เว็บไซต์ ‘ระบบกลางทางกฎหมาย’ เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายฯ 12 ฉบับ ที่หมดความจำเป็น-ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พบ ‘พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไรฯ-พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง’ อยู่ในข่ายถูกยกเลิกด้วย
............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ ‘ระบบกลางทางกฎหมาย’ เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. .... ครั้งที่ 1 โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้ยกเลิกกฎหมาย 12 ฉบับ ที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น ตามที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาแล้วเห็นควรให้มีการยกเลิกกฎหมาย ประกอบด้วย
1.พ.ร.บ.กำหนดหน้าที่ของคนไทยในเวลารบ พุทธศักราช 2484
โดย พ.ร.บ.นี้ตราขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อกำหนดหน้าที่ให้คนไทยต้องปฏิบัติในทุกๆ ทาง ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยและที่ขัดต่อประโยชน์ของประเทศที่ทำการรบกับประเทศไทย และกำหนดโทษอาญาร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต และถูกยึดทรัพย์สมบัติส่วนตัว
การที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดองค์ประกอบความผิดไว้อย่างกว้าง ในขณะเดียวกันก็กำหนดโทษไว้สูงมาก มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ อีกทั้งยังขัดกับหลักนิติธรรม จึงย่อมขัดกับมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างชัดแจ้ง
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 และพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548ซึ่งรัฐสามารถนำมาใช้เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการสั่งการให้ประชาชนกระทำการใดที่สมควรในระหว่างที่ประเทศไทยอยู่ในสภาวะสงครามได้อยู่แล้ว
2.พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องในการรบ พุทธศักราช 2485 และ พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องในการรบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2502
พ.ร.บ.นี้มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บเนื่องในการรบจนถึงทุพพลภาพมีสิทธิได้รับเงินเลี้ยงชีพ โดยหากผู้ได้รับบาดเจ็บต้องถึงตายเพราะเหตุนั้น ให้บุตร ภริยา บิดามารดาของผู้ตาย หรือผู้ที่อยู่ในอุปการะของผู้ตายหรือมีอุปการะแก่ผู้ตายได้รับเงินเลี้ยงชีพ
ปัจจุบัน ไม่มีการใช้บังคับ พ.ร.บ.นี้และไม่มีการจ่ายเงินเลี้ยงชีพตามกฎหมายนี้แล้ว และในอนาคตหากมีกรณีที่ต้องจ่ายเงินเลี้ยงชีพให้บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บเนื่องในการรบจนถึงทุพพลภาพ หรือให้กับบุตร ภริยา บิดามารดาของบุคคลดังกล่าวซึ่งบาดเจ็บถึงตาย ก็สามารถกระทำได้ตาม พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.2543 ได้
3.พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487
พ.ร.บ.นี้ตราขึ้นเพื่อควบคุมการเรี่ยไร มิให้มีการใช้ข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงเอาไปซึ่งทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ โดยกำหนดให้ต้องมีการมาขออนุญาตก่อนจึงจะทำการเรี่ยไรได้
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีรูปแบบ วิธีการ และช่องทางการเรี่ยไรที่เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อบุคคลในจำนวนมาก ส่งผลทำให้ไม่สามารถใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยควบคุมการเรี่ยไรได้อย่างทั่วถึง จึงทำให้กฎหมายดังกล่าวไม่มีประสิทธิผลในทางปฏิบัติ
นอกจากนั้น ยังพบว่าปัจจุบันได้มีการนำกฎหมายอื่นๆ มาใช้บังคับ เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น เช่น การเอาผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือฐานฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 343 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
และหากเป็นการเรี่ยไรผ่านช่องทางออนไลน์นั้น มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กำหนดเป็นความผิดในการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนไว้แล้ว
ดังนั้น หากยังคง พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไรฯ ไว้ ก็จะส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างเพื่อใช้อำนาจเอาผิดผู้ที่กระทำการเรี่ยไรเพียงบางราย เพียงเพราะผู้นั้นยังมิได้ขออนุญาตได้ เป็นช่องให้มีการเลือกปฏิบัติหรือใช้อำนาจกลั่นแกล้งโดยไม่สุจริต โดยที่กฎหมายดังกล่าวก็มิได้มีส่วนป้องกันมิให้เกิดการใช้ข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงเรี่ยไรเงินจากประชาชนเท่าที่ควร
4.พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493
พ.ร.บ.นี้ตราขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อป้องกันมิให้มีการโฆษณาชวนเชื่อในทางที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคง ด้วยการกำหนดห้ามมิให้ใช้เครื่องขยายเสียงจนเกินระดับเสียงที่ดังเกินควร รวมทั้งห้ามมิให้ใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อปลุกระดมหรือก่อความไม่สงบในบ้านเมือง และกำหนดให้ต้องมีการมาขออนุญาตก่อนจึงจะใช้เครื่องขยายเสียงได้
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสภาพการณ์ทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะแสดงออกในทางการเมือง
นอกจากนั้น ก็มีกฎหมายอื่นที่สามารถนำมาใช้เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมได้ เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่มีบทบัญญัติกำหนดให้ต้องมีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุมสาธารณะไว้แล้ว
ดังนั้น หากยังคง พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ไว้ ย่อมส่งผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินความจำเป็น การใช้บังคับอย่างเข้มงวดกวดขันก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนไปทุกหย่อมหญ้า เพราะปัจจุบันเครื่องขยายเสียงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของประชาชนแล้ว
