วงเสวนามรรยาททนายชี้ ทนายแถลงข่าวออกสื่ออวดฝีมือ เสี่ยงผิดมรรยาท ด้านสื่อมวลชนต้องช่วยกันรับผิดชอบสังคม นำเสนอข่าวที่มีแหล่งข่าวเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางไม่ใช่ใช้ทนายทุกเรื่อง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2566 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานเสวนาวิชาการ 'สิ่งที่สื่อมวลชนควรทราบเกี่ยวกับมรรยาททนายความ'
นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า มรรยาททนายความปรากฏในพ.ร.บ.ทนายความ 2528 และมีข้อบังคับของสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ 2529 โดยสภาทนายความมีหน้าที่ในการควบคุมมรรยาทของทนายความ ประชาชนและทนายความสามารถร้องเรียนทนายความที่ไม่ปฏิบัติตามรรยาททนาย ถ้าทนายความละเมิดมรรยาททนายโทษเบาที่สุดจนไปถึงร้ายแรงสูงสุด ได้แก่ 1. ภาคทัณฑ์ 2. ห้ามเป็นทนานความไม่เกินสามปี 3. ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความเป็นเวลา 5 ปี ถ้าครบ 5 ปี สามารถมาขอรับใบอนุญาตเป็นทนายความใหม่ได้แต่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบความเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมามีทนายความที่ถูกลงโทษระดับสูงสุดทุกเดือน
นายเกษม สรศักดิ์เกษม ประธานกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดอยู่ในมรรยาททนายความข้อ 17 ประกาศโฆษณา ยินยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณา เช่น ทนายความแถลงข่าวที่นำเรื่องของคดีมาแถลงข่าว เป็นต้น การทำเช่นนี้ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์อยากมีชื่อเสียงจึงผิดมรรยาททนาย แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายไม่ได้ห้ามทนายความแถลงข่าว เนื่องจากการรับเป็นทนายความเพื่อแก้ต่างสู้คดี ไม่มีเหตุใดที่ต้องแถลงข่าวไม่ว่าลูกความจะเป็นผู้มีชื่อเสียงหรือไม่มีก็ตาม ทั้งนี้สามารถแถลงข่าวได้แต่ไม่สามารถนำเรื่องในคดีมาบอกสื่อ กรณีที่มาแถลงข่าวเพื่ออวดฝีมือ กรณีเช่นนี้มีเจตนาที่ไม่ดี เสี่ยงต่อการประพฤติผิดมรรยาท
นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ สภาทนายความ กล่าวว่า ฝากถึงสื่อมวลชนว่าต้องร่วมกันรับผิดชอบสังคม โดยนักข่าวสามารถติดต่อมาที่สภาทนายความเพื่อสัมภาษณ์และสอบถามข้อมูลด้านกฎหมายได้ ไม่จำเป็นต้องติดต่อทนายความแต่ละบุคคลโดยตรงเพราะข้อมูลที่ได้รับจากทนายคนนั้นอาจผิดพลาดได้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้สภาทนายความได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบมรรยาททนายความโดยเฉพาะ หรือเรียกว่าตำรวจของทนายความ เพื่อจับตาและตรวจสอบทนายความที่ผิดมรรยาท
รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสื่อที่เข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล ที่มีช่องโทรทัศน์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ประกอบกับระบบการเมืองของประเทศไทยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลังการรัฐประหาร 2557 ทำให้ระบบนิเวศน์ข่าวเกิดความเปลี่ยนแปลง ที่ในปัจจุบันมีข่าวอาชญากรรมสังคม แต่ในอดีตมีเพียงข่าวอาชญากรรมเท่านั้น ข่าวบันเทิงในปัจจุบันก็กลายเป็นข่าวดารา ด้านข่าวการเมืองที่ในอดีตจะมีนักข่าวประจำกระทรวงต่าง ๆ แต่หลังรัฐประหารทำให้บทบาทของนักข่าวตามกระทรวงเหล่านี้ลดลง ต่อมาทนายความก็กลายเป็นแหล่งข่าว ซึ่งต่างจากอดีตที่เวลาทำข่าวจะสัมภาษณ์นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
นายนพปฎล รัตนพันธ์ รองเลขาธิการ สภาการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำข่าวที่ผ่านมา มองว่ามีความหมิ่นเหม่จากการที่ทนายความหรือคนที่แถลงข่าวกับผู้เสียหายให้ข้อมูลที่เป็นประเด็นกับสื่อมวลชนเพื่อให้ไปนำเสนอเป็นข่าว เพราะเข้าใจความกระหายข่าวของสื่อมวลชน หลายกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมเกิดจากการที่สื่อนำเสนอข่าวขององค์กรการกุศล หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่ไปช่วยเหลือผู้เสียหายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากเรื่องเหล่านี้มีความเป็นข่าว ฉะนั้นไม่นำเสนอไม่ได้ แต่กองบรรณาธิการต้องมีวิจารณญาณในการนำเสนอเนื้อหาต่างๆ เหล่านี้ รวมถึงตัดสินใจว่าจะนำเสนอหรือไม่นำเสนอ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่ผ่านมาสื่อก็ได้รับบทเรียนและบทลงโทษจากผู้บริโภคมากพอสมควรจากการนำเสนอเนื้อหาที่ละเมิด ซึ่งสื่อมวลชนก็ทราบและมีการปรับ ควบคุม และเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทนายความต้องเรียนจบนิติศาสตร์และขึ้นทะเบียน ส่วนสื่อมวลชนไม่จำเป็นต้องเรียนจบนิเทศศาสร์ก็ยังได้ และไม่ต้องขึ้นทะเบียนใดๆ เว้นแต่สื่อสิ่งพิมพ์ที่ต้องจดแจ้งที่หอสมุดแห่งชาติ หรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่ขึ้นกับ กสทช. อยู่แล้ว ซึ่งเมื่อสื่อมวลชนกระทำความผิด หากอยู่ในสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยนั้น ก็มีการลงโทษตั้งแต่ตักเตือน จนถึงขึ้นไล่ออกจากการเป็นสมาชิกสมาคมฯ สำหรับกรณีศึกษา คือ กรณีการรับงานมูลค่า 350,000 บาทจัดงานแถลงข่าวโดยทนาย ต้องแบ่งความรับผิดชอบเป็น กรณีองค์กรสื่อ ถ้ารับส่วนแบ่งเงินแล้วขึ้นว่าเป็น Advertorial เท่ากับรับได้ในกรณีนี้ แต่ถ้าไม่แจ้งเท่ากับมีประเด็นทางจริยธรรม สำหรับกรณีนักข่าว ถ้าเกิดรับเงินมาเท่ากับขัดต่อจริยธรรมรุนแรง