‘บิ๊กตู่’ นำทีมเศรษฐกิจรวมไทยสร้างชาติตั้งโต๊ะเปิดชุดนโยบายเศรษฐกิจ 6 ด้าน ‘ลงทุนเพิ่มรายได้ 4 ล้านล้าน - แก้หนี้ครัวเรือน - ช่วยผู้มีรายได้น้อย - โคเงินล้าน - แรงงาน - สาธารณสุข’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 เมษายน 2566 ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค นำทีมเศรษฐกิจของพรรค แถลงข่าวเปิดนโยบายชุดใหญ่
นายพีระพันธุ์ เริ่มต้นว่า ถือเป็นความตั้งใจของพรรคที่จะสานต่อโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งปรากฏผลชัดเจนว่า ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถช่วยให้ประชาชนคลายความเดือดร้อนในช่วงวิกฤติไปได้ และพรรคพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนอีกหลายโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ ทั้งระบบเศรษฐกิจมหภาคเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ประเทศ และเศรษฐกิจจุลภาคเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชนทุกกลุ่มทุกอาชีพและทุกช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยชรา เพราะความเดือดร้อนของประชาชนไม่สามารถรอได้
ทางพรรคจึงเสนอนโยบายที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่พร้อมนำพาประเทศไปข้างหน้า และช่วยแบ่งปัญหาและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ชีวิตให้ประชาชน เพื่อที่จะช่วยลดความเหลื่มล้ำ สร้างสังคมที่เท่าเทียมให้เกิดขึ้นในประเทศ และจะเป็นการตอบคำถามว่าประชาชนจะได้อะไรจากนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติได้ โดยนโยบายแต่ละด้านมีดังนี้
1. นโยบายหาเงินเข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาท ต่อยอดไอเดีย EEC เพิ่มระเบียงเศรษฐกิจอีก 4 ภาค นโยบายหาเงินเข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาท มาจากนโยบาย “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ”
ในส่วนของการ ‘ทำแล้ว’ คือ การลงทุนในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน 3 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีการคมนาคม ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ ที่สมบูรณ์สามารถลดค่าขนส่งสินค้าภายในประเทศ และที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ได้เป็นอย่างดีมาก ในส่วนของที่ทำแล้วยังมีเรื่องของโครงสร้างดิจิทัลที่สมบูรณ์ ที่ได้ช่วยเยียวยาประชาชนผ่านแอพเป๋าตัง และโครงการคนละครึ่ง ซึ่งไปถึงประชากรมากกว่า 45 ล้านคนที่ได้ประโยชน์
นอกจากนี้ ยังมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นดิจิทัล หรือระบบกายภาพที่สมบูรณ์ที่รัฐบาลได้ไปปักธงที่ต่างประเทศว่า ประเทศไทยจะลดคาร์บอนให้เหลือ 0% ภายในปี 2050 และไทยจะเป็นประเทศที่ไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานของอุตสาหกรรมใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด มีการปรับเลี่ยนมาใช้รถ EV ซึ่งรายได้ของประเทศไทยเรา ณ วันนี้ที่ได้จากอุตสาหกรรมรถยนต์ประมาณ 15% ก็จะรักษาไว้ได้แล้วแถมจะต่อยอดออกไปอีก
สำหรับธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นอีก 15% ของผลผลิตมวลรวมประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของไมโครชิพ เรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใหม่ที่จะหารายได้เข้าประเทศ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะมาจากเศรษฐกิจในประเทศที่เราขับเคลื่อนอยู่ ซึ่งก็คือเศรษฐกิจ BCG ( เศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) โดยจะขยายแนวคิดของ BCG ให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ
นอกจากนี้จะต่อยอดไอเดียของ EEC คือระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางประตู่สู่อาเซียนและจีนตอนใต้
ในส่วนของการท่องเที่ยว ได้ออกวีซ่าระยะยาว 10 ปี เพื่อเชื้อเชิญชาวต่างชาติที่มีศักยภาพให้มาลงทุน ให้มากินอยู่ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนไทย ส่วนนี้ก็จะเป็นเม็ดเงินใหม่ที่จะเอาเข้ามาในประเทศ ซึ่งการท่องเที่ยวระยะยาวประเทศไทยเราพร้อมมากกับการสร้างรายได้ให้ประเทศชาติเพิ่มเติม และเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ให้กับคนไทย เพิ่มโอกาสของประเทศในการค้าขาย และก็เพิ่มโอกาสของประเทศในการเข้าสู้เวทีโลกอีกด้วย
ทั้งนี้การเพิ่มรายได้ให้ประเทศปีละ 4 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจโตปีละ 5% รายได้ต่อคนเพิ่มขึ้นปีละ 20,0000 บาท สามารถสร้างงานเพิ่มได้ 6.25 แสนตำแหน่ง
2.นโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน แช่แข็งหนี้สูงสุด 3 ปี แก้กฎหมายเครดิตบูโรให้ความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ และตั้งกองทุนฉุกเฉินประชาชน 3 หมื่นล้าน
หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่สะสมมานาน นโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องหนี้ ประกอบด้วย แช่แข็งหนี้สูงสุด 3 ปีตามเงื่อนไขโครงการ แก้กฎหมายเครดิตบูโรให้ความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ แก้หนี้นอกระบบและมีที่พึ่งยามยากด้วยกองทุนฉุกเฉินประชาชน 3 หมื่นล้านเพื่อปลดพันธนาการเงินนอกระบบ สมาชิกสหกรณ์สามารถใช้หุ้นสหกรณ์ชำระหนี้สหกรณ์ได้และใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ข้ามเขตสหกรณ์ได้ แก้หนี้โควิดจบใน 12 เดือน แก้หนี้กยศ. แก้หนี้กองทุนหมู่บ้าน และหนี้ภาครัฐด้วยงาน
สำหรับในเรื่องของ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ผู้ที่เป็นหนี้และผู้ค้ำประกัน กยศ. ปัจจุบัน 6,800,000 ราย ได้รับการแก้ไขกลับสู่สภาพปกติแล้ว
ในส่วนของเรื่อง พ.ร.บ.ทวงหนี้ ปัจจุบันได้กำหนดเพดานในหลักพันบาท ไม่ว่าเรื่องสินเชื่อเช่าซื้อที่มีประชาชนเป็นลูกหนี้กว่า 20 ล้านราย จะมีธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง เป็นผู้กำกับดูแล ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ของข้าราชการครู หรือข้าราชการอื่นๆ ดอกเบี้ยจะลดลงเพื่อให้พวกเขาเหล่านี้มีเงินเหลือไม่ต่ำกว่า 30 % ส่วนหนี้สินที่เกิดจากกรณีโควิด-19 ซึ่งไม่ได้เกิดจากความผิดของประชาชน แต่เกิดจากเหตุการณ์โรคระบาดส่วนนี้จะแก้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยผู้กู้กว่า 3,000,000 รายก็จะได้รับการดูแล
นอกจากนี้ จะมีการแก้ไขกฏหมายเพื่อให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หรือ กบข. สามารถนำเงินสมทบ 30% ออกมาใช้ได้ก่อนเพื่อลดภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ และเพื่อใช้ในยามจำเป็นและฉุกเฉิน รวมถึงการรื้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิน เช่น แก้กฎหมายได้ที่ทำกินโดยไม่ถูกไล่ที่ไม่ถูกฟ้อง และ พ.ร.บ.ความสะดวกลดขั้นตอนทางกฎหมาย 1,100 ขั้นตอน
3.นโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้ทุนช่วยนักเรียนยากจนได้เรียนหนังสือจนจบมัธยม ช่วยผู้สูงอายุคนพิการมีที่อาศัย
ในส่วนนี้ ได้เน้นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องของเด็กที่มีมากถึง 50% ที่เริ่มต้นเรียน ป. 1 แต่ไม่สามารถจบการศึกษาระดับมัธยมปลายได้เพราะยากจน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ทุนตั้งแต่ปี 2563 – 2566 เป็นเงิน 28,000 ล้านบาท ทำให้เด็กที่ไม่สามารถเรียนต่อจำนวน 3,000,000 คน สามารถมีเงินไปเรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยมปลายได้
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายในการสร้างเด็กไทย ด้วยโครงการ “อยากเรียนอะไรต้องได้เรียน” และมอบทุนการศึกษาอาชีวะ 100 ทุน ต่อ 1 อำเภอ (เขต) รวมถึงโครงการ “เรียนจบมีงานทำ”
นอกจากนี้ ได้ดูแล ผู้สูงอายุ คนพิการ ที่มีที่พักอาศัยไม่เหมาะสม ก็ได้ไปซ่อมแซมให้มีความเหมาะสม 180,000 ครอบครัว และยังทำต่อเนื่องทุก ๆ ปี พร้อมยังได้หาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด กับโครงการบ้านเช่า เดือนละ 999 บาท ครอบคลุม 13,000 ครอบครัว และขณะนี้มีโครงการที่อยู่ในขั้นตอนก่อสร้างและในอนาคตจะทำให้ครบ 100,000 หลัง ในส่วนของแม่และเด็กอ่อนได้ดูแลเด็กแรกเกิดให้ได้รับการช่วยเหลือค่านมเดือนละ 600 บาท เพื่อให้เด็กอ่อนมีการพัฒนาการที่เหมาะสม
สำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย จะต่อยอดโครงการ “บ้านสุขประชา” เพื่อให้ประชาชนมีบ้านและมีงานทำ มีโครงการสินเชื่อบ้านล้านหลังสำหรับผู้มีรายได้น้อย เฟส 3 ทำโครงการบ้านมั่นคง ริมคลองเปรมประชากร และฟื้นฟูแฟลตดินแดง เฟส 2
ในส่วนของปัญหาสังคมได้จัดให้มีศูนย์ช่วยเหลือประจำตำบลและชุมชนทั่วประเทศกว่า 7,000 ศูนย์ ด้วยการบูรณการทุกกระทรวงในรูปแบบของแอปพลิเคชั่นแจ้งเหตุ เมื่อมีเหตุสามารถปักหมุดหยุดเหตุ เริ่มดำเนินการไปเมื่อ 1 เมษายน 2566 และจะขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนนี้สถานีตำรวจ 1,483 แห่ง ร่วมกับศูนย์ชุมชนอีก 7,000 แห่ง ดูแลบริหารกันเองไม่ได้ใช้งบประมาณแม่แต่บาทเดียว ศูนย์นี้เป็นศูนย์ที่ช่วยลดความรุนแรงในครอบครัว และแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยรัฐบาลได้เข้าไปช่วยสนับสนุนส่งเสริม เพื่อให้เกิดความสงบ และเกิดความเท่าเทียมกันในครอบครัว
4.นโยบาย“โคเงินล้าน-โคล้านครอบครัว” ให้กู้เงินซื้อโคมาเลี้ยงแบบปลอดดอกเบี้ยทำให้คนไทยหลุดพ้นจากความยากจนแบบไม่ขายฝัน
นโยบายโคเงินล้าน -โคล้านครอบครัว จะทำให้คนไทยหลุดพ้นจากความยากจน และสามารถเป็นคนรวยได้โดยวิธีง่าย ๆ จากการเลี้ยงโค โดยให้กู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านวงเงิน 50,000 บาท นำมาซื้อโคเพศเมีย 2 ตัวไปเลี้ยง
