ธปท.ต่ออายุมาตรการ ‘สินเชื่อฟื้นฟูฯ’ อีก 1 ปี เป็นสิ้นสุด 9 เม.ย.67 พร้อมโยกวงเงินโครงการ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ 2.7 หมื่นล้าน สนับสนุนมาตรการฯ
.......................................
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 และติดตามผลการดำเนินมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง
โดยความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 13 มี.ค. 2566 ธปท. ได้อนุมัติมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู (รวมสินเชื่อเพื่อการปรับตัว) ให้แก่ลูกหนี้แล้ว 61,073 ราย รวมทั้งสิ้น 222,324 ล้านบาท คิดเป็นเกือบร้อยละ 90 ของวงเงินที่ตั้งไว้ ซึ่งมีการกระจายตัวดีทั้งระดับขนาด ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค และยังมีวงเงินคงเหลือ 27,676 ล้านบาท
นอกจากนี้ ได้อนุมัติสินเชื่อโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ให้แก่ลูกหนี้ 476 ราย รวมยอดสินทรัพย์ที่ตีโอนทั้งสิ้น 72,057 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72 ของวงเงินที่ตั้งไว้ และยังมีวงเงินคงเหลือ 27,943 ล้านบาท โดยมาตรการทั้งสองจะครบกำหนด 2 ปี ในวันที่ 9 เม.ย.2566 นี้
ทั้งนี้ แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวเข้าใกล้ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 แล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในภาคบริการบางสาขาที่ยังมีกิจกรรมในระดับต่ำ ดังนั้น ธปท. ร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงเห็นควรดำเนินการ ดังนี้
1.ขยายระยะเวลามาตรการสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ต่อไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 9 เม.ย. 2567 เพื่อให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจที่ต้องการปรับตัว
2.ไม่ขยายอายุโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศแล้ว อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ยังสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินได้
3.โอนวงเงินคงเหลือของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการ มารวมไว้เป็นวงเงินภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูต่อไป ซึ่งจะทราบวงเงินคงเหลือดังกล่าวในวันที่ 9 เม.ย.2566
“ธปท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การขยายเวลาให้กับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัวในครั้งนี้ จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับสภาพคล่องและความช่วยเหลือเพิ่มเติม ตลอดจนเอื้อต่อการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้สอดรับกับ new normal ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ต่อเนื่อง” น.ส.สุวรรณี กล่าว