5.พ.ร.บ.การเนรเทศ พ.ศ.2499 พ.ร.บ.การเนรเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.การเนรเทศ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2521
พ.ร.บ.นี้ตราขึ้นเพื่อให้รัฐมีอำนาจเนรเทศคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งก่อความไม่สงบสุขแก่สาธารณชนให้ออกไปจากประเทศไทย รวมทั้งกำหนดกลไกการจับกุมและควบคุมผู้ซึ่งถูกสั่งเนรเทศ และกำหนดให้สิทธิการอุทธรณ์ของผู้ถูกเนรเทศ
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาได้มีการตรา พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ซึ่งกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการเพิกถอนการอนุญาตให้คนต่างด้าวมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร และกลไกการส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรในกรณีที่คนต่างด้าวนั้นเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอน รวมทั้งได้กำหนดกลไกการควบคุมดูแลและการกักตัวคนต่างด้าวระหว่างรอการส่งกลับแล้ว
นอกจากนั้น ในทางปฏิบัติพบว่าไม่มีการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการเนรเทศอีก
6.พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545
พ.ร.บ.นี้ตราขึ้นเพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ด้วยการกำหนดให้รัฐมีอำนาจควบคุมการเข้าถึงและการใช้เลื่อยโซ่ยนต์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในการตัดไม้และการแปรรูปไม้ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยกำหนดให้ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนก่อน จึงจะมีกรรมสิทธิ์ในเลื่อยโซ่ยนต์ มีไว้ในครอบครอง ผลิต นำเข้า เปลี่ยนแปลงกำลังเลื่อยโซ่ยนต์ให้สูงขึ้น เปลี่ยนแปลงพื้นที่ครอบครองหรือใช้เลื่อยโซ่ยนต์ ให้ผู้อื่นนำเลื่อยโซ่ยนต์ไปใช้นอกพื้นที่เป็นการชั่วคราว หรือประกอบธุรกิจซ่อมแซมเลื่อยโซ่ยนต์ได้
การใช้กลไกควบคุมเคร่งครัดเช่นนั้น ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและเป็นภาระของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งหากเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากการป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้แล้ว เป็นการสร้างภาระเกินความจำเป็น
ประกอบกับที่ผ่านมา ภาครัฐได้นำกฎหมายอื่นๆ มาบังคับใช้เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
ดังนั้น หากยังคงกฎหมายว่าด้วยเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ ย่อมจะทำให้เกิดภาระอุปสรรคในการประกอบอาชีพโดยสุจริตเกินความจำเป็น
7.พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554
พ.ร.บ.นี้ตราขึ้นเพื่อให้คณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่ พร้อมกับกำหนดโทษอาญาในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2563 ให้การกำหนดโทษอาญาในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียก เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือในกำกับให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก มาใช้เป็นสภาพบังคับแทนการกำหนดโทษทางอาญา กฎหมายดังกล่าวจึงมีเนื้อหาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญและสมควรยกเลิก
8.พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555
ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์อุทกภัยปี 2554 มีผู้ที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้ผู้ได้รับความเสียหายที่เป็นผู้เอาประกัน ได้รับเงินประกันตามจำนวนที่ได้ทำประกันไว้ รัฐจำเป็นต้องสร้างสภาพคล่องให้ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ด้วยการออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติขึ้น
แต่ปัจจุบันกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติได้ดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือธุรกิจประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจนธุรกิจได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และคณะรัฐมนตรีได้มีมติยุบเลิกกองทุนฯ เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2558 และได้มีการชำระบัญชีกองทุนเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2560 แล้ว กฎหมายดังกล่าวจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป และสามารถยกเลิกได้
9.ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 11 ม.ค. 2502 (การให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ขจัดความไม่เรียบร้อยในสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางสัญจรสาธารณะ)
ในปี 2502 คณะปฏิวัติประสงค์ที่จะให้บ้านเมืองมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปราศจากสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางสัญจร จึงได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง อาคาร หรือสิ่งใด ๆ ในที่ดินหรือแม่น้ำลำคลองอันเป็นทางสัญจรหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนขนย้ายสิ่งที่นำมาติดตั้ง วางหรือทอดทิ้งสิ่งใด ๆ ในทางสัญจรดังกล่าวได้
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้มีการตรากฎหมายหลายฉบับ ที่ให้หน่วยงานขจัดความไม่เรียบร้อยในสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางสัญจรสาธารณะ โดยกำหนดให้ต้องดำเนินการตามหลักความได้สัดส่วน เช่น (1) พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 (2) พ.ร.บ.รักษาคลอง ร.ศ.121 (3) พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 (4) พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และ (5) พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
ดังนั้น หากยังคงประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 4 ดังกล่าวไว้ ก็จะทำให้รัฐมีอำนาจซ้ำซ้อนเกินความจำเป็น เปิดช่องให้รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับต่างๆ ได้