ทั้งนี้ ในปีแรกจะมีโค 4 ตัว ปีที่ 2 กลายเป็นโค 6 ตัว ปีที่ 3 จะกลายเป็นโค 10 ตัว นี่คือโครงการที่จะทำให้ประชาชนจับเงินแสนได้ด้วยวิธีง่าย ๆ แต่ถ้าอยากจับเงินล้าน เลี้ยงโคไปถึง 6 ปี จะมีโคทั้งสิ้น 42 ตัว จะเป็นเงิน 1,050,000 บาท นี่คือโครงการโคเงินล้านที่ทำได้จริง โครงการนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติ วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยรัฐอุดหนุนดอกเบี้ยทั้งหมด 4 ปี เป็นเงิน 600 ล้านบาทให้กองทุนหมู่บ้านนำร่องโครงการนี้ 100,000 ครอบครัว
โดยโครงการนี้ ได้ทำแล้ว ลองแล้ว และสำเร็จแล้ว โดยให้ประชาชนยืมเงินกองทุนหมู่บ้านไปซื้อโค 1,000 ครอบครัว สำเร็จทั้ง 1,000 ครอบครัว เช่นที่ตำบลสะพานหิน อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท จากตำบลที่แห้งแล้งหันมาเลี้ยงโค 70 % ของตำบลคือ 1,000 ครอบครัว นอกจากหลุดพ้นจากความยากจนแล้วยังกลายเป็นตำบลที่รวยที่สุดภายในเวลา 3 ปี พรรครวมไทยสร้างชาติจะทำต่อ จะทำให้ประชาชนพบกับความร่ำรวยและเป็นสิ่งที่ไม่ขายฝัน
นอกจากนั้นมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง โครงการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีเพื่อลดราคาน้ำมัน โครงการลดต้นทุนเกษตรกร ช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 2,000 บาทไม่เกิน 5 ไร่ โครงการปุ๋ย ไฟฟ้า น้ำมันราคาถูกสำหรับเกษตรกร แก้กฎหมายประมง ดูแลประมงพื้นบ้าน ปรับการทำงานหน่วยงานของรัฐให้เกิดความเป็นธรรม
5.นโยบายด้านแรงงาน จัดให้มีโรงพยาบาลประกันสังคม เพื่อความภาคภูมิใจของผู้ใช้แรงงาน
นโยบายด้านแรงงาน คืนเงินสะสมชราภาพผู้ประกันตน ม. 33 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่แรงงานสูงถึง 30% ช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยผู้ประกันตนสามารถนำเงินสะสมมาใช้ก่อนยามจำเป็น ซึ่งเงินในส่วนนี้ไม่ใช่งบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นเงินของกองทุนประกันสังคม พร้อมทั้งเพิ่มเงินชราภาพ อายุ 55 ปี เป็น 10,000 บาท
เพิ่มสิทธิ์ด้านเงินดูแลบุตรให้แก่ผู้ประกันตนสูงถึง 1,000 บาท ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 10 ปี ให้เงินเกษียณอายุ 55 ปี 10,000 บาท เพื่อเพิ่มความมั่นคงหลังเกษียณให้มีเงินเพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน ปีแรก 28,597 ล้านบาท ปีต่อไป เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 20%
รวมทั้งปรับเพิ่มเงินเลี้ยงดูบุตร จากเด็กแรกเกิดจนถึง 10 ขวบ จากเดิม 800 ปรับเป็น 1,000 บาท ผู้ประกันตนมีประมาณ 12 ล้านคน จะเสนอให้มีโรงพยาบาลประกันสังคม เพื่อรักษาดูแลผู้ประกันตนผู้ใช้แรงงานยามเจ็บป่วย ให้เข้าถึงการบริการที่รวดเร็ว เท่าเทียมและทั่วถึง ซึ่งจะเป็นความภาคภูมิใจของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่คิดไว้ทั้งหมดแล้วเพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป
บัตรสวัสดิการพลัสให้เงิน 1 พันบาทต่อเดือน ทำต่อโครงการคนละครึ่งภาค 2 เดินหน้าเราเที่ยวด้วยกัน
นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยมีประชาชนได้รับสิทธิถึง 14.6 ล้านคน พรรครวมไทยสร้างชาติจะนำนโยบายนี้มาทำต่อเป็นโครงการบัตรสวัสดิการพลัส โดยโครงการนี้จะจ่ายให้พี่น้องประชาชน 1,000 บาทต่อเดือน ที่สำคัญคือประชาชนสามารถใช้บัตรนี้ไปกู้เงินฉุกเฉินได้อีก 10,000 บาท ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน
