รพ.เรียกเก็บเงิน 'ยานอกบัญชี' ไม่ได้! สปสช.ขอความร่วมมือสถานพยาบาลทั่วประเทศ ประสานเพื่อเบิกค่าใช้จ่าย อย่าเรียกเก็บจากผู้ป่วย ย้ำกองทุนบัตรทอง 30 บาท ให้การคุ้มครอง หากจำเป็นต้องใช้รักษา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค และ สปสช.แถลงข่าวในหัวข้อ 'สิทธิบัตรทองใช้ยานอกได้หรือไม่ รพ.สามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วยได้หรือไม่' เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับสถานพยาบาลทุกระดับ ที่ร่วมให้บริการดูแลผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท
ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การเรียกเก็บเงินเป็นปัญหาใหญ่ของระบบหลักประกันฯ จำนวนเคสที่ร้องเรียนถูกเรียกเก็บเงินตั้งแต่ปี 60 ประมาณ 127 ราย ปัจจุบันลดลงเหลือ 32 ราย หน่วยบริการก็เข้าใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ยังเกิดเรื่องแบบนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อว่ายาในบัญชียาหลักฯ มีราคาถูก เอามาใช้ในสิทธิบัตรทอง แต่ยานอกบัญชีสิทธิราชการเบิกจ่ายได้ เป็นความเชื่อไม่ถูกต้องทั้งหมด
ทั้งนี้ บัญชียาหลักฯ เป็นบัญชียาจำเป็นที่ประเทศควรมีไว้ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าให้มี เพราะหากไม่มีคนที่จะรับผลประโยชน์ขายยา คือ บริษัทยา อาจมีการส่งเสริมการขาย แพทย์รู้สึกยาดี เอามาสร้างความรู้สึกดีกับประชาชน ทั้งที่อาจไม่ได้มีความคุ้มค่าและไม่ได้ดีกว่าที่มีในยาบัญชีฯ ดังนั้น บัญชียาหลักฯ เป็นยาจำเป็นชี้แนะการใช้ยาสมเหตุสมผล ขอให้มั่นใจในยาบัญชียาหลัก เพราะกระบวนการมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 20 สาขามาร่วมกันทำพิจารณารายการยา เหมาะสมกับมาตรฐานการรักษา หากประสิทธิภาพไม่ดี แพงเกินเหตุได้ผลนิดเดียวก็ไม่เอาเข้า
"แพทย์อาจบอกยาในบัญชีไม่มี สั่งยานอกฯ ก็เป็นสิทธิของคนไข้ทุกสิทธิว่าจะไม่เสียเงิน เพราะเป็นไปตามวินิจฉัยของแพทย์ ที่อาจจำเป็นสำหรับบางกลุ่มคน ซึ่งมีบางคนร้องเรียนมีการใช้ยารักษามะเร็งที่เป็นยานอกบัญชี อยู่ระหว่างพิจารณา อย่างนี้ก็ไม่มีสิทธิไปเรียกเก็บคนไข้ หลังคณะกรรมการสอบสวนฯ ไปดู ยานี้เป็นยาที่คนไข้ไม่ได้เรียกขอ แต่แพทย์มองว่าคนไข้มีภาวะไตแบบนี้ ควรใช้ยาตัวนี้ เพราะยาในบัญชีอาจไม่เหมาะสม แบบนี้เรียกเก็บไม่ได้" ผศ.ภญ.ยุพดีกล่าว
ผศ.ภญ.ยุพดีกล่าวว่า การใช้ยานอกบัญชีฯ และถูกเรียกเก็บเงิน สปสช.ร่วม สธ.ทำมาโดยตลอด ทำความเข้าใจหน่วยบริการ ว่าไม่สามารถเรียกเก็บจากคนไข้ได้ โดยมีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจตั้งแต่ปี 2544 ว่า หากคนไข้ไม่เรียกร้อง แต่แพทย์สั่งให้เองเพราะเห็นว่าจำเป็น จะไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ยกเว้นคนไข้บอกว่าอยากได้ยานั้นยานี้เป็นภาระที่คนไข้ต้องรับเอง ถือเป็นเส้นแบ่ง ถ้าเราไม่เรียกร้องเขาไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ส่วนที่ รพ.ให้เซ็นชื่อว่ายินดีไม่ใช้สิทธิบัตรทอง
"ปัจจุบันบอกเลยว่าหนังสือที่ รพ.ออกแบบมา เขียนถ้อยความต่างๆ ให้เซ็นชื่อถือว่าโมฆะ ไม่มีสิทธิทางกฎหมาย หากคนไข้ต้องการสละสิทธิการใช้สิทธิบัตรทอง คนไข้ต้องเขียนเองทั้งฉบับ ลงลายมือไม่ประสงค์ใช้สิทธิอะไร ไม่ใช้สิทธิเรื่องยา เรื่องต่างๆ ลงลายมือชื่อตนเองถึงมีผลทางกฎหมาย เราชี้แจงหน่วยบริการทุกแห่ง แต่ประชาชนอาจไม่ทราบ หาก รพ.บอกให้เซ็นแล้วเราเซ็นไป เรื่องเข้ามาในคณะกรรมการสอบสวนก็ถือว่าโมฆะ เพราะเอกสารไม่ชอบด้วยกฎหมาย รพ.สามารถเรียกเก็บเพิ่มจากผู้ป่วยได้หรือไม่" ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว
ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวเน้นย้ำว่า สปสช.ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามแก้ไข ทั้งขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมทุกบริการที่จำเป็น รวมถึงยาต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทให้เข้าถึงบริการ ไม่มีอุปสรรคเรื่องค่าใช้จ่าย แม้ในบางกรณีเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่ผู้ที่มีรายได้น้อยก็เป็นอุปสรรคได้ พร้อมจัดทำ 'คู่มือ Extra Billing อะไรทำได้ ทำไม่ได้' เพื่อทำความเข้าใจกับสถานพยาบาลระบบบัตรทอง โดยเป็นการขับเคลื่อนภายใต้นโยบายของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบอร์ด สปสช.