10.ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 50 ลงวันที่ 15 ม.ค.2502 (การควบคุมสถานบริการประชาชน)
ในปี 2502 คณะปฏิวัติประสงค์ที่จะควบคุมมิให้ประชาชนประกอบกิจการในลักษณะที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี จึงได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 50 เพื่อให้อำนาจอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ และผู้ว่าราชการจังหวัด ในการสอดส่องการกระทำผิดกฎหมายหรือพฤติการณ์ของประชาชนในสถานบริการประชาชน เช่น ในสถานบริการอาบน้ำ โรงแรม สถานเต้นรำ ฯลฯ และให้อำนาจพิจารณาสั่งปิดสถานที่นั้นโดยมีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ได้
กฎหมายดังกล่าว มีขึ้นในสมัยที่รัฐต้องการควบคุมประชากรอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งปัจจุบันการใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญบัญญัติคุ้มครองไว้
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่ให้อำนาจรัฐกำกับดูแลการประกอบกิจการสถานบริการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ อาทิ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 และ พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 กฎหมายเหล่านี้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการใช้อำนาจ เพื่อรับประกันว่ารัฐจะใช้อำนาจซึ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบกิจการเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ดังนั้น หากยังคงประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 50 ดังกล่าวไว้ ก็จะเป็นการเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางเกินสมควร และเลี่ยงที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับต่างๆ ได้
11.ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พ.ย.2515 (การผ่อนผันเวลาจำหน่ายสุรา)
คณะปฏิวัติได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 เพื่อผ่อนผันเวลาจำหน่ายสุราตาม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493ให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายสุราประเภทที่ 3 ถึง 6 ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวสามารถจำหน่ายสุรานอกเหนือเวลา 11.00 นาฬิกา ถึงเวลา 14.00 นาฬิกา และตั้งแต่เวลา 17.00 นาฬิกา ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา หรือจนถึงเวลาปิดทำการของสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการได้ และผ่อนผันให้ดื่มสุรา ณ สถานที่ขายสุราได้ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจเข้าไปในสถานที่ขายสุราเพื่อตรวจสอบการดื่มสุราของผู้บริโภคได้ ทั้งนี้ เพื่อบังคับให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ต่อมาได้มีการตรา พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 เพื่อยกเลิก พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 แล้ว และใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 3 ถึง 6 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.สุราฯ ได้สิ้นอายุไปแล้ว ทำให้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 หมดความจำเป็นไปโดยสภาพ
แต่ที่ผ่านมา พบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงอาศัยอำนาจตามประกาศดังกล่าวเข้าไปตรวจสอบการดื่มสุราของผู้บริโภค ณ สถานที่ขายสุราอยู่ แม้ว่าในปัจจุบัน ได้มีการตรากฎหมายอื่นเพื่อกำกับดูและการจำหน่ายและบริโภคสุราแล้ว เช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2550 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 ที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ
ดังนั้น หากยังคงประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 243 ดังกล่าวไว้ ก็จะทำให้รัฐมีอำนาจซ้ำซ้อนเกินความจำเป็น เปิดช่องให้รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับต่าง ๆ ได้
12.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ลงวันที่ 29 ก.ย.2549
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เพื่อกำหนดให้ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้า ตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะเก็บข้อมูลเพื่อใช้สำหรับการสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดทางอาญาต่อไป
ประกาศดังกล่าวเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมจากที่มีการบัญญัติไว้ใน มาตรา 132 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจในสภาวะไม่ปกติได้อย่างเด็ดขาด
แต่ต่อมา เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ย่อมไม่มีเหตุให้ต้องใช้อำนาจลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเด็ดขาดเช่นนั้นอีก โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2562 ใจความว่า การที่กำหนดให้ผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ มีความผิดอาญานั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ได้สัดส่วนหรือไม่มีความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนจะต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากกฎหมายนั้น รวมทั้งกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลักนิติธรรม
ดังนั้น หากยังคงประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 ดังกล่าวไว้ ก็จะเป็นการเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางเกินสมควร และเลี่ยงที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับต่างๆ ได้
ทั้งนี้ การเปิดฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะสิ่นสุดลงในวันที่ 16 พ.ค.2566
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับการยกเลิกกฎหมาย 12 ฉบับ ตามร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. .... นั้น เป็นการดำเนินตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน