำมิได้
กรณีกฎเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม พ.ศ. 2455 มีบทบัญญัติบางประการที่กำหนดให้นายทหารสัญญาบัตร สามารถมีทหารรับใช้ได้ โดยทหารรับใช้มีหน้าที่ปฏิบัตินายทหารที่ตนไปอยู่ด้วย และรับใช้บุตร ภรรยา ของนายทหารผู้นั้นในกิจการบ้านเรือนทุกประการ
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการภายใน ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 มีผลให้ไม่มีอัตรากำลังพลตำแหน่ง “ทหารรับใช้” อีกต่อไป แต่มีการจัดกำลังพลตำแหน่ง “พลทหารบริการ” ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติงานด้านธุรการ งานสุขาภิบาลและดูแลพื้นที่ในหน่วย รวมทั้งภารกิจอื่นตามแต่ต้นสังกัดอนุญาตเป็นครั้งคราว เช่น การช่วยเหลืองานนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเกษียณราชการไปแล้ว เป็นต้น โดยที่อาจนำทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นพลทหารบริการในหน่วยด้วย
แม้กระทรวงกลาโหมและแต่ละกองทัพจะไม่ได้นำบทบัญญัตินี้มาใช้บังคับในทางปฏิบัติ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า กฎเสนาบดีดังกล่าวยังเป็นกฎที่มีสภาพบังคับอยู่ โดยเคยปรากฏว่า มีการนำพลทหารบริการ และทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่พลทหารบริการไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จนเป็นเหตุให้มีการร้องเรียนขึ้นในหลายกรณี แม้ในบางกรณีจะอยู่ภายใต้ความยินยอมของพลทหารผู้นั้น และบางกรณีจะเป็นไปตามระเบียบหรือขั้นตอนให้ปฏิบัติได้ก็ตาม
จึงเห็นว่า กฎเสนาบดีดังกล่าว รวมทั้งระเบียบหรือขั้นตอนปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุญาตให้นำพลทหารบริการไปใช้ในภารกิจอื่นที่มิใช่การปฏิบัติงานด้านธุรการ งานสุขาภิบาลและดูแลสถานที่ของทางราชการ ย่อมถือเป็นช่องว่างที่ให้อำนาจแก่นายทหารระดับสูงที่จะขอตัวทหารชั้นผู้น้อยไปดูแลรับใช้ และสุ่มเสี่ยงที่ผู้มีอำนาจเหนือจะกระทำการที่เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทหารชั้นผู้น้อย อันขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และไม่สอดคล้องกับกติกา ICCPR จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 จึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมต่อกระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สรุปได้ดังนี้
(1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงกลาโหมยกเลิกกฎเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม พ.ศ. 2455 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทหารรับใช้ และยกเลิกระเบียบหรือขั้นตอนปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุญาตให้นายทหารระดับสูงสามารถขอทหารชั้นผู้น้อยไปรับใช้เป็นการส่วนตัว ทั้งนี้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้
(2) มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงยุติธรรมติดตามผลการพิจารณาคดีในชั้นศาลของอดีตทหารหญิงผู้เสียหายอย่างใกล้ชิด และสนับสนุน ช่วยเหลือ หรืออำนวยความสะดวก ให้แก่ผู้เสียหายหรือพยานของผู้เสียหายตามหน้าที่และอำนาจ และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งรัดดำเนินการสอบสวนทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ต้องหาให้แล้วเสร็จ และเปิดเผยให้สาธารณะทราบ
นอกจากนี้ ให้กองบัญชาการกองทัพไทย และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา พิจารณากำหนดมาตรการหรือหลักเกณฑ์การควบคุมหรือตรวจสอบการปฏิบัติงานของบุคคลที่อยู่ระหว่างการขอตัวช่วยราชการให้เป็นไปตามขอบเขตของงานหรือวัตถุประสงค์ที่ได้ร้องขอไว้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เร่งรัดสรุปรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการจริยธรรม วุฒิสภา กรณีการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ต้องหาเข้ารับราชการ และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว และเปิดเผยผลการพิจารณาให้สาธารณะทราบด้วย
2. รัฐบาลตอบรับข้อเสนอ กสม. ให้กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่สมัครใจได้กลับไปใช้ชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนในพื้นที่บางกลอยบน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ได้มีรายงานผลการตรวจสอบ เรื่อง สิทธิชุมชนกรณีขอให้ตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหากรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2565
โดยมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน มาตรฐานการครองชีพ ตลอดจนปัญหาการจับกุมชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ให้สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และหลักสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รายงานผลการตรวจสอบดังกล่าว มีข้อเสนอแนะสำคัญหนึ่งระบุให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดการสำรวจพื้นที่อยู่อาศัยและทำกิน ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และ 65 รวมทั้งสำรวจความประสงค์ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยเกี่ยวกับการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินตามวิถีชีวิตดั้งเดิม ในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพื่อเป็นการเยียวยากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่เคยถูกอพยพโยกย้ายถิ่นฐานลงมา