อย่างไรก็ตาม ยกเว้นให้เรียกเก็บเงินได้ใน 3 กรณี คือ
-
ร่วมจ่ายค่าบริการ ณ จุดบริการในอัตรา 30 บาท
-
บริการที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น บริการเสริมความงาม บริการที่อยู่นอกเหนือความจำเป็นข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และที่อยู่ระหว่างค้นคว้าทดลอง เป็นต้น
-
การเข้ารับบริการที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำของตน โดยไม่มีการส่งต่อ หรือไม่ใช่กรณีเหตุสมควร หรืออุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน
“เจ้าหน้าที่สถานพยาบาลที่อยู่หน้างานบางครั้งอาจมีประเด็นในเรื่องการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย กรณีที่จะเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ป่วยบัตรทอง หรือไม่มั่นใจว่าจะสามารถเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. ได้หรือไม่ รวมถึงยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติหากผู้ป่วยต้องได้รับ ขอให้ประสานมาที่ สปสช. ก่อน โดยโทรมาที่ Provider Call Center สายด่วน สปสช. 1330 กด 5 ขณะที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง หากถูกเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม ก่อนชำระเงินให้โทรสอบถามที่สายด่วน สปสช. 1330 หรือ ติดต่อผ่านไลน์ออฟฟิเชียล สปสช. ไลน์ไอดี @nhso และทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ในทันที ซึ่ง สปสช. จะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป” ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว
ทางด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค และอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการมีส่วนร่วม สปสช. กล่าวว่า การถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท โดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ (Extra Billing) เป็นประเด็นที่สภาผู้บริโภค และ สปสช. ได้รับการร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าที่ผ่านมามีความพยายามเพื่อแก้ปัญหา โดยมีการชี้แจงและทำความเข้าใจแล้ว แต่สถานพยาบาลหลายแห่งยังไม่เข้าใจว่า ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้ให้คุ้มครองดูแลประชาชนผู้มีสิทธิให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุข เพื่อไม่มีปัญหาค่าใช้จ่ายที่เป็นอุปสรรค ซึ่งในทุกรายการที่ให้บริการผู้ป่วย ทางสถานพยาบาลสามารถเรียกเก็บจาก สปสช. เพื่อเบิกจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้โดยที่ไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย
กรณีของการถูกเรียกเก็บค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นหนึ่งในประเด็นของการร้องเรียนนี้ ซึ่งกรณีจ่ายยาตามรายการบัญชียาหลักแห่งชาติมีความเข้าใจตรงกันอยู่แล้วว่าให้เบิกค่ายากับ สปสช. แต่ในส่วนของยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ขอย้ำว่าหากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา สถานพยาบาลก็สามารถมาเบิกจาก สปสช. ได้เช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้สถานพยาบาลยังไม่เข้าใจ ทำให้มีผู้ป่วยถูกเรียกเก็บค่ายาดังกล่าวทั้งที่เรียกเก็บไม่ได้
จากข้อมูลสถานการณ์ในปี 2565 มีการร้องเรียนการถูกเรียกเก็บเงินจากการเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท จำนวน 577 เรื่อง เป็นเงินทั้งสิ้น 9,110,737 บาท ในจำนวนนี้กรณีเรียกเก็บค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวน 32 เรื่อง เป็นจำนวนเงิน 1,724,703 บาท
“ผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการถูกเรียกเก็บค่ายานอกบัญชีฯ เราพบว่าผู้ป่วยต้องได้รับยาโดยเป็นไปตามการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่มีรายการยาใดที่ใช้ทดแทนได้ จึงถึงเป็นความจำเป็นทางการรักษาที่ผู้ป่วยต้องได้รับ ดังนั้นโรงพยาบาลต้องเรียกเก็บจาก สปสช. ไม่ใช่เรียกเก็บจากผู้ป่วย ซึ่งในท้ายที่สุดคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขได้มีมติให้ทางโรงพยาบาลคืนเงินค่ายาให้กับผู้ป่วย” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.สารี กล่าวต่อว่า มีกรณีตัวอย่างเป็นผู้ป่วยหญิง อายุ 65 ปี มีสิทธิบัตรทองใน กทม. ที่คลินิกชุมชนอุ่น และศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่หนึ่ง วันที่ 25 สิงหาคม - 6 กันยายน 2565 เข้ารักษาที่โรงพยาบาลรัฐสังกัด กทม. ตามแพทย์นัดเพื่อผ่าตัดด้วยภาวะลำไส้อุดตัน หลังรับการรักษาโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินจำนวน 9,440 บาท โดยรับแจ้งว่าเป็นค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติและไม่สามารถเบิกจาก สปสช. ได้
และกรณีผู้ป่วยหญิง อายุ 23 ปี มีสิทธิบัตรทองที่ จ.เชียงใหม่ มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 และวันที่ 20 ธันวาคม 2565 เข้ารักษาที่โรงพยาบาลตติยภูมิใน จ.เชียงใหม่ ตามแพทย์นัด โดยมีหนังสือส่งตัวจากสถานพยาบาลประจำ ซึ่งการเข้ารักษาทั้ง 2 ครั้ง โรงพยาบาลเรียกเก็บค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมเป็นเงิน 13,795 บาท เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เบิกจาก สปสช. ไม่ได้เช่นกัน ทั้ง 2 กรณี ได้ร้องเรียนมาที่ สปสช. โดยภายหลังคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ได้พิจารณาให้คืนเงินนี้กับผู้ป่วย
น.ส.สารี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิฯ ได้มีการหารือในปัญหาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นนี้ และเห็นตรงกันว่าสถานพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยได้ ดังนั้นจึงขอใช้เวทีแถลงข่าวนี้ทำความเข้าใจกับสถานพยาบาลที่ร่วมดูแลผู้ป่วยบัตรทองทั่วประเทศ
เช่นเดียวกับ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า จากการสำรวจของสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตกในเรื่อง การใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 303 คน จาก 3 อำเภอในจังหวัดสมุทรสาคร อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปที่เคยเข้าใช้บริการในโรงพยาบาล พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 80 ทราบว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง แต่ปัญหาข้อติดขัดในการใช้สิทธิบัตรทอง อันดับ 1 คือการถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลร้อยละ 22.9 ถูกค่ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ร้อยละ 10 ปฏิเสธการรักษาพยาบาลร้อยละ 5.7 ไม่อำนายความสะดวกในการส่งต่อ ร้อยละ 4.3 และปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉิน ร้อยละ 2.9
เมื่อถามต่อไปว่าเมื่อเจอปัญหาแล้วร้องเรียนหรือไม่ และอะไรที่ทำให้ตัดสินใจไม่ร้องเรียน พบว่าผู้บริโภคกลัวว่าหากร้องเรียนไปแล้วจะส่งผลต่อคุณภาพในการรักษาพยาบาลครั้งต่อไป คิดเป็นร้อยละ 80.6 ค่าใช้จ่ายไม่มาก พอรับได้ ร้อยละ 1.6 เข้าโรงพยาบาลเอกชนสบายใจกว่า ร้อยละ 1.6 ไม่มีเวลาร้องเรียน / คิดว่าร้องเรียนแล้วเสียเวลา ร้อยละ 1.6 ไม่อยากทำลายชื่อเสียงโรงพยาบาล ร้อยละ 1.6 กลัวโดนกลั่นแกล้งร้อยละ 1.6
น.ส.บุญยืน กล่าวอีกว่า เมื่อผู้บริโภคพบปัญหาการใช้สิทธิบัตรทอง อยากให้ร้องเรียนหรือแจ้งปัญหาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ เนื่องจากการร้องเรียนจะเป็นการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ
ในเมื่อประชาชนมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ทำไมเมื่อผู้ป่วยเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลจึงไม่ได้ใช้สิทธิที่ตัวเองมี เพราะฉะนั้น ไม่ว่า สปสช. จะเพิ่มสิทธิให้ประชาชนอีกมากมายเท่าไร แต่ถ้าสิทธิเดิมที่มีอยู่เขายังใช้ไม่สะดวก ยังถูกเรียกเก็บเงิน อยากให้ สปสช. จัดการปัญหาเหล่านี้