ส่วนโครงการคนละครึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนคิดขึ้นมาเอง ซึ่งทั้ง 5 เฟส มีประชาชนเข้าร่วมถึง 26 ล้านคน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 4 แสนล้านบาท รัฐบาลใช้เงินไป 2 แสนล้านบาท ประชาชนออกเเงินเอง 2 แสนล้านบาท พรรคจะนำมาทำต่อโดยจะทำโครงการคนละครึ่ง ภาค 2 โดยมีแอพเป๋าตังซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวที่คิดเรื่องนี้มาก่อน ประชาชน 26 ล้านคน สามารถใช้แอพเป๋าตังได้ และมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการเกือบ 2 ล้านราย
สำหรับ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งประเทศไทยสามารถเปิดประเทศได้เร็วกว่าประเทศอื่น ในด้านการท่องเที่ยวในปี 2565 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 11,000,000 คน ในปี 2566 ตั้งเป้านักท่องเที่ยวเข้าประเทศ 27,500,000 คน จะมีเงินเข้าประเทศถึง 2.3 ล้านล้านบาท ซึ่งนี่คือการหาเงินเข้าประเทศด้วย
นอกจากนั้นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยการตั้งศูนย์บัญชาการแก้ปัญหามลภาวะเป็นพิษแบบ Single Command รวม PM 2.5 โครงการเพิ่มรถเมล์ไฟฟ้า โครการส่งเสริมรถอีวี ใช้มาตรฐานยูโร 5 กับรถใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และโครงการเพิ่มการใช้พลังสะอาด 50%
ทั้งนี้ ยังมีนโยบายสร้างโอกาสให้คนตัวเล็กด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งโครงการเน็ตประชารัฐ พร้อมเพย์ แอปเป๋าตัง แอปถุงเงิน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบคลาวด์
6.นโยบายด้านสาธารณสุข ปั้นโครงการหนึ่งเขต หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน
นโยบายด้านสาธารณสุข ในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่นจะมีการยกระดับทำโครงการ หนึ่งเขต หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยไม่สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินในการลงทุน โครงการนี้ผู้ป่วยทุกสิทธิ์ที่รักษาพยาบาลได้ประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ป่วยบัตรทองที่เป็นผู้ป่วยจำนวนมากของสังคมเข้าเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ ข้าราชการก็เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ โดยไม่เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน
สำหรับ การแก้ปัญหาด้านบริการสาธารณสุขในพื้นที่เขตชนบท โรงพยาบาลประจำอำเภอต่างๆ ในจังหวัดที่มีประชากรไม่หนาแน่น มักประสบปัญหาเรื่องขีดความสามารถทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นการใช้วิสาหกิจเพื่อสังคมไปเติมขีดความสามารถทางการแพทย์เฉพาะสาขา แต่ละโรงพยาบาลที่ขาดแคนตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง การเพิ่มขีดความสามารถจะลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยในพื้นที่ชนบทได้
ส่วนสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้น จะจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ผู้สูงอายุคนพิการและกลุ่มเปราะบางทางสังคมประจำตำบล อำเภอ จังหวัด ให้เป็นเครือข่ายเป็นระบบที่สามารถปฏิบัติได้จริง ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่พรรครวมไทยสร้างชาติจะทำ