โดยดำเนินการผ่านกลไกคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 26/2565
ล่าสุด กสม. ได้รับทราบว่า คณะกรรมการอิสระฯ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 26/2565 ชุดดังกล่าว ซึ่งมีนายอนุชา นาคาสัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีหนังสือลงวันที่ 18 เมษายน 2566 เรียนนายกรัฐมนตรี รายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการอิสระฯ โดยได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อันเป็นผลจากการประชุมหารือและลงพื้นที่ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำรวจข้อมูลครัวเรือนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะกลับไปดำเนินชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน และได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยเป็น 2 แนวทาง สรุปได้ดังนี้
แนวทางที่หนึ่ง กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนบ้านบางกลอย หมู่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี (บริเวณพื้นที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน) จำนวนประชากร 732 คน ให้ใช้แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการส่งเสริมอาชีพ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ และให้การเยียวยากลุ่มราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายชุมชน
แนวทางที่สอง กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนในพื้นที่บางกลอยบน (พื้นที่เดิมของชุมชนก่อนถูกโยกย้าย) จำนวนประชากร 150 คน ให้ใช้แนวทางพัฒนาพื้นที่ต้นแบบส่งเสริมระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนตามหลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 70 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 โดยดำเนินการผ่านการจัดโครงการศึกษาเชิงทดลองแบบมีส่วนร่วม
คณะกรรมการอิสระฯ ยังเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย
(1) ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน
(2) กรรมการอิสระ และ
(3) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อดำเนินการสำรวจการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามเห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าวที่คณะกรรมการอิสระฯ เสนอแล้ว
“กสม. ยินดีที่คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยฯ ได้ศึกษา สำรวจ และมีข้อเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนในพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ได้กลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมตั้งแต่ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและก่อนรัฐมีคำสั่งและดำเนินการให้อพยพย้ายถิ่น ซึ่งถือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมในการกำหนดเจตจำนงของชุมชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กสม. หวังว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อาศัยที่ทำกินรวมทั้งปัญหาอื่น ๆ ที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินนโยบายของหน่วยงานภาครัฐและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายกรณี เช่น ปัญหาการจับกุมชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ กล่าว
กสม. ประสานความร่วมมือ สตช. ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในหลากหลายประเด็น
ทั้งนี้ในการแถลงข่าวมีการรายงานด้วยว่าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566 เวลา 17.00 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม. ได้หารือกับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะ ณ สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
โดยได้มีการหารือกันในหลากหลายประเด็น เช่น การติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ในเรื่องการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร และการดำเนินคดีล่าช้าอันเกี่ยวเนื่องกับการอายัดตัว การตรวจเยี่ยมตามโครงการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวเพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของนักกิจกรรมการเมือง หรือผู้ต้องหาคดีความแตกต่างทางความคิด
ทั้งนี้ได้มีการวางกลไกประสานงานระหว่างสองหน่วยงานเพื่อให้การประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนร่วมกันเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพด้วย